คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ข่าวการเคลื่อนไหวของขบวนการ “ไอเอส” หรือ “ไอซิส” ซึ่งเป็นนักรบมุสลิมในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้สื่อต่างประโคมข่าวการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งที่เรื่องการเคลื่อนไหวก็ดี การจับกุมได้ 3 คนใน จ.นราธิวาสก็ดี หรือแม้แต่เรื่องที่มี “ผู้นำไอเอส” ไปประชุมกับเจ้าของโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่งใน ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก โดยการให้ทุนเพื่อให้โรงเรียนแห่งนั้นเป็น “แหล่งบ่มเพาะ” เยาวชนเข้าสู่ขบวนการของไอเอสก็ดี
ล้วนเป็นข่าวที่ “ถูกสร้างขึ้นมา” จากความขัดแย้งของคน 2 กลุ่มในพื้นที่ในเรื่องของการแย่งชิงการเป็น “ผู้นำทางศาสนา” โดยอีกฝ่ายที่เป็นอดีต “พูโลเก่า” ใช้กลยุทธ์ในการใส่ความว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายในการทำลายกันเอง โดยอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือ
เผอิญว่า “ผู้ใหญ่” ในบ้านเมืองนี้พูดมากไปหน่อย จนสื่อนำข่าวไป “เล่นแร่แปรธาตุ” ใส่ทั้ง “ไข่” และ “ถั่วงอก” ลงไป รวมทั้งการยึดโยงเหตุการณ์ระเบิดที่จาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และการจับกุมสมาชิกไอเอสที่มาเลเซีย ข่าวการจับกุม 3 ไอเอสที่ จ.นราธิวาส จึงกลายเป็นข่าวที่ใหญ่โต และมากด้วยสีสันเป็นอย่างมาก
แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การนำเสนอข่าวเรื่องไอเอสเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง ตรงที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ขุนทหาร แม่ทัพ นายกอง ต่างก็ตื่นตัว และมีการสั่งการให้ตรวจสอบ และป้องกัน แม้จะเป็นเพียงการ “ตีป่าให้เสือตื่น” ก็ย่อมดีกว่าปล่อยให้เสือเข้าไปหลบซ่อน และใช้พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการก่อเหตุร้าย ซึ่งอาจจะมีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศอื่น
เพราะมีโอกาสที่เป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งที่ไอเอสได้เข้าไป “ลงหลักปักฐาน” ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเข้ามาสร้างเครือข่ายในประเทศไทยเราด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะภูมิประเทศที่ติดกับมาเลเซีย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมี “ความแนบแน่น” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในมาเลเซีย มีทั้งการให้การช่วยเหลือ หลบซ่อน จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และที่สำคัญคือ การเป็น “เชื้อชาติ” และ “ศาสนา” เดียวกัน
ประเด็นต่อมา ในการปลุกเร้า หรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ปลุกระดมนำคนเข้าสู่ขบวนการไอเอส เพื่อทำ “สงครามศาสนา” นั้น ขบวนการไอเอสใช้วิธีการชี้ให้เห็นถึงความเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ของผู้คนในประเทศนั้นๆ ชี้ให้เห็นถึง “ความไม่เท่าเทียม” ที่คนเหล่านั้นได้รับ
ซึ่งสอดรับต่อความเชื่อของ “คนบางส่วน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรู้สึก หรือรวมทั้ง “ถูกบ่มเพาะ” ให้มีความรู้สึก และความเชื่อว่าพวกตนคือ พลเมืองชั้นสองที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตที่ในปัจจุบันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ไอเอสที่ก่อตั้งขึ้น และทำส่งครามอยู่ในอิรัก และซีเรีย รวมทั้งปฏิบัติการก่อการร้ายในหลายๆ ประเทศในขณะนี้ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจาก “อิสลาม” เพียงแต่มีการนำหลักการศาสนามา “บิดเบือน” เพื่อผลประโยชน์ของขบวนการเท่านั้น
