โดย...ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพื่อเล่าเรื่องราวพัฒนาการของการเติบโตของวงการยางพาราจีนกับไทย ในวันที่จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด และเป็นประเทศที่ซื้อยางจากไทยไปใช้มากที่สุด
ในปี 2557 มีข้อมูลว่าไทยส่งยางออกไปต่างประเทศ 3,770,649 ตัน เฉพาะจีนประเทศเดียวซื้อยางจากไทยถึง 2,142,199 ตัน โดยไทยส่งยางไปขายญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลี และอินเดียด้วย แต่จีนประเทศเดียวดูดซับยางจากไทยประมาณ 57% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
ผมจึงตั้งใจเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อให้คนไทยที่สนใจในอุตสาหกรรมวงการยางพาราไทย ได้มีความรู้ และความภูมิใจเกิดขึ้นบ้าง!
อย่างน้อยๆ เพื่อให้พ่อค้ายางไทยที่ส่งไปขายจีนได้พูดคุยกับคนพ่อค้าจีนว่า เราทั้ง 2 ประเทศมีความผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก ความภูมิใจของจีนนั้นก่อกำเนิดขึ้นจากแผ่นดินไทย หรืออย่างน้อยเมื่อยามรัฐบาลไทยไปเจรจาการค้ากับจีน การพูดคุยในทางการทูต และทางการค้าในเรื่องยางน่าจะพูดได้เต็มปากว่า
“เมล็ดพันธุ์แห่งการก่อกำเนิดอุตสาหกรรมสวนยางในประเทศจีน คือ คนที่ไปจากประเทศไทย ชุมชนชาวสวนยางจากอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นถิ่นฐานบรรพชนของชาวจีนโพ้นทะเล..ฮกจิว”
เอกสารที่สมาคมคนจีนในอำเภอนาบอนใส่กรอบประกาศไว้ว่า
“เฉินเออกุ่น” หรือออกเสียงเป็นภาษาฮกจิว หรือภาษาจีนฟุโจวว่า “ติ่งอี้คุ้ง”
ท่านเกิดเมื่อปี ค.ศ.1892 (พ.ศ.2435) และเสียชีวิตปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) รัฐบาลจีนได้ประกาศให้ท่านคือ...
“บิดาการยางของสาธารณรัฐประชาชนจีน”
ในปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) “ติ่งอี้คุ้ง” ท่านได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ในฐานะผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลที่ทำคุณประโยชน์ต่อมาตุภูมิ และมีชื่อจารึกไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ท่านเกิดที่อำเภอกู่เถียน จังหวัดฟุโจว มณฑลฮกเกี้ยน
ท่านเดินทางจากบ้านเกิดเข้าสู่ชุมชนคนจีนโพ้นทะเลหมู่บ้านซิเตียหวั่น (Sitiawan) ซึ่งเป็นชุมชนแหล่งที่อยู่ของคนจีนฮกจิว เป็นแหล่งปลูกยางพารามากในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย
ปี ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) “ติ่งอี้คุ้ง” เมื่ออายุ 36 ปี ได้พาครอบครัวจากซิเตียหวั่น รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทำสวนยาง เพราะรัฐบาลไทยช่วงนั้นมีนโยบายส่งเสริมเปิดป่า ชักชวนคนจีนให้มาลงทุนเปลี่ยนผืนป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสวนยาง ในยุคของการสร้างชาติใหม่ เพื่อพัฒนาเขตป่าเส้นทางรถไฟสายใต้ให้เป็นพื้นที่การเกษตร
“ติ่งอี้คุ้ง” ท่านมีความเป็นผู้นำ เมื่อชุมชนคนจีนฮกจิวขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ มีคนจีนอพยพมาอยู่กันมากขึ้นเพื่อทำสวนยาง ลูกหลานเยาวชนก่อกำเนิดขึ้น ท่านจึงรวบรวมคนจีนในชุมชนให้ก่อตั้งโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้หนังสือ ชื่อ “โรงเรียนจงหัว” ปัจจุบัน คือ “โรงเรียนสหมิตรบำรุง”
