xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ในมือ “แม่ทัพเอียด” กับความตั้งใจสะกดปีลิงให้สงบเสงี่ยมจนนำไปสู่การมอดดับ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านมาแล้ว 12 ปี และในปี 2559 นี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 13 ซึ่งต้องนับเป็นปีแห่ง “ความคาดหวัง ของคนในพื้นที่ที่จะเห็นความรุนแรงที่ลดลง และมีความสงบเข้ามาแทนที่ อันเป็นความคาดหวังที่ไม่ใช่ “ความเลื่อนลอยหรือ “ลมๆ แล้งๆ อย่างที่เคยผ่านมา
 
เนื่องจากมีปัจจัยในทาง “บวก ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือน ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คณะของโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ที่เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
 
แล้วเดินหน้า “ปฏิรูปงานความมั่นคง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการใช้ ม.44 สั่งการให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ให้เป็นส่วนหนึ่งของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” โดยให้ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น “เจ้าภาพ หรือผู้ใช้อำนาจในการ “สั่งการ บูรณาการทุกหน่วยงาน จนเกิดความเป็น “เอกภาพ ขึ้นอย่างแท้จริง จนทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ “ลดลง” ทั้งในด้าน “ความถี่” และ “ความรุนแรง” ในระดับที่น่าพอใจ
 
ในขณะที่ภาคประชาสังคมก็ “ตอบรับ” ต่อนโยบาย “การพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เห็นต่าง ทั้งระดับแนวร่วมในพื้นที่ และกลุ่มหัวขบวนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีรัฐบาลมาเลเซียรับเป็นผู้อำนวยความสะดวก และแม้ว่าการพูดคุยในประเทศมาเลเซียยังไม่ส่งผลที่ชัดเจน แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้ความรุนแรงลดลง
 
ที่สำคัญการที่กองทัพเลือก พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ หรือ “แม่ทัพเอียด ที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกขานมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 หลังจากที่กองทัพภาค 4 “ไร้ร้าง” แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เป็น “คนใต้ มานาน การแต่งตั้ง พล.ท.วิวรรธน์ จึงเป็นเรื่องการตั้งคนที่ “ถูกจังหวะและ “ถูกกับงาน
 
เนื่องเพราะจะไม่ต้องมีการพูดกันอีกต่อไปว่าเป็น “แม่ทัพคนนอก ที่ไม่รู้จักพื้นที่ ไม่รู้จักปัญหา ไม่รู้จักคน และอีกสารพัด เนื่องจาก พล.ท.วิวรรธน์ รับราชการทหารตั้งแต่ยศ “ร้อยตรี” จนถึง “พลโท” ในพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง
 
ผ่านไป 3 เดือนของการรับตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 วันนี้จึงได้นำ “รูปแบบ” ที่เป็นนโยบายของ พล.ท.วิวรรธน์ มาเล่าสู่กับผู้อ่าน เพื่อที่จะได้เกิดการ “รับรู้” และอาจจะมีผู้ที่ “เห็นแย้ง และ “เห็นด้วยหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อการ “ต่อยอด เพื่อการไปสู่สิ่งที่ “ดีกว่า”
 
ลำดับแรก หลังจากที่ พล.ท.วิวรรธน์ เข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพคือ “การจัดคนให้ตรงกับงาน” ด้วยการตั้งนายทหารในพื้นที่ที่รู้ปัญหา รู้จักพื้นที่ รู้จักคน ให้รับผิดชอบในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อที่จะลดความรุนแรง ลดการก่อเหตุ และ “นำคนกลับบ้าน” ตามโครงการเดิมของกองทัพ ซึ่งล่าสุด มีผู้กลับใจยอมกลับบ้านเพิ่มขึ้น 1,200 คน
 
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ มอบนโยบายลงมาว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงภายในปี 2559 เพื่อที่จะได้นำงบประมาณของรัฐไปทุ่มต่อการพัฒนาพื้นที่ และคุณภาพชีวิตของคนให้ดีกว่าเดิม
 
ดังนั้น ในปี 2559 นี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงปรับเป้าหมายการทำงานจากการที่จะทำให้ “สถานการณ์ดีขึ้น” เป็นจะทำให้ “สถานการณ์ยุติลง” โดยการขับเคลื่อนงานสำคัญ 3 งานควบคู่กันไป คือ 1.งานการควบคุมพื้นที่ 2.งานการพาคนกลับบ้าน และ 3.งานโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข
 
“งานควบคุมพื้นที่” ทำเพื่อป้องกันเหตุร้าย คุ้มครองชีวิต และทรัพย์สินประชาชนให้มีความปลอดภัย และสามารถดำรงชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข ซึ่ง พล.ท.วิวรรธน์ เน้นหนัก และรับไม่ได้ต่อการที่กำลังทหารที่ออกลาดตระเวนคุ้มครองเส้นทาง และประชาชนถูกระเบิดแสวงเครื่อง และถูกล่อให้ไปเจอกับระเบิดจนเสียชีวิต และบาดเจ็บ ซึ่งต่อไปถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ผู้นำหน่วยต้องรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วย
 
