ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายประชาชนค้าน ม.44 จากหลากหลายจังหวัดเข้าเจรจากับรัฐบาล จี้รอคำตอบกฎหมายผังเมืองจากนายกฯ 4 โมงเย็นวันนี้
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ห้องประชุมอาคาร กพร.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล มีเวทีพูดคุยถึงผลกระทบจากคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ฉบับที่ 3, 4/2559 โดยมีผู้เข้าร่วมพูดคุยเป็นตัวแทนเครือข่ายขอคืนผังเมือง และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลโดย นายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาฯ เป็นประธานในการพูดคุย ซึ่งประเด็นพูดคุยสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และองค์กรภาคประชาชนในหลายจังหวัดได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 และที่ 4/2559
โดยทางเครือข่ายฯ ให้เหตุผลที่ควรยกเลิกประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 และ 4/2559 ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า ประกาศคำสั่งฉบับนี้เป็นการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้เกิดการจัดการพื้นที่ โดยละเลยกระบวนการกลั่นกรองการพัฒนาที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อชุมชน อันเป็นการทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
ประเด็นต่อมา การพัฒนาเขตเศรษฐกิจควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงศักยภาพหรือความสามารถพิเศษของคนในพื้นที่นั้น แต่กระบวนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลนี้กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่นายทุนได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีคำสั่งพิเศษ คสช. โดยเฉพาะประกาศคำสั่งฉบับนี้ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนมีการประกอบกิจการโดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย
การดำเนินการแบบนี้จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง และประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ทางตัวแทนรัฐบาลทำหน้าที่รับฟังข้อมูลจากทางเครือข่ายเป็นหลัก โดยให้ทางเครือข่ายพูดคนละ 5 นาที หลังจากตัวแทนเครือข่ายนำเสนอข้อมูลจบ ทางตัวแทนรัฐบาลนำข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี ทางเครือข่ายรอผลการประชุมของนายกฯ หลัง 4 โมงวันนี้
นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายจากจังหวัดสตูล กล่าวว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จ.สตูล ถูกรุกจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เยอะมาก เช่น การสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ผ่านมา บ้านเมืองมีขื่อมีแปพอสมควร ประชาชนชาว จ.สตูล ต่างสื่อสารกันว่า จ.สตูล เป็นเมืองท่องเที่ยวมาตลอด เมื่อมีคำสั่ง คสช.ได้ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป และพบว่าที่บ้านห้วยน้ำดำ อ.ควนกาหลง จ.สตูล มีการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ 2 โรงในพื้นที่เดียว ซึ่งน่าจะทำไม่ได้หากมีกระบวนการผังเมือง
การพัฒนาควรต้องเคารพการทำผังเมืองจังหวัด ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นต้องใช้กระบวนการตามกฎหมายให้สอดคล้องต่อทิศทางที่ชุมชนต้องการ ใน จ.สตูล ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ภาคประชาชน ซึ่งต่างก็พูดเหมือนกันว่า สตูลต้องเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก บัดนี้คำสั่ง คสช.ที่มัดมือชกประชาชนนั้นทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย กฎหมายกลายเป็นกฎหมู่ของทุนอุตสาหกรรมสกปรกไปเสียแล้ว
ด้านนายเสณี จ่าวิสูตร ตัวแทนจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จ.พัทลุง เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ ราคาข้าวช่วงเวลานี้ตกต่ำ ยางพาราราคาก็ตกต่ำ ทำให้รายได้ของคน จ.พัทลุง หายไปกว่าครึ่ง ชาวบ้านกำลังลำบากทางราชการยังจะเอามลพิษมาให้อีก เดือนพฤศจิกายน 2558 มีการแอบสร้างเตาเผาขยะมีพิษบริเวณทะเลลำปำ เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า ลักลอบสร้างจึงฟ้องร้องไปทางจังหวัดให้มีการสอบสวน