ในปี ค.ศ.1937(พ.ศ.2480) เมื่อกิจการของชาวจีนที่ตลาดนาบอนมีความก้าวหน้ามั่นคงขึ้นเป็นลำดับ จึงได้มีการวางแผนเพื่อขยายพื้นที่การปลูกยางไปลงทุนที่เกาไหหลำ อาจจะด้วยเหตุผลภายในประเทศไทยที่บีบรัดด้วยนโยบายชาตินิยมยุคนั้น แต่ปี ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) ด้วยเพราะติดเงื่อนไขของสงคราระหว่างจีนกับญี่ปุ่น แผนการลงทุนบุกเบิกเปิดพื้นที่ปลูกยางบนเกาะไหหลำจึงหยุดชะงักลง
หลังสงครามโลกสิ้นสุด ในปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) “ติ่งอี้คุ้ง” ได้ไปสำรวจที่เกาะไหหลำอีกครั้ง มีประสานงานกับรัฐบาลท้องถิ่น และบรรลุข้อตกลงในการลงทุน ท่านจึงได้ก่อตั้งบริษัท โดยระดมเงินทุนจากเพื่อนชาวจีนฮกจิวในชุมชนนาบอนกว่าร้อยคน ก่อตั้ง “บริษัท หัวเฉียวชิงหมิงยางพารา จำกัด” บุกเบิกการปลูกยางพาราขึ้นในประเทศจีน ผ่านความยากลำบากแสนเข็ญ จนต้นยางเขียวชอุ่มในแผ่นดินจีน
ปี ค.ศ.1953 (พ.ศ.2495) บริษัท หัวเฉียวชิงหมิงยางพารา จำกัด ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทหัวเฉียวของมลฑลกวางตุ้ง และในปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) รัฐบาลได้โอนบริษัทนี้เข้าเป็นรัฐวิสาหกิจจีน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น“ศูนย์เกษตรกรรมซันเต้าหัวเฉียว”
ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ค.ศ.1966-1976 (พ.ศ.2509-2519) “ติ่งอี้คุ้ง” ได้รับผลกระทบอย่างสูงในช่วงนี้ เพราะท่านเป็นนักการเกษตรที่มีทุนรอนไปจากประเทศไทย ถูกกล่าวหาว่า เป็นนายทุน โดยเฉพาะได้รับผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก แต่ท่านก็ยังยืนหยัดที่จะอยู่ในประเทศจีน ทั้งๆ ที่ลูกสาวได้เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปชักชวนคุณพ่อให้กลับมาอยู่ที่เมืองไทยด้วยกัน ท่านก็ปฏิเสธยืนยันว่าจะขอใช้ชีวิตที่บ้านเกิดที่อำเภอกู่เถียน
และในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) รัฐบาลจีนก็ได้ให้ท่านกลับบ้านเกิด ถิ่นฐานที่ท่านจากมาที่อำเภอกู่เถียน และในอีก 2 ปีต่อมา ท่านก็เสียชีวิตที่บ้านเกิดกู่เถียน
โดยรัฐบาลของเติ้งเสี่ยวผิง ได้ประกาศกอบกู้คุณงามความดีของท่านเอาไว้ว่า…
“ติ่งอี้คุ้ง ได้ทุ่มเทเสียสละมาตลอดชีวิต มีจิตใจรักชาติแผ่นดินอย่างแรงกล้า จนสามารถปลูกยางพาราเป็นปึกแผ่นขึ้นในแผ่นดินจีน เพื่อประกาศต่อมาตุภูมิแผ่นดินจีน ขอบคุณที่สร้างความรุ่งเรือง จะจารึกชื่อไว้มิรู้ลืม”
สิ่งที่บอกเล่ามานี้ ผมคิดว่าเป็นพัฒนาของวงการอุตสาหกรรมยางพาราไทย ซึ่งประเทศไทยมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงผูกพันกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแนบแน่น
จากอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของประเทศไทย ได้มีส่วนก่อกำเนิด “บิดายางพาราของจีน” ขึ้นมาในที่สุด
เมื่อเรามองเห็นพัฒนาการของการเติบโตวงการอุตสาหกรรมยางพาราแล้ว กาลเวลาได้นำพาสังคมไทยผ่านมาถึงวันนี้
วันที่ประเทศไทยปลูกยางพารามากกว่า 22 ล้านไร่ ผลผลิตของยางพาราออกมาประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี และมีอัตราผลผลิตยางพาราต่อไร่ต่อปีอยู่ที่ 263 กิโลกรัม
----------------------------------
ขอบคุณ “ครอบครัวอี้คุ้งปะ” ในประเทศไทยที่อำนวยความสะดวกเรื่องรูปภาพ และ “หงูมินเต๊อะ” ที่ดูแลความถูกต้องภาษาจีน