xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเอา “ไฟถ่านหิน” ไปเติมเชื้อ “ไฟใต้”! เสียงก้องจากผู้ประสานเครือข่ายคนชายแดนใต้ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ.ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานเครือข่ายชายแดนใต้
 
เป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกไปแล้วสำหรับบรรดาผู้บริหารหน่วยงานด้านพลังงานอย่าง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” โดยเฉพาะแก่นแกนที่ได้รับมอบหมายให้เดินหน้าผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สร้าง“ท่าเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลา” ซึ่งมีแผนที่จะปักหมุดไว้ที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ถึงขั้นในสื่อสังคมออนไลน์ประกาศฟ้อง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” กันกลางอากาศเลยทีเดียว ต่อกรณีกลุ่มคัดค้านส่งตัวแทนจากพื้นที่เดินสายเข้าไปทัวร์เมืองหลวง
 
โดยระหว่างวันที่ 15-19 ก.พ.นี้ “เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนที่ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ได้ส่งตัวแทนประกอบด้วย นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนเดินทางไปให้ข้อมูลต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ และมีกิจกรรมให้ชี้แจงต่อประชาชนทั้งประเทศด้วย
 
การที่ “MGR Online ภาคใต้” ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับ “อ.ดิเรก เหมนคร” ไม่ใช่เพียงในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายดังกล่าวเท่านั้น แต่ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาการเมือง การปกครอง และกฎหมายท้องถิ่น ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อีกทั้งเป็นผู้ที่มีบ้านเกิดเมืองนอน และพักอาศัยอยู่ในแหล่งที่เป็นใจกลางที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลาด้วย จึงต้องนับว่าสังคมจะได้รับข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
 
   

 
MGR Online ภาคใต้”  :  เหตุผลที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้เพราะอะไร
 
“อ.ดิเรก เหมนคร”  :  สาเหตุหลักๆ ก็คือ 1. เป็นบ้านของตัวเอง โรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ในชุมชนของตัวเอง ซึ่งผมอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร 2. จากที่เราได้ศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อก่อนก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้สนใจมาก แต่ได้ยินของพี่น้องกระบี่ พี่น้องแม่เมาะ ก็ได้ยินมาตลอด แต่ว่ามาเจอที่เทพาบ้านตัวเองก็ศึกษามากยิ่งขึ้น 
 
ลึกเข้าไปอีกสรุปจากการศึกษา จากงานวิจัยต่างๆ ได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายมากสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เราก็เลยเห็นว่ามันไม่จำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประกอบกับในประเทศไทยมีนักวิชาการ นักวิจัยได้ศึกษาวิจัยว่าไฟฟ้ามันพอเพียงแล้วไม่จำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา หรือที่กระบี่ มันมีไฟฟ้าสำรองแล้ว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมลุกออกมาสู้ หรือไม่ยอมให้มีการสร้าง
 
: รู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเมื่อไหร่ แล้วตัดสินใจอย่างไรเมื่อรู้
 
มารู้เมื่อตอนสายแล้ว รู้ตอนที่เขาจะทำ ค.1 อีกไม่กี่วัน ตอนแรกๆ ก็คือได้ยินข่าวว่า เขาเรียกแกนนำชาวบ้าน แกนนำท้องถิ่นไปประชุมกันประมาณสี่ห้าสิบคน ตั้งกรรมการกัน แล้วบังเอิญว่าน้องเป็นคนหนึ่งในวงประชุมนั้นก็กลับมาเล่าให้ฟังว่า มีการตั้งกรรมการโรงไฟฟ้าถ่านหิน พอได้ยินอย่างนั้นเราก็สงสัยทันทีว่ามันคืออะไร พอไม่กี่วันก็มีการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ ค.1 จึงได้แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือรู้ก่อนหน้าจะสร้างไม่เกิน 2-3 สัปดาห์
 
: แล้วจับพลัดจับผลูถึงมาเป็นแก่นแกนผู้ประสานงานในการคัดค้านได้อย่างไร
 
คือเนื่องจากว่ามันอยู่ในพื้นที่ตัวเอง ก็ทำให้เราอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ได้ ต้องชวนคนอื่นให้ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเมืองตัวเอง โดยที่ว่าเราอาจพยายามมาก หรือเป็นคนที่พยายาม ตอนต้นๆ เห็นถึงโทษของถ่านหินจริงๆ เราเดินสาย เดินงานมาก เลยกลายเป็นผู้ประสานงานไปโดยปริยาย
 
