xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.โต้ “องค์กรเครือข่ายฯ ปาตานี-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” มั่วรายงานซ้อมทรมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าโต้ “กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม” มั่วรายงานซ้อมทรมานในห้วงปี 2557-2558 ดังปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีใน จชต. ปี 2557-2558 ซึ่งอ้างว่า ได้พบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว จำนวน 54 คน ในห้วง ปี 2557-2558 ดังปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศในห้วงที่ผ่านมานั้น

 
“จากกรณีดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน. ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการ และข้อเน้นย้ำในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้การรับรู้ และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และบุคคลในครอบครัวตามแนวทางสันติวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนของการจับกุม โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ขั้นตอนการคุมตัวและซักถาม ที่เปิดโอกาสให้บุคคลในครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยไม่เคยกีดกัน หรือขัดขวางตามที่ถูกกล่าวอ้าง พร้อมกับจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ญาติ เช่น ที่พัก (หากมีความต้องการ) มีกิจกรรมนันทนาการ และการประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา

นอกจากนี้ ยังคงเปิดโอกาสให้เครือข่ายองค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ กาชาดสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน รวมทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายองค์กร สามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่ควบคุมตัว และซักถามในหน่วยทหารได้ตลอดเวลา โดยไม่เคยปิดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งทุกองค์กรต่างให้การยอมรับในความพยายามปรับปรุงสถานที่ และวิธีการดำเนินการตามคำแนะนำ ทำให้ประเด็นการร้องเรียนจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดีขึ้นโดยลำดับ” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังกล่าวอีกว่า จากรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในพื้นที่ จชต. ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ โดย น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อ 28 พ.ค.55 และครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ก.พ.59 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย และการรายงานรูปแบบการทรมานที่เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2547 มารายงานซ้ำ เป็นลักษณะการกล่าวอ้างจากคำบอกเล่า โดยขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่เมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมา รัฐจะเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระ และโดยเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ดังที่ปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด

 
ทั้งนี้ รูปแบบการซ้อมทรมานที่ระบุในรายงานทั้ง 2 ครั้ง นอกจากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีข้อสังเกตในหลายประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การข่มขืน การผ่าตัดนำอวัยวะภายในออก บังคับให้ทานสารเคมี การเผาไหม้ และล่าสุด คือ ให้ทหารพรานหญิงใช้นมปิดใบหน้าให้ขาดอากาศหายใจ หรือการทำร้ายร่างกาย เช่น ใช้ลำกล้องปืนกระแทกจนฟันกรามหัก ศีรษะแตก เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงย่อมมีร่องรอย หรือหลักฐานให้ปรากฏต่อแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ทั้งก่อน และภายหลังการควบคุมตัว รวมทั้งปรากฏต่อญาติ และครอบครัวที่เข้าเยี่ยมได้ทุกวัน ซึ่งเครือข่ายองค์กรเหล่านี้ต่างก็ทราบดี

ดังนั้น หากพิจารณาจากพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล และองค์กรดังกล่าวตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจถือได้ว่าเป็นการจงใจพยายามทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงของทุกเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวอ้างอย่างเร่งด่วน หากเป็นความจริงก็จะมีการลงโทษทั้งวินัย และอาญาทหารอย่างเด็ดขาด แต่หากไม่เป็นความจริง หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง บุคคลและองค์กรเหล่านี้ก็จะต้องยอมรับความจริงจากสิ่งที่ได้กระทำด้วยเช่นเดียวกัน

พร้อมกันนี้ ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนบางสำนักให้เสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น