รายงาน...ศูนย์ข่าวภาคใต้
จ.ชุมพร มีชายทะเลที่มีหาดทรายสวยขาวใส น้ำทะเลใสราวกระจก เป็นหนึ่งในชายหาดอ่าวไทยที่สวยที่สุด ชุมพรมีชายทะเล 200 กว่ากิโลเมตร ล้วนสวยงาม และมีคุณค่า แต่คนชุมพรจะดูแลรักษาฐานทรัพยากรที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ไว้ได้อย่างไร
วันนี้ (4 มี.ค.) มีการจัดเวทีเสาวนาเพื่อร่วมกันวิเคราะห์และทบทวนสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว และด้านการเกษตรในจังหวัดชุมพร เพื่อร่วมกันวางแผนและหาแนวทางในการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และศักยภาพของจังหวัดชุมพรในมิติของ AEC มองอีกมุมหนึ่ง จ.ชุมพร กำลังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.ปะทิว จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ อ.ละแม จะมีโรงถลุงเหล็กต้นน้ำสหวิริยา จะมีแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ที่จะมีท่าเรือน้ำลึก และจะมาพร้อมนิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ชุมพรจะเปลี่ยนเป็นเมืองอุตสาหกรรมสกปรกในอนาคตอันไม่นาน
อนาคตของคนชุมพรจะไปทางไหน และคนชุมพรจะกำหนดเองอย่างไรที่ยืนอยู่ได้อย่างมีความสุข
เวทีสัมมนาที่ธนิสา รีสอร์ท ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นเวทีการมีส่วนร่วมของคนชุมพร “มองชุมพรผ่านฐานทรัพยากรสู่ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและการเกษตรยั่งยืน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธาน และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับคนชุมพร ตัวแทน จ.กระบี่ จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช และอื่นๆ ประเด็นสำคัญในการเสวนา คือ คน จ.ชุมพร จะกำหนดอนาคตชุมพรจะไปทางไหน ไปทางการท่องเที่ยว การเกษตร การประมง การเป็นแหล่งผลิตอาหาร หรือจะเป็นอุตสาหกรรมหนัก ท่าเรือ โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายสมดี คฑาชายั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ชุมพรเป็นเมืองเกษตร ซึ่งเราควรต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ เพราะเราต้องพึ่งพาการเกษตรเพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยศักยภาพเป็นเมืองที่มีความสงบเงียบ และบริสุทธิ์ พึ่งพาธรรมชาติ มีหาดทราย ทะเล หมู่เกาะต่างๆ สภาวะอากาศ สภาวะสิ่งแวดล้อม
“สิ่งที่ราชการอยากเห็นด้านการท่องเที่ยว คือ ความสะดวก ความสะอาด ความปลอดภัย การเกษตรทำอย่างไรอย่าปลูกปาล์มทั้งปี ควรปลูกพืชอย่างอื่นด้วย พืชอาหารอินทรีย์เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ทำให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ตลอดปี มากกว่าเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น”
ชุมพร ในความใฝ่ฝันของผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ คือ ชุมพรที่เป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน และเมืองเกษตรฐานผลิตอาหาร หากคนต้องถามหาอาหารสะอาดปลอดภัย ต้องนึกถึงชุมพร จังหวัดชุมพร เกษตรกับการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน เป็นเมืองเกษตรที่อยู่ควบคู่กันกับภาคการเกษตร เป็นเมืองการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพาเกษตรอยู่
“โดยธรรมชาติเรายังต้องการความสงบเงียบอยู่ เราต้องรักษาความบริสุทธิ์เหล่านี้ไว้ สิ่งที่เราต้องจัดการ คือ ความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่มาในจังหวัดชุมพรควรได้รับในมิติที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดังนั้น เราควรนำไปเที่ยวเรื่องของชายทะเล เรื่องของการดำน้ำ ดูเรื่องของผลไม้ และผลผลิตทางการเกษตร ในการเสริมสร้างการเรียนรู้เราควรเสริมในด้านภาษาจีนให้มากขึ้น เพื่อใช้ในการสื่อสารได้ดีมากขึ้น”
