xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนคดี “กุ๊ยมะริกัน” ครื้นเครง! ศาลตีราคาหมิ่นทูตสหรัฐ ๕๐๐ บาท!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๕๙ ปีมาแล้ว แต่ก็ยังมีคนเอามาขู่ว่า ถ้าหมิ่นประมาททูตต่างประเทศอาจจะต้องติดคุกเหมือนอย่างในคดีนี้ เผอิญเป็นคนทำข่าวในยุคนั้นและยังจำเรื่องได้ดี จึงขอนำมาเล่าอีกทีเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นเรื่องสนุกที่น่าเล่าเสียด้วยซี

ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๐๐ มีคำฮิตอยู่ ๒ คำ คือ “การเลือกตั้งที่สกปรก” กับคำว่า “อันธพาล” ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการเลือกตั้งที่สกปรกนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรณาธิการ น.ส.พ.สยามรัฐรายวัน จึงเอาคำว่าอันธพาลมาตั้งเป็นชื่อคอลัมน์ที่เขียนเอง

“คอลัมน์อันธพาล” เป็นล้อมกรอบเล็กๆ นำข่าวและข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาตบท้ายแบบหยิกแกมหยอก เพื่อให้อารมณ์ขันแก่ผู้อ่าน ตามแต่เรื่องของแต่ละวันจะพาไป

แต่แล้วคอลัมน์เล็กๆ ของสยามรัฐนี้ ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ถึงขึ้นโรงขึ้นศาล ประชาชนให้ความสนใจกันทั้งเมือง สมาคมหนังสือพิมพ์ ๒ สมาคมต้องเปิดประชุมร่วมกัน และนักหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายคน แม้บางคนจะเคยมีความคิดเห็นขัดแย้งกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มาก่อน ก็หันมาเป็นพยานให้ในศาล ผนึกกำลังต่อสู้กับอิทธิพลของนักการเมือง

คอลัมน์ที่เป็นต้นเหตุนี้อยู่ในหน้า ๒ ของสยามรัฐฉบับวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๐ โดยลอกเอาข่าวในสยามรัฐเองมาล้อว่า

คอลัมน์อันธพาล

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขออย่าให้พูดว่า “การเลือกตั้งที่สกปรก” ขอบัญญัติให้ใช้ว่า “การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย” เพราะเหตุดังกล่าวไม่ใช่มีแต่ประเทศเรา เอกอัครราชทูตบิช๊อป แห่งสหรัฐอเมริกาเอง ได้บอกให้ทราบเมื่อวานนี้ว่า การเลือกตั้งในอเมริกานั้น ที่นครชิคาโกยังมีการแย่งหีบบัตรลงคะแนน
ข่าว “สยามรัฐ”


มันช่างสั่งช่างสอนกันดีจริงวะ เพราะคบกุ๊ยมะริกันยังงี้นี่เอง ถึงได้มาเสียคน มี “ชื่อเสียงที่ไม่เรียบร้อย” เอาเมื่อตอนแก่จะเข้าโลง
“บ.ก.หน้าใหม่”


ข้อเขียนนี้เป็นที่สะใจคนอ่าน แต่คงทำให้จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี ขุ่นเคืองอยู่ไม่น้อย ฉะนั้นในวันที่ ๒ เมษายนต่อมา พ.ต.ต.สุรพงษ์ นาคะเสถียร สารวัตรใหญ่โรงพักชนะสงคราม เจ้าของท้องที่โรงพิมพ์สยามรัฐ ก็บุกมาถึงโรงพิมพ์ กางคอลัมน์อันธพาลในสยามรัฐฉบับวันที่ ๒ มีนาคมให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ดู แล้วถามว่า
พ.ต.ต.สุรพงษ์ นาคะเสถียร
“คุณชายเป็นคนเขียนใช่ไหม?”

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รับว่า “ใช่” จึงเชิญตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นก็แจ้งข้อหา “ตีพิมพ์ข้อความดูหมิ่นตัวแทนรัฐต่างประเทศ ตาม กม.อาญามาตรา ๑๓๔” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท โดยอ้างว่าสถานทูตสหรัฐได้ประท้วงมา แต่ก็ให้ประกันตัวไปในวงเงิน ๔๔,๐๐๐ บาท

การจับ บก.สยามรัฐครั้งนี้ ทำให้สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าว เรียกประชุมร่วมกันเป็นการฉุกเฉิน ปรากฏว่ามีสมาชิกไปประชุมคับคั่ง หลังจากการอภิปราย ๓ ชั่วโมง มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาล เพราะการจับกุม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นการคุกคามเสรีภาพหนังสือพิมพ์
ขบวนเชียร์ส่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปขึ้นศาล
ในวันที่ ๕ เมษายน เรื่องนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลอย่างรวดเร็ว และศาลได้สืบพยานนัดแรกในบ่ายวันนั้นทันที โดยมี พลตำรวจจัตวา ปั้น โชติพุกกณะ เป็นผู้ว่าคดีฝ่ายโจทก์ ส่วนฝ่ายจำเลย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขอว่าความให้ตัวเอง