อันสอดคล้องต่อ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ที่ปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเอาหลักศาสนามาทำการบิดเบือน สร้างความเชื่อแบบ “สุดโต่ง” ให้เกิดขึ้นต่อมุสลิมเพื่อประโยชน์ของขบวนการเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลของการสืบค้น จากข้อมูลของการข่าว และจากการวิเคราะห์สถานการณ์ เชื่อว่า ณ วันนี้ยังไม่มีสมาชิกไอเอสที่หลบหนีการจับกุมจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้ามาใช้พื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการหลบซ่อน และยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส เพื่อร่วมการสู้รบในอิรัก และซีเรีย รวมทั้งการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “ชมชอบ” และ “เห็นด้วย” ต่อวิธีการของไอเอสที่ทำสงครามอยู่กับรัฐบาลซีเรีย และอิรัก รวมทั้งการใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมในการสังหารตัวประกัน และชาวต่างชาติที่ไอเอสได้เผยแพร่ผ่านโลกของโซเชียลมีเดีย ซึ่งวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “โหลด” และ “แชร์” กันอย่างแพร่หลาย
ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นที่เป็นอันตรายต่อการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความรู้สึกชื่นชอบ และชื่นชมต่อวิธีการ และการทารุณกรรมที่ไอเอสได้กระทำต่อ ศัตรู หากถูกนำมาปลุกเร้าต่อกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งเป็น “แนวร่วม” ของบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นสิ่งที่ “จุดติด” ได้ง่าย เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “มีเชื้อ” แห่งความรุนแรงเหล่านี้อยู่แล้ว
เพราะในอดีตที่ผ่านมา แนวร่วมในพื้นที่เคยใช้วิธีการที่โหดเหี้ยม เช่น ฆ่าแล้วเผา หรือการฆ่าตัดคอผู้ที่ถูกทำให้เห็นว่าเป็นศัตรูต่อขบวนการของพวกตน และแม้ว่าวิธีการอันโหดเหี้ยมที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะมากมีปลุกเร้า ปลูกระดมด้วยวิธีการที่ไอเอสได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่หายไปก็ย่อมเกิดขึ้นได้อีกครั้ง
โดยเฉพาะวันนี้ที่บีอาร์เอ็นฯ แตกแยกเป็น 2 ปีก เป็น “ปีกสันติภาพ” และเป็น “ปีกความรุนแรง” เพื่อสร้างโอกาสของการ “ได้เปรียบ” ในเวทีของ “การพูดคุย” หรือการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อให้เวทีการพูดคุยมีปัญหา และอุปสรรค จนไม่สามารถเดินต่อไปได้ด้วยการใช้กลุ่มสุดโต่งที่นิยมไอเอสเป็นเครื่องมือ
วันนี้วิธีการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 นำมาใช้คือ การสกัดกั้นในพื้นที่แนวชายแดน เพื่อเป็นการป้องกันการหลบเข้ามาของสมาชิกไอเอสที่อาจจะหลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงต้องทำอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง
และต่อด้วยการสืบค้น “กลุ่มคน” หรือ “บุคคล” ที่เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมถึงที่ชื่นชอบ และสนับสนุนในแนวทางสุดโต่ง ไม่ว่าเป็นแบบของไอเอส หรืออื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายทั้งสิ้น โดยต้องสืบค้นให้พบ และสร้างความเข้าใจ หรือรับฟังความคิดเห็นของคนเหล่านั้น เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา สลายความคิดที่ผิดที่ไม่ถูกต้อง
ซึ่งการสลายแนวความคิดที่สุดโต่ง หรือความคิดที่อาจจะมาจากความเข้าใจผิด มีชุดข้อมูลที่ผิดพลาด คือ “งานทางการเมือง” ที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะปฏิบัติการอย่างจริงจัง
เท่าที่ติดตามการทำงานของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาค แม่ทัพภาคที่ 4 ยังพบว่า มีนโยบายอีกหลายอย่างที่ถูกแปรให้เป็นแผนเพื่อปฏิบัติการในการ “ดับไฟใต้” ตามแนวคิดที่ว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ก้าวต่อไปคือ การยุติเหตุร้ายให้ได้ในเร็ววัน และขจัดอาวุธที่จะนำมาใช้เพื่อยุติไฟใต้คือ “นโยบายประชารัฐร่วมใจ”
ส่วนจะเป็นอย่างไร และเป็นได้จริงหรือไม่ ครั้งหน้าจะได้นำเสนอให้ได้วิพากษ์กันอีกครั้ง