: ทาง กฟผ. ก็พูดมาตลอดว่า  โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องที่ดี เป็นของสะอาด
 
คือ กฟผ.แรกๆ ก็โฆษณาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมันสะอาดแล้ว ถ่านหินมันสะอาด ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้คน แต่ว่าเราก็ยังไม่เห็นหลักฐานว่าที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วมันไม่กระทบต่อผู้คน เราเห็นแต่หลักฐานที่มันเป็นโทษ ที่มันเป็นผลกระทบ อย่างเช่นที่แม่เมาะ อันนี้ชัดเจนใครๆ ก็ไม่ปฏิเสธ กฟผ.ก็ไม่ปฏิเสธ หรือที่ระยอง ผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูพื้นที่เอง เราก็ยังไม่เห็นว่ามันสะอาด เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้สะอาด เราก็คิดว่าต้องทำที่แม่เมาะ ที่ระยองให้สะอาดก่อน ถ้าที่นั่นสะอาด ทำที่นั่นดี ไม่กระทบต่อชาวบ้านแล้ว ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นได้
 
: จากความรู้เชิงประจักษ์เช่นนี้ จึงทำให้เราต้องลุกขึ้นต่อสู้ใช่ไหม
 
นับตั้งแต่ที่เราได้ยินว่ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาก่อน ค.1 3 สัปดาห์ เราศึกษามาก่อนแล้ว เราได้ยินมาก่อนแล้วเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ยินตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ได้ยินข่าวมาตลอด เพราะผมก็ทำงานอยู่กับกลุ่มอนุรักษ์ด้วยในตอนเป็นนักศึกษา ได้เห็นประสบการณ์ที่มันไม่ดี เมื่อ กฟผ.ได้มาอธิบายแบบสั้นๆ เราก็ยิ่งไม่เชื่อมั่น เราก็อยากให้เขาอธิบายแบบยาวๆ ให้มันละเอียดรอบด้าน
 
: วันนี้ กฟผ.ทำเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3 ครั้งคือ เวที ค.1 เวที ค.2 และเวที ค.3 แสดงว่าพร้อมจะสร้างแล้ว
 
ถ้าในมุมของเขาก็คือ มาทำถึงขั้นส่งรายงาน ค.1, ค.2, ค.3 ให้แก่ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เรียบร้อยแล้ว เขาก็คงพยายามจะเร่ง เพราะเขาเขียนในนั้นว่าปี 2560 เขาจะเริ่มทำโครงการแล้ว เพราะฉะนั้นเหลือแค่ 10 เดือน ม.ค.2560 ก็จะสร้างแล้ว
 
: นี่เป็นเหตุผลให้เราต้องเดินสายเข้ากรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 15-19 ก.พ.นี้ใช่ไหม
 
ใช่ครับ ด้วยเวลาที่เขาตั้งแผนไว้ ม.ค.2560 ดูถึงลักษณะการทำงานของเขาที่เร่งรีบ พยายามจะให้ทันต่อเวลานั้น หลายๆ การกระทำของคนที่จะทำโรงไฟฟ้าถ่านหินมันบ่งบอกว่า 2560 เพราะฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เรายังไม่เห็นอนาคตเลยว่าเราจะไปอยู่จุดไหน ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้น ยังไม่มีใครมาอธิบาย มาตอบ มาชี้แจงให้ความกระจ่างแก่เรา เพราะฉะนั้นเราเลยมองว่าถ้าเรายังอยู่ที่เทพา เราก็จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรเลย จำเป็นแล้ววันนี้ที่เราจะต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปเอาข้อมูลทั้งหลายทั้งหมดที่อยู่ที่กรุงเทพฯ มาให้ได้
 
: เดินทางไปกรุงเทพฯ กันอย่างไร
 
ไปครั้งนี้เราไปเป็นตัวแทนก่อน แต่ว่าไปในนามตัวแทนของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปในนามของ “เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ” ไปประมาณ 15-20 คน
 