ต่อมา อบจ.พัทลุง และบริษัทได้ลงนาม MOU จัดการขยะพัทลุง และลงพื้นที่ทำประชาคมที่ ต.พนมวังค์ แต่เกิดการคัดค้านของชุมชน ล่าสุด มีนายทหารยศพลเอก พลตรี ลงพื้นที่มาทำหน้าที่เป็นคนเปิดทาง จากนั้นผู้ประกอบการปักเสาตอม่อ และลึกลงไปกว่าเดิม ไม่แน่ใจว่ามีการตกลงอนุญาตอะไรกัน เป็นบทสะท้อนว่า ม.44 ฉบับมัดมือชกประชาชนนี้มีการปฏิบัติที่บิดเบือนไปจากหลักธรรมาภิบาล ทหารกลายเป็นนายหน้า หรือ รปภ.ของทุนอุตสาหกรรมสกปรกไปแล้ว
ด้าน น.ส.วรรณิศา จันทร์หอม จาก จ.สงขลา กล่าวว่า คนในรัฐบาล หรือข้าราชการชอบบอกว่า แม้ไม่มีกฎหมายผังเมือง ก็ยังมี EHIA อยู่ แต่ในความเป็นจริง ที่ จ.สงขลา พบว่า กระบวนการ EHIA ไม่ได้มีกระบวนการที่ชอบธรรม เพราะที่ผ่านมา มีโครงการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ กฟผ.ไม่ให้คนคัดค้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น แถมมีการแจกข้าวสาร แจกเสื้อ หรือกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา เวลานี้มีการก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 โรง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังจะสร้างโรงที่ 2 ขนาดเท่ากันห่างกันไม่ถึงกิโลเมตร การไม่มีผังเมืองทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะโรงงานพวกนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ กฎหมายยกเว้นไม่ต้องทำ EIA เมื่อเว้นกฎหมายผังเมืองก็ยิ่งเอาเปรียบชุมชน
ใน จ.สงขลา มีกลุ่มติดตามผังเมืองของจังหวัด มีการติดตาม ทำข้อมูล และรูปธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ผลิตอาหารทะเลของชุมชน เมื่อมีคำสั่ง คสช.ออกมา ทำให้ทุกสิ่งที่ชุมชนทำมาฝันสลาย มีคนกล่าวว่า ดีใจมากที่คน อ.จะนะ ลุกขึ้นมาทำผังเมือง หลายพื้นที่มีคนส่วนน้อยมาร่วมกันจัดทำผังเมือง แต่คน อ.จะนะ ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง จนมาถึงวันหนึ่งกลายเป็นรัฐบาลออกประกาศพิเศษไม่สามารถทำผังเมืองได้อีกต่อไป เราเหมือนถูกหลอก มันทำให้ชุมชนเสื่อมศรัทธาต่อ คสช. และรัฐบาล
น.ส.กรรณิการ์ แพแก้ว จาก จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวให้ข้อมูลว่า จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ บ.ท่าสะท้อน จ.สุราษฎร์ธานี ขยะที่นำมาเผาในโรงไฟฟ้านำมาจากเกาะสมุย เรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นได้ประกาศจะใช้ ม.44 ต่อนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย หากไม่สามารถกำจัดขยะเก่าได้ เพราะทำให้เสียภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว หนึ่งเดือนถัดมา มีการทำประชาคมใน หมู่ที่ 1 ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน มีคนเข้าร่วม 30 กว่าคน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง พูดถึงข้อดีของโรงไฟฟ้าขยะเท่านั้น และต่อมา มีการนำเรื่องเข้าสู่เวทีประชุมสภา อบต. 2 ครั้ง มีชาวบ้านมาคัดค้านทั้ง 2 ครั้ง จนครั้งที่ 3 อบต.หนีไปจัดประชาคมที่ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ใช้พื้นที่ 360 ไร่ เป็นที่ดินของนักการเมืองใหญ่ระดับประเทศที่เป็นคนในพื้นที่ท่าสะท้อน ขายที่ดินติดแม่น้ำท่าสะท้อนให้แก่บริษัทโรงไฟฟ้าขยะ
ส่วนในชุมชน มีแม่น้ำท่าสะท้อน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญ เพราะชุมชนใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค เลี้ยงปลาในกระชังตลอดสายน้ำ แม่น้ำท่าสะท้อน ไหลไปรวมกับจนแม่น้ำตาปี เกษตรกรใช้น้ำปลูกกล้วยหอมทองส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย มีป่าพรุกระจูด เกือบพันไร่ ในชุมชนมีงานหัตถกรรมส่งออกไปขายประเทศสวีเดน หากเกิดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าขยะจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และสุขภาพของคนท่าสะท้อน
ด้าน นายอัครเดช ฉากจินดา จาก จ.กระบี่ กล่าวว่า ผังเมืองกระบี่เป็นผังเมืองที่ดีมาก เพราะทำร่วมกันมาจากหลายภาคส่วน จ.กระบี่ มียุทธศาสตร์ที่จะรักษาธรรมชาติ ผังเมืองสีเขียวอยู่ใน 5 อำเภอ และมีแรมซาไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่เป็นแสนไร่ที่สมบูรณ์มาก ปัญหาคือ การยกเลิกคำสั่งผังเมือง โดยประกาศฉบับที่ 4/2559 จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ในพื้นที่แรมซาไซต์แสนกว่าไร่ หากปล่อยให้ จ.กระบี่ โดนทำลายจะส่งผลกระทบต่แประเทศ การท่องเที่ยวอันดามันที่หล่อเลี้ยงผู้คนอย่างยั่งยืนจะหมดไปอย่างแน่นอน