แนวทางในการพัฒนาของจังหวัด เราพยายามวางแนวทางในการสร้างแหล่งรวบรวมสินค้าผลไม้ของเราเอง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรหลัก เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมันอยู่ในภาวะตกต่ำอยู่ในขณะนี้ จังหวัดเราพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด แนวทางต่อไปเราน่าจะส่งเสริมในเรื่องของเกษตรผสมผสานมากขึ้น สร้างเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น เช่น กรณีบ้านทอนอม ที่ได้รับรางวัลกินนรีจากการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแบบชุมพร ไม่ควรเป็นแบบพัทยา เนื่องจากนักท่องเที่ยวของชุมพรเป็นนักท่องเที่ยวมีอายุหน่อย จึงควรวางการท่องเที่ยวที่เหมาะสม
“ถ้าพื้นที่ไหนชาวบ้านต้องการสร้างการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นก็ควรให้การสนับสนุน แต่การสนับสนุนก็ไม่ควรเป็นการสร้างเชิงเดี่ยว แต่ควรให้เห็นมิติต่างๆ ของชุมชนด้วย เห็นประวัติศาสตร์ เห็นศิลปวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะต้องมีการรื้อฟื้น การค้นหา หรือหากจำเป็นต้องสร้างก็อาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย”
ดังนั้น โดยสรุปแนวทางการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพรควนเน้นที่การท่องเที่ยว และการเกษตรเนื่องจากเป็นศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ และสิ่งที่เป็นศักยภาพที่สุด คือ ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพร ที่มีพื้นที่ระบบนิเวศโดยรอบเป็นทะเล และหาดทรายด้วย และสิ่งที่เราต้องยอมรับคือ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดจะไม่ใช่นักที่ท่องเที่ยวที่จะมาโดยคาดหวังความสะดวกสบาย แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้มากกว่า
“ในตอนนี้สิ่งที่จังหวัดดำเนินการ คือ การสร้างการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัด เช่น การจัดงานเปิดโลกทะเลของจังหวัดชุมพร ในส่วนของจังหวัดหากประชาชนผู้สนใจมีข้อเสนออะไรก็สามารถเสนอไปยังจังหวัดได้”
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ชาวชุมพรโดยกำเนิด กล่าวว่า เส้นทางเศรษฐกิจ เส้นทางชีวิตจังหวัดชุมพร ภาพรวมทั้งประเทศภาคเกษตรเป็นภาคที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ทั้ง 4 ภาค เนื่องจากที่มาของเงินมากที่สุดของประเทศยังมาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมายิ่งสูงมาขึ้น จนกระทั่งราคายางตก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนในภาคเกษตร รายได้ 44 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคเกษตร เกษตรชุมพรมีรายได้สูงเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้รองจากสงขลา และกระบี่ เป็นอันดับที่ 21 ของประเทศ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เราพึ่งพารายได้จากปาล์ม 40.83 เปอร์เซ็นต์ จากยาง ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
ความต้องการใช้ยางชะลอตัวลง และความต้องการใช้รถยนต์ยังเพิ่มขึ้น ราคายางธรรมชาติไม่ได้เป็นส่วนประกอบสำคัญของส่วนเกิน แต่มีความสัมพันธ์ต่อการซื้อขายล่วงหน้า และประเทศไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปยังพื้นที่อื่นทำให้ผลผลิตของเรามีประสิทธิภาพน้อยลง รวมถึงความสามรถในการแปรรูปของประเทศไทยยังน้อย ตอนนี้เรามีความสามารถในการแปรรูปที่ระดับ 12 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมูลค่าเท่ากับยางที่ส่งโดยไม่แปรรูปซึ่งมีประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์
“เราเคยคิดว่าเมื่อปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ยางก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในความเป็นจริงการใช้ยางในยางรถยนต์จะมีสัดส่วนที่น้อยลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น โดยเฉพาะรถที่ต้องใช้ที่ความเร็วมากขึ้น จะมีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ทำให้เราเสียโอกาสในเรื่องของสินค้ายางพารามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน มีการพัฒนายางรถยนต์ที่ไม่ใช้ลมมากขึ้นในหลายบริษัท เช่น Han kook Michelin เป็นต้น ซึ่งยางเหล่านี้จะไม่ใช้ยางธรรมชาติ แต่จะใช้วัตถุดิบอย่างอื่น มีการทดสอบ และวิ่งได้ที่ความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าเมื่อสามารถพัฒนาได้สูงขึ้นก็จะนำออกมาจำหน่าย แผนการพัฒนานี้ต้องนำไปสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยที่สุด”
