ยะลา - รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 แถลงข่าวนโยบายใหม่ “โครงการให้รัฐ ประชาชน และผู้เห็นต่างร่วมกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบหมายนโยบายในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความเป็นพิเศษมากขึ้น คือ “โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านพลังประชารัฐ ประกอบด้วย ประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่าง และภาครัฐ มาร่วมแก้ไขปัญหาภายใต้หลักคิด “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน และผู้เห็นต่างเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง เสริมสร้างความสงบสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และยั่งยืน
ทั้งนี้ ได้เริ่มต้นดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดพื้นที่นำร่องใน 4 จังหวัดรวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา ก่อนที่จะขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครบทั้ง 37 อำเภอใน 4 จังหวัดในระยะต่อไป
พ.อ.ยุทธนาม กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อน “โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข” ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยผนึกกำลังร่วมกัน 3 ฝ่าย ใช้ 3 งานหลักเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ซึ่งมีตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ภาคประชาชนมี ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มา “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล” ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์ เป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงาน รวมทั้งมีหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน และสถานีตำรวจภูธรประจำพื้นที่ ร่วมปฏิบัติงานในลักษณะการบูรณาการ”
“ส่วน 3 งานหลักที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ประกอบด้วย งานสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างชุมชน หมู่บ้านเข้มแข็ง ปลอดเหตุร้าย ปลอดยาเสพติด โดยมีผู้นำท้องที่ และผู้นำศาสนาเป็นศูนย์กลาง โดยมี 4 งานสำคัญ คือ งานบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางสันติวิธี เช่น การใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก การมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนา ผู้นำในท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเครือญาติในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ งานควบคุมพื้นที่ และทำหมู่บ้านให้ปลอดภัย งานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการนำกำลังภาคประชาชนออกมาดูแลพื้นที่ ตามแผนรักษาความปลอดภัยตำบล การเสริมสร้างศักยภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และชุดควบคุมตำบล และงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น การป้องกันและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม” พ.อ.ยุทธนาม กล่าว
รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีงานการเมืองที่มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ช่วยเหลือจุนเจือ เชิญชวนมาแก้ปัญหาร่วมกัน โดย ประกอบด้วย งานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐ โดยขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา นักการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ พัฒนาสัมพันธ์ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ช่วยเหลือ และชักชวนเข้าร่วมแก้ปัญหา และพัฒนาในพื้นที่ 5 อำเภอนำร่อง และแพร่สู่ 37 อำเภอในโอกาสต่อไป งานเสริมสร้างความเข้าใจในสถานศึกษา งานพบปะผู้นำศาสนาและประชาชนในมัสยิด เน้น การนำผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” โดยใช้หลักการศาสนาที่บริสุทธิ์เข้ามาแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการขับเคลื่อนโครงการมัสยิดสานใจป้องกันภัยยาเสพติด งานขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้าน งานเสริมสร้างความเข้าใจต่อประชาชน งานสร้างครอบครัวคุณธรรม โดยสมาชิกในครอบครัวจะต้องยึดมั่นใน “สัจจะ สันติสุข” กำหนดไว้ 3 ประการสำคัญ คือ สมาชิกในครอบครัวต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องไม่สร้างความเดือนร้อนแก่สังคม ชุมชน และจะต้องมีจิตอาสาช่วยเหลือส่วนรวม
ส่วนงานพัฒนา มุ่งหมายเพื่อพัฒนาโดยโครงการของรัฐถึงระดับครอบครัว ถึงตัว ถึงความคิด ให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐดูแล และไม่ทอดทิ้ง โดยมีงานสำคัญที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มี 8 งาน คือ งานพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ตอบสนองต่อความต้องการและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นรายครอบครัว งานส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพในหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก (SME) และ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น งานพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ เช่น การจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน งานพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และแผนงานและโครงการตามกลุ่มภารกิจของส่วนราชการ รวมทั้งแผนชุมชนหมู่บ้านทั้ง 8 เล่ม อย่างเร่งด่วน งานสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง งานพัฒนาชุมชนเสี่ยงตามกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง งานสร้างชุมชนปลอดยาเสพติด และงานสนับสนุนโครงการพระราชดำริอย่างเต็มขีดความสามารถ