: มีทั้งตัวแทนประชาชน นักวิชาการ และนักศึกษา ทั้งจาก จ.สงขลา และ จ.ปัตตานีด้วย
 
ครับ ผมมองว่าเครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายที่น่าสนใจ น่าศึกษา น่าติดตามมากว่าเป็นเครือข่ายที่บริสุทธิ์ใจ เป็นเครือข่ายที่รวมทั้งนักวิชาการ ทุกสาขาอาชีพ รวมพลังของคนหลายภาคส่วน ทั้งพ่อค้าธุรกิจ นักการเมือง และนักศึกษา และที่สำคัญคือ รวมคน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ด้วย ผมคิดว่าเครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายที่ชัดเจนในเรื่องที่จะแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
: คณะที่เข้ากรุงเทพฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายอย่างไร และจะไปเยี่ยมหน่วยงานไหนบ้าง
 
ประเด็นหลักในการขับเคลื่อนครั้งนี้ เรามองว่าเราก็ไม่อยากจะขึ้นกรุงเทพฯ เพราะว่ามันมีระยะทางที่ไกล มีต้นทุนที่สูงมาก แต่ด้วยความเดือดร้อน ด้วยการที่เราไม่ได้รับข้อมูล หรือไม่เห็นอนาคตของเราที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เรามองว่ายังไงเราก็ต้องลงทุนเสียเวลา เสียเงินเสียทองที่จะขึ้นกรุงเทพฯ เพราะว่าเราเคยสื่อสารทางด้านจดหมายกันไปแล้ว แต่เราไม่ได้รับข้อมูล ไม่ได้รับความกระจ่าง ไม่ได้รับความพอใจที่เราต้องการ
 
เพราะฉะนั้นเป้าแรกที่เราจะไปก็คือ ไปที่ สผ. เพราะว่า สผ.รับเรื่อง EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วก็พิจารณาไปแล้วด้วย 1 รอบ ซึ่งผมก็เสียใจมากต่อ สผ. เพราะว่าเราเคยส่งหนังสือไปแล้ว บอกว่าถ้ามีการส่งรายงานช่วยแจ้งให้เครือข่ายที่เทพาทราบด้วย เพราะว่าเราอยู่ไกล จะขึ้นไปขอที่นู้นเหมือนกับพี่น้องอื่นๆ มันลำบาก หลักๆ เลยคือ ไปขอรายงาน EHIA มานั่งดูว่ารายงานนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ไหม ถูกต้องไหม ศึกษาจริงไหม และขอเข้าไปชี้แจงข้อมูลด้วย
 
อยากให้ สผ.รับฟังความเห็นของเราด้วย สำหรับข้อมูลคือ ข้อมูลของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยข้อมูลหลักๆ คือ เราจะบอกว่า EHIA ไม่มีความชอบธรรม อันนี้คือเรายืนยันมาตั้งแต่แรก และตลอดเวลาว่า EHIA ของเทพามันไม่เหมือนกับที่อื่น กระบวนการทำไม่เหมือนเลย
 
อย่างเช่น ค.1 ทำไมต้องแจกข้าวสารในเวที คนก็ไปอออยู่ที่ข้าวสาร ในห้องประชุมรับฟังความเห็นไม่มีคน ประเด็นที่สองคือ ค.2 ไม่เชิญเรา ซึ่งเป็นคนเห็นต่าง คนที่เข้าไปก็ไม่รู้ว่านี้คือการทำ ค.2 ในขณะที่กฎหมายบอกว่า การทำ ค.2 มันต้องขึ้นป้ายบอกให้เป็นทางการว่านี่คือการรับฟัง ค.2 นะ
 
ส่วน ค.3 เรายังเห็นได้เลยจากภาพข่าวว่าผู้เข้าร่วมวันนั้นขาวหมดเลย ได้กระเป๋าสีเหลืองกัน มันเป็นสิ่งที่แปลกคือ แจกก่อนจะทำ ค.3 ให้มัสยิดละ 25 ตัว ผมไม่รู้ว่าใครแจก แต่ว่าทุกคนใส่ไปในวันนั้นหมดเลย แจกเงินค่าประชุม ค่าขนคนด้วย อันนี้คือข่าวที่เป็นปกติ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำอาวุโสเขาก็คุยกันในตลาด ในบ้าน ในชุมชนเป็นเรื่องปกติว่า มีการแจก มีการให้ มีการช่วยเหลือกันแบบนี้
 