สำหรับในประเด็นเรื่องข้าว สถานการณ์เรื่องข้าว ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการให้คะแนนสูงสุดในการชิมแบบระบุยี่ห้อ แต่ในการชิมแบบไม่ระบุยี่ห้อ ข้าวผกามะลิ กัมพูชา ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นมีการนำข้าวจากประเทศอื่นมาปลอมปนในข้าวของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในประเทศไทย
สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับภาคใต้ คือ ความยากจนในด้านรายจ่าย ในปัจจุบันความยากจนของภาคใต้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ สำหรับจังหวัดชุมพร ก่อนราคายางตกภาระหนี้เฉลี่ยของประเทศ จังหวัดชุมพรอยู่ที่ระดับ 16 เปอร์เซ็นต์ ภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแบ่งคนชุมชนออกเป็น 5 กลุ่มที่กลุ่มรายได้ต่างๆ จะพบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้ประมาณ 13,000 บาท ซึ่งมีรายจ่ายอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท การจำแนกตามอาชีพจะพบว่า ค่าใช้หลักของชุมพรมาจากค่าอาหารเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงเราต้องซื้อกินเป็นส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารตอนนี้อยู่ที่ระดับ 35 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่สูง คือ ค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
สิ่งที่เราควรทำ คือ การผลิตอาหาร แต่การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาเราไม่ได้พัฒนาในด้านอาหารทำให้เราต้องซื้อหรือนำเข้าจากที่อื่น ราคาอาหารส่วนที่แพงเร็วที่สุด คือ ผัก และผลไม้ จากเดิมที่เคยซื้อขณะนี้เราเป็นครัวเรือนที่ผลิตอาหารได้เองที่ระดับ 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 93 เปอร์เซ็นต์ต้องหาซื้อในตลาด นอกจากนี้ ในภาคใต้ของเรามีการบริโภคผัก และผลไม้น้อยมาก
“ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจังหวัดจึงน่าจะอยู่ที่ว่าทำอย่างเราจึงจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น”
ด้าน นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวถึงประสบการณ์การจัดการท่องเที่ยวเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ด้วยศักยภาพของชุมพรเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ดังนั้น โจทย์เรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจึงเป็นคำถามที่สำคัญ ในอดีตการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ พัฒนามาหลังจังหวัดตรัง เมื่อพิจารณาบริบทของเกาะลันตา จะพบว่า มีความน่าสนใจน้อยกว่าพื้นที่อื่นมาก แต่ในปัจจุบันเรากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นหลัก
สภาพของเกาะลันตา เกาะลันตามีความยาวเกาะประมาณ 30 กิโลเมตร มีป่าชายเลน และชายหาดไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจังหวัดชุมพรที่มีความยาวของชายทะเล 200 กว่ากิโลเมตร ถือว่ามีต้นทุนทางด้านพื้นที่ซึ่งสูงมาก
