ตามปกติผู้พิพากษาของทุกศาล ก็เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีในพระปรมาภิไธย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ทรงใช้อำนาจตุลาการทางการศาล แต่เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จปะทับบนบัลลังก์พิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง เป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่บรรดาข้าราชการตุลาการทั้งหลาย
คดีแรกได้เสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดี ๑๒ ของศาลอาญา ในคดีที่กรมอัยการ โดย นายเล็ก จุณนานนท์ เป็นโจทก์ นายแสวง แดงคล้าย อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๘๘ ก. คลองต้นไทร กิ่งอำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี เป็นจำเลย ในข้อหาว่า เมื่อคืนวันที่ ๙ มกราคมกับวันที่ ๑๐ เดือนเดียวกัน จำเลยได้บังอาจลักโม่หินสำหรับโม่แป้งทำขนมราคา ๘๐ บาท ของนายกาญจน์ ตันวิเศษ เหตุเกิดที่ท้องที่คลองต้นไทร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในคดี ทรงหยิบสำนวนฟ้องมาทอดพระเนตร และไต่ถามอธิบดีศาลอยู่ตลอดเวลา
ศาลได้อ่านสำนวนฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยรับสารภาพตลอดข้อหาตามฟ้องของโจทก์ ไม่ขอสู้คดีต่อไป อัยการจึงแถลงถึงสาเหตุแห่งรูปคดีว่า ตำรวจสำเหร่จับจำเลยได้ขณะที่นั่งทับโม่หินอยู่ในสวน มีท่าทางส่อพิรุธ ประกอบกับการที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงส่งฟ้องศาลในข้อหาลักทรัพย์ รับของโจร ศาลโดยหลวงการุณนราธรณ์ ได้อ่านคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย ๖ เดือน รับสารภาพลดเหลือ ๓ เดือน ประกอบกับเป็นความผิดครั้งแรกไม่เคยทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงอาญาไว้มีกำหนด ๒ ปี ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่เจ้าทรัพย์และปล่อยตัวจำเลยไป
นายแสวงจำเลยดีอกดีใจเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับบนบัลลังก์พิจารณาคดีของตน ซ้ำยังได้รับพระกรุณารอการลงอาญาไว้ ถึงกับยกมือท่วมหัวสัญญาว่า ต่อไปนี้จะประพฤติตนเป็นคนดีไม่ลักขโมยของใครอีกตลอดชีวิต
เสร็จจากคดีลักโม่ของศาลอาญาแล้ว ได้เสด็จศาลแพ่ง ทรงฟังการชี้สองสถาน คดีระหว่าง น.อ.พิสิษฐ์ สุขพงษ์, น.ท. รุ่น มาศยากุล โจทก์ ม.ล.ประวาศ ชุมสาย ในฐานะบิดาและตัวแทนของนายสุวัธน์ ชุมสาย จำเลยที่ ๑ นางสุธา ชุมสาย จำเลยที่ ๒ กรณีเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๓,๕๐๐ บาท เนื่องจากฝ่ายจำเลยขับรถชนรถของโจทก์คว่ำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝ่ายจำเลยปฏิเสธว่าเป็นความผิดของฝ่ายโจทก์เอง ที่ได้คนขับหย่อนสมรรถภาพ หลังจากทั้งฝ่ายโจทก์จำเลยต่อรองในเรื่องค่าเสียหาย ซึ่งศาลเป็นผู้ไกล่เกลี่ยขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับบนบัลลังก์ พร้อมด้วยอธิบดีศาลแพ่ง หลวงจักรปราณีศรีศิลวิสุทธิ กับ หลวงพิชัยฯ ผู้พิพากษา ฝ่ายโจทก์ได้แถลงว่ามีความปีติที่ได้มีโอกาสเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนี้ ดังนั้นการตัดสินใจคดีนี้จึงขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินเฉพาะค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์คนละหนึ่งพันบาท รวมเป็นสองพันบาท โดยมอบให้แก่โรงพยาบาลทหารเรือภายในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์
อีกคดีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังการพิพากษาก็คือ คดีที่นายเฟรด วิลเลียม ปิตเต็นเยอร์ ชาวอเมริกันที่มาอยู่ในเมืองไทย ยื่นฟ้องขอหย่าภรรยา นางโดโรเลซ ซึ่งอยู่ในรัฐคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นจำเลยต่อศาลไทย กล่าวหาว่าภรรยาทอดทิ้งตน ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี ฝ่ายจำเลยได้แต่งตั้งให้นายอัลเฟรด โฟร์แมนเป็นผู้แทน ได้ยื่นแถลงว่า ถ้าโจทก์กลับไปอยู่ในอเมริกาตามเดิมก็ยินดีจะอยู่กินด้วย แต่ถ้าไม่กลับก็ยอมตกลงหย่าขาด ทั้งคู่กรณียังอ้างว่ากฎหมายอเมริกันก็บัญญัติไว้ว่าในกรณีนี้ให้หย่าขาดกันได้ ศาลแพ่งจึงพิพากษาให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายไทย
พิธีเสด็จกระทรวงยุติธรรมและศาล ได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลา ๑๒.๐๐ น เป็นประวัติศาสตร์ของวงการยุติธรรมไทยที่ได้จารึกไว้