xs
xsm
sm
md
lg

ชนะในแนวรบอื่น แต่แพ้ในเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” คือ “ความล้มเหลว” ในการดับไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเปรียบเป็น “ท้องทะเล” ที่เคยมีคลื่นปั่นป่วนด้วยมรสุม แต่ถึงวันนี้กำลังกลายเป็นทะเลที่คลื่นลมเริ่มสงบ ทำให้มองเห็นความสวยงามของหาดทราย สายลม และริ้วคลื่น ซึ่งสร้างความรู้สึกที่เป็น “ความสุข ให้แก่ทุกผู้คนพอสมควร
 
แต่ทะเลก็คือ “ทะเล” เพราะความสงบราบเรียบที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม เนื่องจากยังซุกซ่อนความน่ากลัวเอาไว้ตลอดเวลา เพราะเคยมีปรากฏการณ์แล้วว่า “คลื่นใหญ่” พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางความราบเรียบของผิวน้ำเสมอมา
 
ดังนั้น สถานการณ์ที่สงบลงในขณะนี้ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังเชื่อไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นนี้เสมอไป และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะนั่นเป็นความคิด และเป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว ส่วน “แกนนำ” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และ “กลุ่มสุดโต่ง” คิดและมีแผนการอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐ และคนในพื้นที่หารู้ไม่
 
เช่นเดียวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารเข้าตรวจค้น “รังโจร” และยึดได้อุปกรณ์การประกอบระเบิดแสวงเครื่อง ที่สามารถประกอบระเบิดได้ถึง 30 ลูก ณ บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั่นคือสิ่งที่บอกเหตุได้อย่างชัดเจนว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนคิดอะไร และเตรียมทำอะไร
 
แน่นนอนว่า ถ้ากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบ และเข้าตรวจค้นรังโจรดังกล่าวได้ก่อน ในอีกไม่ช้าระเบิดทั้ง 30 ลูก ที่ประกอบแล้วเสร็จก็จะกระจายไปใน “พื้นที่เป้าหมาย เพื่อก่อวินาศกรรมตามความต้องการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
และแน่นอนอีกเช่นกันว่า “รังโจร” หรือแหล่งที่ใช้สำหรับ “ซุกซ่อน อุปการณ์ที่ใช้ในการประกอบระเบิดแสวงเครื่อง รวมทั้งที่ซุกซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้มีอยู่ที่ “หนองจิก เพียงแห่งเดียว แต่หมายยังมี “กระจาย อยู่อีกมายมายในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
 
แม้แต่ “พื้นที่สีเหลืองหรือ “พื้นที่สีเขียว ซึ่งไม่ใช่พื้นที่การเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็อาจจะเป็นแหล่งในการซุกซ่อนอาวุธ และอุปกรณ์ในการใช้ก่อการร้ายได้เช่นกัน และอาจจะสะดวกกว่าด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้ให้ความสนใจ ด้วยเชื่อว่าเป็น “พื้นที่ของตน” เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่จะไม่มีการก่อเหตุร้าย
 
จึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อยุทธวิธีของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ใช้กำลังในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนในเวลาที่สถานการณ์ค่อนข้างจะสงบ การก่อเหตุร้ายลดลง ดำเนินการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายพื้นที่ต้องสงสัย บุคคลตามเป้าหมาย และบุคคลที่ต้องสงสัยในทุกพื้นที่ โดยเน้นที่ “พื้นที่สีแดง
 
เพราะถ้า “การข่าวดีหรือ “มวลชน ดี โอกาสที่จะ “หยิบอาวุธออกจากมือโจร อย่างที่ประสบความสำเร็จที่บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อาจจะเกิดขึ้นกับอีกหลายพื้นที่
 
เช่นเดียวกับการตรวจค้น “บุคคลเป้าหมาย” และ “บุคคลต้องสงสัย” เพื่อมิให้มี “ฐานที่มั่นในการก่อการร้าย หรือบีบวงล้อมให้ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ประดานั้น “ขาดเสรีภาพ” ในการเคลื่อนไหว จนต้อง  “กบดานหรือหลบออกจาก “พื้นที่สั่งการ ของตนเอง ก็จะทำให้ไม่สามารถก่อเหตุร้ายได้ หรือแม้จะ “มีกำลังคน” ให้ใช้ แต่เมื่อไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุ  การก่อเหตุก็จะยากลำบากมากขึ้น
 
ยิ่งถ้าสามารถที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าสู้กระบวนการ “นำคนกลับบ้าน ตามโครงการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็จะเหมือนกับวิธีการ “ชักฟืนออกจากเตากองไฟก็อาจจะ “มอดดับ” เร็วเข้า
 
ส่วนสิ่งที่ต้องระวัง และป้องกันหลังปฏิบัติการกดดัน ตรวจค้น ไล่ล่า และจับกุม คือ การตอบโต้ของ “แนวร่วม” ที่ยังมีกำลังกระจายในหลายพื้นที่
 