แต่ที่สำคัญของ ค.3 ก็คือ ผู้ว่าฯ (ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา) ที่เป็นประธานในพิธีออกคำสั่งห้ามคนเห็นต่างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมนุม มันไม่ใช่การรับฟังความเห็น มันไม่ชอบธรรม เราก็พยายามยืนยันต่อ สผ. เราเคยยืนยันขอยกเลิกว่า EHIA แบบนี้มันไม่ถูก มันไม่ชอบธรรม ให้ทำใหม่
 
แต่ที่สำคัญก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาติดกับ จ.ปัตตานี แต่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบคนใน จ.ปัตตานี อันนี้แหละผมว่าเป็นเหตุผลที่ สผ.น่าจะฟังถ้าเขาเห็นว่า คนปัตตานีก็เป็นคนไทย
 
: ที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลาที่ อ.เทพา ห่างจาก จ.ปัตตานีกี่กิโลเมตร
 
ในรัศมี 5 กิโลเมตร ติดชายแดนกันเลย แต่ในร่างรายงานเขียนบอกว่า จะศึกษาทางอากาศ 30x30 ตารางกิโลกเมตร แต่ในความเป็นจริงเคยศึกษาไหม เคยไปตั้งสถานีวัดไหม เคยไปทำ ค.2 กับคนปัตตานีไหม ก็ไม่มี
 
: นี่เป็นเหตุให้คนปัตตานีลุกขึ้น และเข้าร่วม  โดยเฉพาะนักศึกษา
 
สาเหตุตัวนี้เป็นสาเหตุหลักอีกตัวหนึ่งเลยที่ว่า ไม่ยอมศึกษาด้วยว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอะไร ในขณะที่คนปัตตานีเป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ เมืองปัตตานี หรือว่า ม.อ.ปัตตานี (มาหวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ใกล้โรงไฟฟ้าเทพามากประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ถึงแม้ว่าจะอยู่ จ.สงขลา แต่โรงไฟฟ้านี้ใกล้ จ.ปัตตานี ใกล้ตัวเมืองปัตตานีด้วย
 
: ที่ผ่านมาไม่ว่าจะนักศึกษา หรือประชาชนชาวปัตตานี ก็ไม่มีสิทธิได้พูดอะไรเลย
 
ไม่มีสิทธิครับ ในเวที ค.1, ค.2 และ ค.3 โดย ค.2 นี้ชัดเจนว่าไม่เคยตั้งเวทีใน อ.หนองจิก (จ.ปัตตานี) ที่ติดกับโรงไฟฟ้า คือตอนนี้ก็มีนักวิชาการกำลังวัดว่า วงกลมมันกลมจริงหรือเปล่า หรือว่ามันเอียง แต่ว่า ค.2 ไม่ได้ตั้งเวทีรับฟังความเห็นเลย
 
: เวที ค.3 ที่ผู้ว่าฯ ออกประกาศปิดกั้นฝ่ายเห็นต่าง เรามีสิทธิเข้าไปเสนออะไรได้บ้างไหม
 
ไม่มีสิทธิเลยครับ ไม่มีสิทธิเข้าไป ถ้าหากว่าเราใส่เสื้อไม่เอาถ่านหิน หรือโพกหัวไม่มีสิทธิเข้าเลย แต่ในเวทีนั้นแปลกมาก คนที่ใส่เสื้อเอาถ่านหินเข้าได้ เป็นเสื้อที่ กฟผ.แจก แต่คนที่ใส่เสื้อสีเขียว หรือโพกหัวหน่อยเข้าไม่ได้ มันจะแปลกอย่างไร เขาต้องการรับฟังความเห็นใช่ไหม บางคนพูดไม่เป็นก็ใส่เสื้อแสดงความเห็นมันก็ได้แล้ว
 
: มีหลักฐานยืนยันว่า ตอน กฟผ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น มีทั้งเฮลิคอปเตอร์ อาวุธยุทโธปกรณ์ และกองกำลังติดอาวุธเต็มไปหมด
 