เกาะลันตา เป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่วุ่นวาย หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีต้องมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ปัญหา คือ จะเกินศักยภาพในการรองรับในพื้นที่ซึ่งจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งในด้านการจัดการขยะ การจัดหาแหล่งน้ำจืด รวมถึงการบำบัดน้ำเสีย ดังนั้น สิ่งที่เกาะลันตาคิดมาตลอดคือ เราต้องการการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพไม่ใช่ต้องการปริมาณมากแต่สร้างปัญหาแบบแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า หากถามถึงชุมพร เราคิดถึงอะไร สวนนายดำ หรือไม่ก็คุณสาหร่าย การตั้งคำถามว่าชุมพรมีอะไร เหมือนกับที่เราตั้งคำถามที่กระบี่ เรายังมีอีกหลายยอย่างที่เรายังไม่เปิด เพราะหากเปิดในตอนที่เราไม่พร้อมที่สุดก็จะถูกทำลาย สิ่งที่เราวางที่กระบี่ คือ เราวางจากคำถามคือ เราเป็นใคร เรามีอะไร เหมือนกับที่ในอดีตคนที่มาเที่ยวประเทศไทย มาเที่ยวเพราะวัฒนธรรมของเรา มาเที่ยวเพราะเราเป็นสยามเมืองยิ้ม วันนี้เรายังหลังเหลือสิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่อีกหรือไม่ เมื่อเราพิจารณาภูเก็ต เราจะพบว่าเป็นเมืองที่มั่งคั่ง แต่คนไม่มีความสุข ทุนท้องถิ่นขายที่ดิน ขายธุรกิจย้ายออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก
กระบี่เองก็กำลังเดินทางไปสู่จุดเดียวกันถ้าไม่มีการตั้งคำถามต่อแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบัน กระบี่ต้องนำเข้าทุกอย่างมาจากที่อื่น การไปซื้ออาหารมาสำหรับจำหน่ายในร้านอาหารเราจะพบว่า เราไม่มีโอกาสในการเลือก เพราะคนที่มาซื้อพร้อมเราชี้มาเลยว่า เข่งนี้ฉันเอา เราขายในสิ่งที่เราไม่กิน เราขายให้คนอื่น คนกระบี่ในอดีตไม่กินอาหารแช่แข็ง ต้องกินอาหารทะเลสดๆ จากทะเลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราต้องไปซื้ออาหารแช่แข็งจากห้างขนาดใหญ่เพื่อมาขายลูกค้า นักท่องเที่ยว สิ่งที่กระบี่ทำคือ การประสานงานกับพื้นที่จังหวัดอื่น และระบุเลยว่า เราต้องการอาหารทะเลที่ไม่แช่สารเคมีได้หรือไม่ คำตอบคือ เราก็แช่มาตลอด ก็เห็นกินมาหลายปี ไม่เห็นเป็นอะไร ซึ่งเป็นความแตกต่างกันในทางวิธีคิด สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ฝั่งอันดามันไม่มีฐานการผลิตวัตถุดิบที่เพียงพอ เราต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมด สิ่งที่น่าสังเกต คือ อาหารทะเลเป็นอาหารที่สำคัญของอันดามัน และมีปริมาณการบริโภคมากแต่ชาวประมงเป็นกลุ่มคนที่จนที่สุด
“เมื่อมาพิจารณา จ.ชุมพร จะพบว่า ชุมพรเป็นประตูสู่ภาคใต้ เป็นเส้นทางผ่าน วันนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชุมพร เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวกระบี่เป็นกลุ่มคนที่มาจากสแกนดิเนเวีย และยุโรป ซึ่งมีปริมาณมากจนเกินความสามารถในการรองรับของกระบี่ นักท่องเที่ยวเหล่านี้มาครั้งละนานมาก สิ่งที่เขาต้องการ คือ sun sand sea เป็นหลัก วิถีของเค้า คือ การพักผ่อน แต่ในอันดามันมีน้อยลงทุกที การขยายตัวของนักท่องเที่ยวมีการขยายไปยังขนอมมากขึ้น สิ่งที่เขาต้องการ คือ ความสงบ และเป็นกลุ่มคนที่หนีหนาวมา และเมื่อเทียบขนอมกับชุมพร ชุมพรมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก”
สิ่งที่หนึ่งที่ควรพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวกับรายได้ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเริ่มต้นมาจากภูเก็ต ซึ่งนายทุนจีนได้เข้ามาซื้อทุกอย่าง ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านหมอนวด บทเรียนที่อยากแลกเปลี่ยน คือ กระบี่เคยมีเกาะพีพี เป็นเกาะที่สวยเป็นอันดับที่ 1 ใน 3 ของโลก อ่าวนาง เคยเป็นหาดที่สวย ปัจจุบันความสวยงามที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ ที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในจังหวัด ตั้งแต่ปี 2528-2530 มีการพูดคุยของจังหวัดกับภาคการท่องเที่ยว ปี2557 มีการลงนามปฏิญญาการท่องเที่ยว
และสามารถดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราทำในปัจจุบัน คือ การประกาศพื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นกระบี่เมืองสีเขียว การร่วมกันสร้างปฏิญญากระบี่ การวางแผนการทำงานในจังหวัดกระบี่มีการวางเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นระบบ ไม่ได้แยกการท่องเที่ยวออกจากส่วนอื่น มีการวางแผนให้อุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่ไร้ของเสีย ทุกอย่างต้องนำมาใช้ประโยชน์ และก็สามารถสร้างได้จริงในพื้นที่กระบี่ สิ่งที่เราได้เบื้องต้น คือ การศึกษาดูงานที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดได้