โจทก์ได้นำ พ.ต.ต.สัมพันธ์ รัญเสวะ สารวัตรแผนกเอกสารหนังสือพิมพ์ กองกำกับการสันติบาล เป็นพยานปากแรก ซึ่งคำซักค้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เรียกเสียงเฮฮาเป็นที่สนุกสนานของผู้เข้าฟังคดี

สารวัตรแผนกเอกสารหนังสือพิมพ์ให้การว่า เป็นผู้ตรวจข่าวใน นสพ.ทุกวัน และเมื่อได้อ่านคอลัมน์อันธพาลในสยามรัฐฉบับนี้แล้ว ก็ได้บันทึกความเห็นเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาว่า ข้อความที่ นสพ.สยามรัฐลงนี้ เป็นการกล่าวหานายแม็กซ์วิลโด บิช๊อป เอกอัครราชทูตอเมริกันเป็นกุ๊ย เป็นการดูหมิ่นนายบิช๊อปซึ่งเป็นผู้แทนรัฐต่างประเทศ และมีความเห็นว่า กุ๊ย หมายถึงคนเลวทรามต่ำช้า ไม่น่าคบ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักถามว่า พยานรับราชการตำรวจมานาน เคยรู้จักอันธพาลบ้างไหม สารวัตรแผนกเอกสารหนังสือพิมพ์ตอบว่าไม่รู้จัก เห็นเขาว่าๆกัน หลังเลือกตั้งครั้งนี้หนังสือพิมพ์เอามาลงกันหนาหู

พยานให้การว่า ถ้าไม่มีนายกรัฐมนตรีหรือนายบิช๊อปเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อความที่เขียนในคอลัมน์อันธพาลก็รับกับหัวเรื่องดี พยานถือว่าบุคคลที่ถูกระบุอยู่ในคอลัมน์อันธพาลเป็นอันธพาลไปหมดด้วย คึกฤทธิ์ซักว่า ถ้าเช่นนั้นในคอลัมน์อันธพาลลงข้อความว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีบัญชาให้อันธพาลไปพบ พยานเข้าใจว่า พล.ต.อ.เผ่าเป็นอันธพาลด้วยหรือ พยานตอบว่า มันแล้วแต่เจตนา ต้องอ่านข้อความอื่นประกอบด้วย จะว่านายพลตำรวจเอกเผ่าเป็นอันธพาลไม่ได้

คึกฤทธิ์ถามว่า บุคคลที่แย่งหีบบัตรลงคะแนนในนครชิกาโก เป็นบุคคลที่ทำถูกต้องใช่ไหม พยานตอบว่าไม่ถูก ทำผิดและไม่ควรทำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักต่อไปอีกว่า ควรจะเรียกว่าเป็นคนเลวทรามได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันหรือไทย พยานตอบว่าก็ทำผิดกฎหมายละ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักว่า คนทำผิดกฎหมายนั้นจะดีหรือเลว พยานตอบว่าจะเลวเสมอไปก็ไม่ได้ พยานเห็นว่าเป็นคนฝืนกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักว่า คนที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือคนทำผิดกฎหมายไม่เรียกว่าคนเลวหรือ พยานตอบว่าคนทำผิดกฎหมายบางครั้งก็ไม่มีเจตนา จะเรียกว่าเป็นคนเลวเสมอไปไม่ได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักว่า คนที่ไปแย่งหีบบัตรเลือกตั้งนั้น พยานเห็นว่ากระทำโดยประมาทไม่เจตนาด้วยหรือเปล่า พยานไม่ตอบ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถามว่า สมมติคนอื่นไปเห็นผู้กระทำความผิด แล้วนำเรื่องมาเล่าให้คนอื่นฟัง คนที่เล่าผิดไหม พยานตอบว่าไม่ผิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักว่า ฉะนั้นที่นายบิช๊อปนำความมาบอกจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ไม่ใช่ผู้ผิดใช่ไหม พยานตอบว่าใช่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักต่อไปอีกว่า จะเรียกนายบิช๊อปตามพฤติการณ์ที่ว่านี้ เป็นคนเลวทรามได้ไหม พยานตอบว่าไม่ได้ จะเรียกว่ากุ๊ยก็ไม่ได้

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถามว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ผิดคือผู้แย่งหีบบัตรในนครชิกาโก เหตุใดพยานจึงเข้าใจว่าผู้เขียนหมายถึงนายบิช๊อป จะหมายถึงพวกทำผิดแย่งหีบบัตรเลือกตั้งได้หรือไม่ พยานตอบว่าได้ทั้งนายบิช๊อปและผู้แย่งหีบบัตร แต่เพราะข้อความนั้นกล่าวถึงนายบิช๊อปเป็นอันดับแรก พยานจึงเข้าใจว่ากุ๊ยหมายถึงนายบิช๊อป