นี้แหละที่ว่าการทำ EHIA ที่เทพามันไม่เหมือนกับที่อื่น มาตรฐานมันคนละแบบกันเลย โดยเฉพาะเรื่องการขนทหาร ตำรวจ ผมว่าเกือบหมดทั้งจังหวัด กั้นรั้วลวดหนามอย่างดี สแกนคนอย่างดี ผมว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ใช้บรรยากาศรับฟังความเห็นแล้ว คนที่ค้านพอเห็นตำรวจ ทหาร ก็วิ่งกลับบ้านหมด มันไม่น่าจะทำถึงขนาดนั้น อารมณ์มันไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็น
 
มันเป็นเรื่องของไฟใต้ ตัวคนจัดเองก็รู้ว่ามันมีปัญหาไฟใต้อยู่แล้ว ทำไมต้องเอาโรงไฟฟ้าที่มันเป็นปัญหาอยู่ มาลงในพื้นที่ที่มีปัญหาอีก วันนี้เหตุผลข้อนี้ทำให้คน 5 จังหวัดชายแดนใต้ต้องมาบอกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังทำลายกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ของเรา ซึ่ง กฟผ.ก็ยอมรับเอง
 
: แสดงว่า “ไฟฟ้าถ่านหิน” ไปช่วยเติมเชื้อ “ไฟใต้”
 
เติมเชื้อไฟใต้แล้วครับ วันนี้หมายความว่าหลังจากหลายๆ เหตุผลที่ไม่ชอบธรรม ที่ไม่ถูกกฎหมายของการทำรายงาน EHIA มันสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไม่สนใจไม่พอ ยังพยายามที่จะปิดบังข้อมูล
 
: จริงๆ แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงคือ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
 
ใช่ครับ เพราะฉะนั้นมันเป็นประเด็นที่หนีไฟใต้ไม่ได้ เพราะมันอยู่ในพื้นที่ของไฟใต้ มันก็หนีไม่ได้ที่เราจะบอกว่ามันจะเสริมไฟใต้ หรือลดไฟใต้ มันต้องพูดประเด็นนี้ มีบางหน่วยงาน มีบางท่านบอกว่าอย่าไปโยง แต่ผมว่าผมไม่ได้โยง มันเป็นอัตโนมัติของมันอยู่แล้ว เพราะมันอยู่ในพื้นที่ที่มีการก่อเหตุความไม่สงบ ฉะนั้นก็ต้องบอกได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามันจะเพิ่ม หรือจะลด มันต้องคุยกันด้วยประเด็นนี้
 
: สรุปคือ ไม่ควรจะตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ผมมองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในเมื่อหลายจังหวัด หลายส่วนของประเทศเรายังถกเถียงกันเลยว่า มันดีหรือไม่ดี ยังสรุปกันไม่ได้ ยังไม่มีใครสรุปว่ามันดีด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีข้อสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมันดี มันจะทำให้สังคมเจริญ ผมมองว่าถ้ายังไม่มีข้อสรุปนี้ อย่าไปตั้งเลยที่ที่มันมีปัญหาในกระบวนการสันติภาพ มันจะกลายเป็นโหมไฟใต้ซะเปล่าๆ 
 
: กิจกรรมในกรุงเทพฯ นอกจากไป สผ.แล้ว มีที่ไหนอีกบ้าง
 
ไปที่ทำเนียบรัฐบาล ก็คือ ประเด็นเรื่องไฟใต้ โดยเฉพาะกับเรื่องผังเมือง ที่มีการยกเลิกผังเมือง ซึ่งอันนี้เป็นหลักฐานตัวหนึ่งว่า มันมีสิ่งที่จะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมา เพราะว่าผังเมืองเทพาห้ามสร้างโรงงานขนาดใหญ่ อันนี้เป็นคำสอนของคนเทพาเลยครับ คือเขาจะสอนมาแบนี้ว่า เมืองเทพาจะไม่มีการสร้างโรงงาน เอาไว้เป็นพื้นที่สีเขียว เอาไว้เป็นที่อยู่อาศัย เอาไว้เป็นที่การศึกษา เอาไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งทำมาหากิน แหล่งอาหาร ถูกสอนมานานแล้ว ทุกนายอำเภอก็จะพูดแบบนี้ เทพาเมืองน่าอยู่ เทพาเมืองท่องเที่ยว คือจะไม่คุยเรื่องโรงงานเลย และผังเมืองเทพาก็จะล็อกแบบนี้มาตลอด
 
