xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการศาล “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ร้อง! หน่วยงานรัฐ 3 ปี จัดระเบียบผู้หาผลประโยชน์ไม่คืบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรรมการศาล “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ร้อง! หน่วยงานรัฐ 3 ปี ให้จัดระเบียบล้างผู้มีอิทธิพลหาผลประโยชน์ยังไม่คืบไร้วี่แวว ก่อนเข้าร้องเรียนผ่าน “สื่อ” ให้ช่วยเหลือเพื่อเป็นสื่อกลางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

วันนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิพันธ์ คณานุรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สภาที่ปรึกษาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ ได้เข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวเพื่อขอให้มีการจัดระเบียบ ทบทวนกำหนดการพิธีลุยไฟ งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวใหม่

 
โดย นายสุทธิพันธ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา คณะกรรมการศาลเจ้าเล่งจูเกียง ได้ทำการเปลี่ยนแปลงพิธีอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระในศาลเจ้าเล่งจูเกียง พระประจำตระกูลคณานุรักษ์ และพระที่บ้านกงษีตระกูลคณานุรักษ์ ซึ่งแต่เดิมจะทำการแห่พระในเวลา 11.00-12.00 น. ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาถึง 125 ปีแล้ว แต่คณะกรรมการศาลเจ้าฯ ได้เปลี่ยนการแห่พระเป็นเวลา 13.30-14.30 น. การเปลี่ยนแปลงเวลาการแห่พระ และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในครั้งนี้จึงเกิดผลกระทบขึ้น ดังนี้

1.เป็นการทำลายประเพณีโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือปฏิบัติกันมานานถึง 125 ปี

2.ผู้มีจิตศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่ฯ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ซึ่งเคยมาร่วมพิธีแห่งพระ และเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินได้ทัน ไม่สามารถมาร่วมพิธีแห่พระได้เหมือนในอดีต เพราะมีการเปลี่ยนเวลาจากช่วงเช้าเป็นช่วงบ่าย นอกจากไม่ทันเที่ยวบินแล้ว ยังเป็นกังวลต่อความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง

3.ผู้หามพระ จากการที่ไม่ได้หลับนอน และเหน็ดเหนื่อยจากการแห่พระในตลาดปัตตานี ต้องอดอาหารเที่ยง เหนื่อยล้า เมื่อเดินเข้าลุยกองไฟหลายคนมีอาการเข่าอ่อน อาจจะเกิดอันตรายได้

4.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวบนถนนสายต่างๆ ต้องเพิ่มภารกิจจากการยืดเวลาออกไปจนเกินกำลังของเจ้าหน้าที่

5.มีการนำรูปเหมือนเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจาก จ.นครปฐม ไปที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งกรุงเทพฯ ไปแห่ให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีจิตศรัทธาในกรุงเทพฯ กราบไหว้ และเรี่ยไรเงิน โดยผู้ที่มีจิตศรัทธาเข้าใจว่าเป็นการกระทำของกรรมการศาลเจ้าเล่งจูเกียง จ.ปัตตานี

 
นายสุทธิพันธ์ เปิดเผยต่อไปว่า ตนเองได้รับการร้องเรียน และต่อว่าจากชาวปัตตานีและอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนเวลาการแห่องค์เจ้าแม่ในครั้งนี้ รวมทั้งทราบว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการแห่พระนอกเส้นทาง ซึ่งทีมในการแห่พระ และกำหนดเส้นทางเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่เหนือคณะกรรมการศาลเจ้า ทำให้คณะกรรมการศาลเจ้าไม่กล้าทำการใดๆ และผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ ทำให้ผู้เข้าร่วมชมพิธีลุยไฟจาก 1,500-1,700 คน เหลือประมาณ 200-250 คน

หลังเสร็จพิธีลุยไฟ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการลุยไฟ 176 ราย แบ่งเป็นไฟลวกขา 2 ข้าง 21 ราย ต้องส่ง ร.พ.ปัตตานี ถูกไฟลวก 5-10 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ให้ยาแล้วให้กลับบ้านได้ 37 ราย มีบาดแผลถูกไฟลวกแต่ไม่ได้ไปพบแพทย์ 78 ราย บาดเจ็บพุพองที่ฝ่าเท้า จากการกความร้อนบนถนน (ยางแอสฟัลต์) 40 ราย

สาเหตุที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการก่อกองไฟตั้งแต่ 09.00 น. เมื่อถึงเวลา 15.00 น. ถ่านไฟติดลุกไหม้ทั้งกอง ทำให้ร่างกายทนทานต่อความร้อนของไฟไม่ไหว ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องบนถนนตั้งแต่เช้ายันบ่าย ทำให้แอสฟัลต์ละลาย เมื่อผู้หามพระเดินด้วยเท้าเปล่าจึงทำให้เท้าพุพองจากความร้อนของยางแอสฟัลต์

 
นายสุทธิพันธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต่อการแห่พระ และองค์เจ้าแม่ฯ ตนได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาแก้ไขตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยร้องไปที่เลขาธิการ ศอ.บต. ร้องไปที่ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ร้องไปที่ ผวจ.ปัตตานี และล่าสุด ได้ร้องไปที่รัฐมนตรียุติธรรม เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการทำลายการท่องเที่ยว ทำความเดือดร้อนให้แก่คนใน จ.ปัตตานี ที่ต้องเสียเวลาในการตั้งโต๊ะบูชาโดยไม่ทราบกำหนดการ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยในปี 2559 นี้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ก็จะถึงพิธีการแห่พระ และองค์เจ้าแม่อีก จึงได้ร้องเรียนต่อสื่อ เพื่อให้เป็นสื่อกลางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้แก่การแห่พระกลับมาใช้รูปแบบเดิมที่ปฏิบัติกันมาถึง 125 ปี รวมทั้งป้องกันการหากำไรจากการแห่พระ และเจ้าแม่ ที่ขณะนี้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ดำเนินการมาแล้วหลายปี




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น