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การจะป้องกันเหตุร้ายได้ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น นายอำเภอ และ ผกก.ต้องทราบเสียก่อนว่าในพื้นที่รับผิดชอบมี “แกนนำ” และ “แนวร่วม” กี่มากน้อย เป็นใคร และบ้านอยู่ที่ไหน ดังนั้น ต้องมีการควบคุม ติดตาม และจับกุมคนเหล่านี้ไม่ให้มีเสรีในการเคลื่อนไหว
 
ต้องให้แนวร่วม “คิดหนี” แทนที่จะ “คิดก่อเหตุ”
 
ต้องมีการตรวจสอบเส้นทาง สถานที่ และบุคคลที่เป็น “เป้าหมาย” ของกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยให้ความคุ้มครอง และทำให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทำได้และ “เป็นไปได้เพราะบุคคลที่เป็น “เป้าหมาย มีอยู่อย่าง “จำกัด
 
นี่คือ “หัวใจ” ของการป้องกันเหตุ
 
ส่วน “งานพาคนกลับบ้านเป็นงาน “สันติวิธี ที่ให้โอกาส หรือเปิดทางถอยให้แก่ผู้หลงผิดที่ต้องการกลับตัว กลับใจ ออกมาจากขบวนการมาอยู่ในสังคมปกติ อยู่กับครอบครัว โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัวการถูกจับกุม หรือถูกหมายเอาชีวิต
 
โดยภาครัฐจะอำนวยความสะดวกในการนำผู้ที่ต้องการกลับบ้านเข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรม” เพื่อให้พ้นจากคดีความ และนอกจากนั้น ยังให้ความช่วยเหลือครอบครัว และการส่งเสริมอาชีพ
 
ซึ่งผู้หลงผิดกลับบ้านจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ นั่นหมายถึงจำนวนแนวร่วมลดน้อยลงเท่านั้น และย่อมส่งผลกระทบถึงขบวนการ เพราะการ “ขาดคนคือการ “ขาดมือ ขาดเท้า ย่อมส่งผลต่อการดำเนินงานของขบวนการ และจะหมดศักยภาพในการก่อเหตุ
 
ด้าน “ประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข” เป็นการนำเอานโยบายประชารัฐที่รัฐบาลใช้อยู่ มาประยุกต์ใช้ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้เป็น “ธงนำ ในการ “รุกทางการเมือง”
 
ซึ่งในงานการเมืองนับแต่นี้ต่อไป หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเดิน “เข้าหา” ประชาชนในกลุ่มที่ “คิดต่างและ “เห็นแย้งจากรัฐ ด้วยการรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจ ตรวจสอบโครงการพัฒนาที่รัฐทำไปว่า ตรงต่อความต้องการของเขาหรือไม่ และเขาเดือดร้อนอะไร ต้องการให้รัฐช่วยเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ “ตรงจุด
 
เป็นการเดินเข้าหาประชาชนแบบ “ปรับทุกข์ผูกมิตรเชื่อว่าแม้คนบางส่วนจะมีความคิด ความเชื่อในการต่อต้านรัฐ แต่ถ้าเราลงไปถึงตัว ถึงครัวเรือน และตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น จะสามารถ “เปลี่ยนความคิด” ให้เขาร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
อย่างเช่น การตัดถนน สร้างสะพาน เป็นการช่วยคนแบบส่วนรวม บางคนได้ประโยชน์มาก บางคนได้ประโยชน์น้อย แต่การช่วยแบบถึง “ครัวเรือน คือ การช่วยที่ตรงประเด็นที่สุด
 
ที่ผ่านมา ในการทำงาน “ด้านการเมือง” และ “ด้านการพัฒนา” หน่วยงานต่างๆ มีวัฒนธรรมที่มักจะทำให้จบเป็นปีๆ ไป หรือจบไปเป็นโครงการไป และแยกกันทำแบบหน่วยงานใครหน่วยงานมัน ต่อไปจะปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีทำเพื่อให้บรรลุไปสู่เป้าหมายของ “การยุติสถานการณ์” ให้ได้
 
ต่อไปนี้ “นายอำเภอ” “ผกก.” และ “หัวหน้าหน่วยงาน” ในพื้นที่ต้อง “รู้จริง และต้องดำเนินการให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์ที่ต้องการคือ พื้นที่ไม่เกิดเหตุร้าย กลุ่มต่อต้าน และเห็นต่างเปลี่ยนใจมาร่วมมือกับรัฐ ประชาชนทุกครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “แกนนำ” และ “แนวร่วมเข้าสู่ขบวนการ “พาคนกลับบ้านมากขึ้น เพื่อที่สังคมในพื้นที่จะกลับไปสู่ความสงบ
 
เป็นการ “ยุติความรุนแรง” ที่ดำเนินมาถึง 13 ปี ให้จบลงในปี 2559 ให้จงได้
 
นั่นคือ “ความตั้งใจ” ของกองทัพที่มี พล.ท.วิวรรธน์ ประฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือเป็นไม่ได้
 
กาลเวลาเท่านั้นคือเครื่องพิสูจน์?!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น