แต่วันนี้มีการยกเลิกผังเมือง เราก็เลยต้องไปบอกที่ทำเนียบว่า เราไม่เห็นด้วยในการยกเลิกผังเมือง มันต้องมีเหตุผลที่ดีกว่านี้ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 3 และ 4/2559 เราขอให้ท่านนายกฯ ยกเลิก (ประกาศ คศช.) ฉบับ 3 และ 4 เพราะว่ามันน่าจะมีเหตุผลที่ดีกว่านี้ในการที่จะยกเลิกผังเมือง
 
: แล้วไปเยี่ยมหน่วยงานไหนอีก หรือมีกิจกรรมอะไรเสริมด้วย
 
ที่กรรมการสิทธิฯ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เพราะว่าเป็นชุดใหม่ ชุดที่แล้วเราก็ยื่นแล้ว แต่ว่าท่านหมดวาระไปก่อน ตอนนี้เป็นชุดใหม่ เราก็จะไปยื่นใหม่ว่าให้ลงมาตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญคือ เรื่องการทำให้มันเกิดปัญหากับคนใน 3 จังหวัด เกิดปัญหากับสันติภาพ
 
ทำไมต้องเกิดปัญหากับสันติภาพ เพราะว่าเมื่อคนใน 3 จังหวัด หรือคนในพื้นที่ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น หรือว่าไม่รู้อนาคตของตัวเองจะไปอยู่ที่ไหน ผมว่าอันนี้เป็นสิทธิที่เขาจะไปเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ช่วยตรวจสอบการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
นอกจากไปยื่นหนังสือแล้ว ก็จะมีการจัดเวทีรณรงค์ให้แก่พี่น้องที่กรุงเทพฯ บอกว่าวันนี้โลกมันก็เดือดร้อนมากพอแล้ว ที่ปารีส การประชุม (ลดโลกร้อน) ที่ผ่านมานายกฯ ก็บอกแล้วว่าเราต้องการลดการใช้พลังงานถ่านหิน เพราะโลกมันกำลังจะเสียหาย กำลังจะทำให้อยู่กันไม่ได้
 
เพราะฉะนั้นเราก็บอกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็เป็นโรงไฟฟ้าหนึ่งของประเทศไทย แล้วก็มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากโลกร้อน หรือได้รับผลกระทบจากที่ว่าเราจะต้องจ่ายค่าไฟที่มันเกินความจำเป็น เพราะว่าเงินที่เราจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก็คือเงินของคนไทยทั้งประเทศ ราคาก็ประมาณเป็นแสนๆ ล้าน เพราะฉะนั้นก็อยากชวนคนไทยทุกคนมาหยุด เพื่อให้เอาเงินของพวกเราไปใช้ในที่ที่มีประโยชน์มากกว่านี้ อย่าไปใช้กับสิ่งที่โลกไม่ต้องการ หรือสิ่งที่มันจะสร้างความเสียหายให้แก่คนไทยเอง
 
โรงไฟฟ้าเทพานอกจากกระทบคนไทยแล้ว กระทบสันติภาพแล้ว มันยังกระทบเรื่องความสัมพันธ์ของประเทศด้วย เรื่องการมองของพี่น้องมุสลิมในต่างประเทศ เพราะว่าพี่น้องมุสลิมเขารู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมันเป็นสิ่งที่อันตราย เขากำลังคิดอีกแง่หนึ่ง ตอนนี้กำลังมีนัยอยู่ว่า OIC (Organization of the Islamic Conference หรือ “องค์การความร่วมมืออิสลาม” คือองค์การระหว่างประเทศของชาติมุสลิมที่มีสมาชิกราว 57 ประเทศ ประชากรรวมกว่า 1.2 พันล้านคน มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสรรพกำลังปกป้องผลประโยชน์ของชาติสมาชิก รวมถึงการพูดเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องสำคัญๆ ในเวทีสากล) ก็จะเข้ามาคุยในเรื่องนี้
 
เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินเค้ามองว่ามันเป็นหายนะ เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นพัฒนานะครับ เพราะฉะนั้น เราก็รณรงค์พี่น้องคนไทยว่า เราต้องช่วยกันรักษาประเทศไทย
 