ศาลได้นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ ๙ เมษายน ซึ่งข่าวที่แพร่ออกไปถึงความสนุกสนานจากการซักพยานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้นักศึกษาประชาชนมาฟังการพิจารณาคดีกันแน่นศาลจนล้นห้องพิจารณาคดี ในนัดนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เบิกตัวเองเป็นพยาน ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้ตลอดเวลาเช่นกัน
แฟนล้นห้องจนต้องปีนดู
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้การว่า พยานอายุ ๔๖ ปี อาชีพทำหนังสือพิมพ์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๔๔ ซอยสวนพลู เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน พยานเป็นผู้ประพันธ์บทความเรื่องคอลัมน์อันธพาลในฉบับลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ข้อความในคอลัมน์นี้ ตอนแรกเป็นการตัดข่าวที่จอมพลแปลกให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มาลง ส่วนข้อความตอนหลัง เป็นข้อความที่เขียนขึ้นด้วยสำนวนที่เจตนาจะล้อเลียน เพราะระยะนั้นปรากฏเป็นข่าวว่าจังหวัดพระนครมีอันธพาลชุกชุม และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ก็ปรากฏเป็นข่าวว่าอันธพาลเข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายมาก เกล้ากระผมจึงใช้ถ้อยคำในคอลัมน์อันธพาลนี้ให้ดูเหมือนว่าอันธพาลพูดกัน มีความหมายจะตักเตือนจอมพลแปลก พิบูลสงครามว่า อายุของตัวก็เข้าปูนชราแล้ว จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่แน่ จึงควรประพฤติตนให้ดีต่อไป ไม่ควรจะไปนำแบบอย่างที่ไม่ดีมาใช้ในการเลือกตั้ง ข้อความทั้งหมดนั้นเกล้ากระผมไม่มีเจตนาจะดูหมิ่นผู้ใดให้เห็นเป็นคนเลวต่ำช้า ที่เกล้ากระผมเขียนไปว่า เพราะคบกุ๊ยมะริกันยังงี้นี่เองนั้น เนื่องจากรัฐบาลจอมพลแปลกที่ดำเนินการเลือกตั้งในครั้งนี้ คบหาเป็นมิตรสนิทสนมกับอเมริกามากกว่าชาติอื่น และรัฐบาลก็ได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากอเมริกาเป็นอันมาก จอมพลแปลกก็ได้ไปทัศนาจรอเมริกา และเมื่อกลับมาก็อ้างว่าได้ไปศึกษาระบอบประชาธิปไตยมา เกล้ากระผมจึงเห็นว่าจอมพลแปลกอาจไปจำแบบอย่างที่ไม่ดีของอเมริกา เช่นการทุจริตเลือกตั้งมาใช้ในเมืองไทย ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์นั้นสกปรก ครั้นเมื่อคนทั่วไปทราบว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นสกปรกแล้ว จอมพลแปลกก็ขอให้เปลี่ยนให้เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย โดยอ้างการเลือกตั้งของอเมริกาเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นคำว่ากุ๊ยมะริกันในบทความ เกล้ากระผมจึงไม่ได้หมายถึงตัวนายบิช๊อป แต่หมายถึงคนแย่งหีบบัตรเลือกตั้งในอเมริกาที่นครชิกาโก อันเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี จอมพลแปลกไม่ควรนำมาอ้าง

พยานให้การต่อไปว่า ตามความเข้าใจของเกล้ากระผม จอมพลแปลกคบกุ๊ยมะริกันมาก่อนการเลือกตั้งครั้งวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งถึงได้สกปรก ไม่ใช่ว่าเพราะจอมพลแปลกคบนายบิช๊อป เพราะนายบิช๊อปเป็นทูต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และเรื่องที่นายบิช๊อปพูดกับจอมพลแปลกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็พูดเมื่อหลังการเลือกตั้งแล้ว ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของจอมพลแปลกว่า เอกอัครราชทูตอเมริกันได้มาพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ คำว่าวานนี้ก็หมายถึงหลังการเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นถ้อยคำในตอนท้ายของคอลัมน์อันธพาล เกล้ากระผมจึงไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นนายบิช๊อป ถ้าจะมีจิตใจจะดูหมิ่นผู้ใด ก็เห็นจะเป็นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม

พยานฝ่าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้น ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นบรรณาธิการอาวุโสของวงการหนังสือพิมพ์ ซึ่งแต่ละคนล้วนให้การเหน็บแนมจอมพล ป. สะใจคนฟังเข้าไปอีก อย่างนายสนิท ธนะรักษ์ บก.ประชาธิปไตย ให้การว่า ในฐานะที่ทำข่าวใกล้ชิดกับจอมพล ป.มานาน รู้ว่าที่จอมพล ป.โกรธมากสั่งให้ฟ้อง ก็เพราะไปจี้จุดอ่อนเข้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซักว่าจี้ตรงไหน นายสนิทก็บอกว่า ตรงเสียคนเอาตอนแก่จะเข้าโลง เพราะท่านไม่อยากแก่ เลยสั่งฟ้องเปะปะ

เมื่อสอบพยานทั้ง ๒ ฝ่ายจบแล้ว ศาลก็นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๐ และตัดสินให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ยกโทษจำคุก คงปรับอย่างเดียว

ในที่สุดของคดีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตกเป็นจำเลยฐานหมิ่นตัวแทนรัฐต่างประเทศว่าเป็นกุ๊ยมะริกัน ก็สรุปลงที่ถูกปรับไป ๕๐๐ บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น