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหลังการจับกุม และยึดอุปกรณ์การทำระเบิดแสวงเครื่องที่ตันหยงเปาว์ผ่านไปเพียง 2 วัน “แนวร่วม” ใน 3 จังหวัดก็ออกมาตอบโต้ด้วยการวางระเบิดแสวงเครื่อง เผาสถานศึกษา และปฏิบัติการอื่นๆ พร้อมๆ กันทั้ง 3 จังหวัด แม้ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะไม่มาก
 
แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังสามารถเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งแม้จะเป็น “พื้นที่รอบนอก แต่ก็ยังสามารถสร้าง “ความหวาดหวั่น ต่อสังคมภายนอกที่ยังเห็นว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “พื้นที่สู้รบ ที่ไม่มีความปลอดภัย
 
และในท่ามกลางสถานการณ์พื้นผิวที่มองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นนั้น ก็มีสิ่งที่ต้องสังเกตคือ รายงานข่าวจาก “มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่าย ที่เปิดเผยถึงคำให้การของผู้ต้องหาที่ให้ปากคำว่า “ถูกซ้อมทรมาน” จำนวน 54 คน ซึ่งส่วนใหญ่ให้การว่าเกิดขึ้นที่ “ค่ายอิงคยุทธบริหาร” อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั้น
 
เรื่องที่ถูกนำมาเปิดเผยเป็นสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะของผู้ที่ “ถูกกล่าวหา” ต้องสร้างความเข้าใจต่อสังคมให้กระจ่าง ซึ่งในอดีตตั้งแต่ปี 2557 เหตุการณ์ “ซ้อมทรมาน” เหตุการณ์ “อุ้มหาย เกิดขึ้น ที่นี่อย่างไม่มีอะไรที่ต้อง “ปฏิเสธ”
 
แต่หลังจากปี 2556 เป็นต้นมา เหตุการณ์อย่างที่ “ถูกรายงาน เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะในฐานะของผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เห็นค่อนข้างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย
 
รวมทั้งระบบการสืบสวน สอบสวน ที่ใช้ในเรื่องของ “วิชาความรู้” และ “กระบวนการจิตวิทยา” แทนการใช้ “อาวุธ” และ “ กำลัง ในการ “เค้นคอ” เพื่อหาข้อเท็จจริง หรือเพื่อสร้าง “แพะให้เกิดขึ้นในสถานที่ราชการอย่างที่เคยเป็น
 
เรื่องที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายนำเสนอต่อสังคม เป็นเรื่องที่ “ละเอียดอ่อน” เพราะจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกต่อสังคมเพียงว่า “ไม่จริงหรือเป็นเพียง “ความรู้สึก ของผู้ที่ถูกนำมาสอบสวน
 
จึงยังเป็นสิ่งที่ยัง “ใช้ไม่ได้ สำหรับการทำความเข้าใจต่อสังคมภายในพื้นที่ และสังคมโลก เพราะสุดท้ายแล้ว “ความสับสน ที่เกิดขึ้น และการชี้แจ้งที่ “ไม่กระจ่าง” สุดท้ายแล้ว “ความเท็จก็จะกลายเป็น “ความจริง และย่อมส่งผลกระทบต่อ “ภาพลักษณ์ ของกองทัพ ของประเทศ และกระทบต่อการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เพราะการ “ชนะทางยุทธการ ต่อกลุ่มก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการ “ชนะภายใน แต่การสลายปมเงื่อน และข้อกล่าวหาเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นการ “ชนะภายนอก
 
นั่นคือ การสร้างความเข้าใจในเรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับ “สังคมโลก” นั่นเอง
 
เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ไอเอสที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องไม่เชื่อว่ามีการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มสุดโต่งในพื้นที่ เพราะมี “อุดมการณ์ ที่ไม่ “สอดคล้อง กัน
 
แต่ในเรื่องของการร่วมมือกันเพื่อ “สร้างสถานการณ์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน
 
ยิ่งประเทศมาเลเซียกดดันไอเอสด้วยการกวาดจับภายในประเทศของเขามากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดในการป้องกันการเข้ามาใช้พื้นที่ของ 3 จังหวัดเพื่อหลบซ่อนมากยิ่งเท่านั้น เพราะพื้นที่ที่เหมาะแก่การหลบซ่อน ไม่มีที่ไหนปลอดภัยเท่ากับ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ของบ้านเรา
 
วันนี้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลดน้อยลง อาจจะเหมาะสมที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะใช้ยุทธวิธี “ทุบทีละนิ้ว กินทีละคำ ต่อกำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วก็อย่า “ละเลย ความสำคัญที่ต้องแก้ข้อกล่าวหาในเรื่อง “การซ้อมทรมาน จากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องของสิทธิมนุษยชน
 
เพราะหากเกิด “ความล้มเหลว” ในเรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” ย่อมหมายถึง “ความล้มเหลว” ของกระบวนการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น