OIC นี่คือที่ประชุมระหว่างประเทศมุสลิมของโลกอิสลาม ซึ่ง OIC ก็เป็นเจ้าภาพที่มาสนใจเรื่องปัญหาสันติภาพใน 3 จังหวัด เราก็จะไปยื่นที่สถานทูตอินโดนีเซียด้วยถ้ามีเวลา แล้วก็มาเลเซียด้วย ในฐานะที่เขาเป็นคนกลางในการพูดคุยกับกลุ่มที่มีปัญหาอยู่ต่อรัฐไทย ซึ่งเราเห็นว่าอันนี้มันจะช่วยทำให้สันติภาพมันดีขึ้น แต่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นไปมันอาจเป็นเงื่อนไขได้ เพราะว่ามันเป็นการพัฒนาที่ทุกฝ่ายไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นมันอ่อนไหวมาก ผมมองแล้ว
 
เพราะฉะนั้นผมอยากวอนคนไทยที่ขึ้นไปกรุงเทพฯ อยากวอนคนไทยว่า ช่วยหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่มันเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงด้วย
 
คือ ณ วันนี้ถ้าเราพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันยังไม่สงบนัก เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินมันกำลังจะเป็นตัวที่คน 3 จังหวัดนำมาเป็นปัจจัยหลายๆ อย่างเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่ตั้งนี้มันมีมัสยิดด้วย มันมีกุโบร์ด้วย และสิ่งเหล่านี้ไม่มีความชัดเจนในการอธิบายว่า มัสยิดกับกุโบร์พี่น้องชาวมุสลิมจะบริหารจัดการมันยังไง และจะเอาพี่น้องมุสลิมที่ได้รับผลกระทบ 2-3 ร้อยครัวเรือน จะจัดการอย่างไร
 
: ท่านนายกฯ ขอร้องว่าเวลานี้อย่าเคลื่อนไหวกัน แล้วทำไมต้องเข้าไปถึงกรุงเทพฯ
 
คือผมก็เรียนตั้งแต่ต้นว่า คือเราสื่อสารกันช่องทางปกติ หมายความว่าไปที่อำเภอ ไปที่จังหวัด แล้วก็ยื่นหนังสือไปที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ได้รับคือ 1.ข้อมูลที่ได้รับมันน้อยมากที่เราจะทราบการดำเนินโครงการ ประเด็นที่ 2 ก็คือว่ามันช้ามาก คือถ้าเราปล่อยให้ดำเนินการไปตามวิธีปกติที่เป็นไปอยู่แล้ว ผมมองว่าเราไม่มีสิทธิที่จะได้แสดงเห็น หรือไม่มีสิทธิที่จะชี้แจงเลย
 
เพราะฉะนั้นผมมองว่าการไปกรุงเทพฯ เนื่องจากว่าเราเดือดร้อนจริงๆ มากด้วย เราเดือดร้อนเกี่ยวกับอนาคตของเรา เราไม่เห็นว่าอนาคตเราจะอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเราอยากจะไปบอกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ยินสักครั้งหนึ่ง ให้มันชัดๆ ว่าท่านได้ยินสิ่งที่เราพูดแล้ว
 
: ไม่กลัวอำนาจพิเศษหรือ  ม.44 บ้างหรือ
 
ผมมองว่าคนไทยก็มีความเมตตา คือ หมายความว่าคนไทยด้วยกันก็คงไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนไทยด้วยกัน คือผมมองว่าเราเดือดร้อน เราไปหาก็เพราะว่าเราเดือดร้อน เราก็อยากจะระบายความเดือดร้อนให้ท่านฟัง แล้วก็คิดว่าในความเป็นชายชาติทหารในการรักษาแผ่นดินของท่าน มันก็เพื่อรักษาให้แก่คนไทย ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นคนไทย แล้วก็เดือดร้อนจากโครงการพัฒนาแบบนี้ แล้วมันคิดว่าโครงการพัฒนามันน่าจะแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยอีกหลายอย่าง
 
เพราะฉะนั้นเราก็เราเดือดร้อน เราก็เลยไม่รู้สึกกลัวอะไร ต่อการที่เรานอนอยู่ที่บ้านแล้ว นอนคล้ายๆ ว่าหมดอนาคต กับยอมไปลำบากแล้วมีอนาคต หรือได้พูดคุยมันก็ดีกว่า
 
: คิดว่าโรงงานไฟฟ้าถ่านหินสงขลาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้
 