การสร้างให้เทศกาลต่างๆ ทำขึ้นเพื่อให้คนกระบี่ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเอง และให้การยอมรับว่าสิ่งที่เรามีในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดี ท้ายที่สุดนักท่องเที่ยวก็จะให้ความสนใจ ผลคือ ปัจจุบันหลังจากคนในกระบี่มีความเข้าใจ และให้การยอมรับ โครงการคนกระบี่เที่ยวกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ผลมาก รูปแบบที่มีการดำเนินการ คือ การจัดการท่องเที่ยวราคาพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นคนกระบี่ในช่วงเทศกาล ผลที่เกิดขึ้น คือ คนกระบี่ที่ไปเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดตนเอง และสามารถบอกต่อแนะนำไปยังคนที่จะมาเที่ยวได้ ว่า สถานที่นี้ดีอย่างไร บางที่ไม่ดีอย่างไร หรือควรไปที่ไหนในช่วงนี้ ในอดีตการท่องเที่ยวที่กระบี่ผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา แต่ในปัจจุบันผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคา สาเหตุที่มา คือการเน้นการขายโดยระบุปริมาณเป็นหลัก
ท้ายที่สุดในรูปแบบนี้เป็นการทำลายฐานทรัพยากรของเราเองอย่างเลวร้ายที่สุด สิ่งที่เราควรสร้าง คือ สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมระดับห้าดาว สี่ดาวก็ได้ แนวทางในการปรับ คือ การเน้นในเรื่องภูมิสถาปัตย์เข้าไป เพื่อลดต้นทุน ความโชคดีอย่างหนึ่งของกระบี่ คือ สถานที่ประกอบการส่วนใหญ่ของกระบี่อยู่ในมือคนกระบี่ และความโชคดีของลันตา คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมมาเที่ยวบ่อยครั้ง สิ่งที่ช่วยในการพัฒนาจังหวัดกระบี่ คือ การบอกต่อแบบปากต่อปาก และการสร้างความผูกพันระหว่างผู้ประกอบการ สถานประกอบการ กับนักท่องเที่ยว เรื่องราวแบบนี้ส่งต่อไปยังต่างประเทศ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวมาเหล่านี้ ชุมพร มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก อันดามันโชคดีที่มีเกาะแก่งมาก แต่ชุมพรมีพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพมากกว่า ข้อเสนอสำหรับการพัฒนาในจังหวัดชุมพร สิ่งที่นักท่องเที่ยวสแกนดิเนเวีย ยุโรป ชอบ คือ การเดินทางโดยรถไฟ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนา คือ การเดินทางมาชุมพรโดยรถไฟ แทนการเรียกร้องให้มีการสร้างสนามบิน แต่เราต้องประสานงานกับการรถไฟฯ ให้สามารถเดินทางมาถึงจังหวัดชุมพรในช่วงเวลาที่เหมาะสม
นักท่องเที่ยวไทยนิยมการเดินทางมากขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถยนต์ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น ในขณะที่สถานท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ เกินศักยภาพในการรองรับ และนักท่องเที่ยวเริ่มเบื่อ ดังนั้น ชุมพรเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากในการเปิดตลาดการท่องเที่ยวต่างประเทศ สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มแบกเป้เที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวในระดับห้าดาวปัจจุบัน
“เราอยากจะเป็นอะไร หรืออยากพัฒนาในทางไหน เรากำหนดของเราเอง และควรพิจารณาให้ดีเพราะไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่ความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหารจะสามารถอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้ สิ่งที่เราต้องคิด หรือเราจะมอบอนาคตแบบไหนไว้ให้ลูกหลาน เพราะสิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นไปเพื่อลูกหลานของเราเอง และเวทีแบบนี้ควรเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของภาคใต้ ภาคใต้ของเราควรเป็นไปตามวิถีของเราเอง และถึงเวลาแล้วที่เราจะกำหนดอนาคตของเราเอง”