ผมมองว่าเกิดไม่ได้ เพราะว่าถ้าเกิดได้ ประเทศไทยก็ลำบากมากในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้าพวกเรา คือหมายความว่าเครือข่ายนี้ได้มีโอกาสไปให้ข้อมูลต่างๆ แก่ทุกหน่วยงาน เปิดโอกาสให้เรา ต้อนรับเรา แล้วก็ให้เราชี้แจง ให้ข้อมูลที่มันเป็นข้อมูลของพื้นที่ ที่การวิจัยมันลงไปไม่ได้ใช่ไหมครับ ที่ EHIA หรือบริษัทที่ปรึกษาไปเก็บข้อมูลไม่ได้ ถ้าเปิดโอกาสให้เราเอาข้อมูลเหล่านั้นมาบอกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าเป็นคนไทยที่บริสุทธิ์ใจ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเจริญ จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา หรือว่าที่อื่นๆ
 
: ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย คิดว่าจะสู้ไปถึงจุดไหน
 
สู้ไปจนถึงจุดไหน คือเราไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา คืออันนี้ชัดเจนว่าเครือข่ายของเราได้ไปอ่านแถลงการณ์ที่หน้า (อนุสาวรีย์) ร.5 ที่ จ.ปัตตานี เราถือว่านั่นเป็นนัยสำคัญมากว่า เราอ่านแถลงการณ์ที่นั่น และก็ที่ จ.ปัตตานีด้วย ไปยื่นหนังสือที่ กอ.รมน.ด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่า เราไม่ให้สร้างจริงๆ ถ้ายังเห็นคุณค่าของความเป็นคนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมมองว่าอย่าสร้างเลย และเราก็จะปกป้องจริงๆ ด้วย เพราะว่าเราถือว่าวันนี้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีช่องทางที่จะพัฒนาอีกเยอะมาก อย่างเช่น จ.สงขลา เมืองการค้า เมืองชายแดน จ.ปัตตานี เมืองการศึกษา
 
วันนี้มหาวิทยาลัยฟาฏอนีก็จะสร้างเมืองการศึกษา ที่เรียกว่า “มะดีนะตุสสลาม” ใช้งบลงทุนเป็นพันๆ ล้าน เพื่อสร้างเมืองการศึกษา ผมถามว่าเมืองการศึกษากับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มันห่างกันแค่ 20 กิโลเมตร มันจะเกื้อหนุนกันไหม ผมว่าคนปัตตานีไม่ยอมหรอกครับ เพราะลงทุนเป็นพันๆ ล้าน
 
เพราะฉะนั้นผมมองว่า รัฐส่งเสริมด้านที่ประชาชนต้องการดีกว่า ประชาชนต้องการเมืองการศึกษา วันนี้ในปัตตานีคนจีนก็มาศึกษามาเล่าเรียน คนกัมพูชาก็มา คนอาหรับก็มา เพราะบ้านเมืองเขาวุ่นวาย เขาก็มาเรียนที่ปัตตานี ที่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนมีนักศึกษาต่างชาติเยอะมากที่ต้องการมาเรียน แต่ถ้าโรงไฟฟ้าเทพาเกิดขึ้น อากาศมันไม่ดี แล้วมันอยู่ใกล้กันมันจะเกื้อหนุนกันไหม
 
: อยากพูด อยากบอก หรืออยากฝากอะไรให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
ครับ ถ้าอยากจะฝากจริงๆ เลยก็คือว่า อยากให้ท่านพัฒนาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน แล้วก็ตามฐานทรัพยากรที่สำคัญ ก็คือว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการพัฒนาทางด้านเมืองการค้า เมืองชายแดน เมืองท่องเที่ยว เมืองการศึกษา และแหล่งผลิตอาหาร ผมว่า 5 ตัวนี้เป็นจุดเด่นที่สุดของประเทศไทยแล้ว และก็ทั่วโลกก็ยอมรับ 5 จุดนี้ว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นเมืองท่องเที่ยวนะ ถ้าพูดจริงๆ วันนี้คนอินโดนีเซีย บรูไน ต้องการมาที่หาดใหญ่ ต้องการมาเที่ยวปัตตานี ผมอยากฝากแค่นี้ อยากขอเท่านี้นะครับ


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น