xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัส “ชีวิตหลังความตาย” กับความเชื่อในวันสุดท้ายของชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่มีใครจะหนีพ้นได้ นั่นก็คือ “ความตาย” ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ศาสนาไหน เพศอะไร จุดสุดท้ายของชีวิตก็คือความตายนั่นเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีความเชื่อในเรื่องความตายแตกต่างกันไป

ฉันเองมีโอกาสได้เรียนรู้ความเชื่อเกี่ยวกับความตายของคนในแต่ละศาสนาก็เมื่อตอนที่ได้มาร่วมทริปกับ KTC ในชื่อว่า “พินิจคติหลังความตาย” ซึ่งฉันก็ได้มาเริ่มต้นทริปนี้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร”
ภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าและการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ฉันเลยเข้าไปกราบพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน “พระที่นั่งพุทไธสวรรค์” ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญลงมาจากเมืองเชียงใหม่

หลังจากไหว้พระขอพรกันแล้ว ก็ต้องมาเดินดูภายในพระที่นั่งองค์นี้กันเสียหน่อย เพราะว่ารอบๆ นั้นจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามน่าชม โดยฝาผนังเหนือช่องพระทวารและพระบัญชรเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างพระบัญชรเขียนเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา และมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ เริ่มตั้งแต่ฉากอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนามสิริมหามายา จนมาจบที่ภาพสุดท้าย คือ ฉากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งภาพสุดท้ายนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมกับความตายอีกด้วย
พระมหาพิชัยราชรถ
นอกจากจะมาที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์แล้ว อีกจุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องความตายก็คือ “โรงราชรถ” ที่ภายในจัดแสดงราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพ อาทิ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย ฯลฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึง พระจิตกาธาน งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความวิจิตรสวยงาม และถูกสร้างขึ้นจากฝีมือของคนไทยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกับศิลปะอันสวยงามของคนไทย
พระจิตกาธาน งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สำหรับการจัดงานพระบรมศพหรืองานพระศพของเจ้านายไทยนั้น ก็ได้รับความเชื่อและพิธีกรรมทั้งแบบพุทธและพราหมณ์เข้าไว้ด้วยกัน และเนื่องจากความเชื่อในเรื่องกษัตริย์มาจากสรวงสวรรค์ ทำให้งานพระเมรุนั้นต้องจำลองว่าพระองค์กำลังเสด็จกลับสู่สวรรค์เช่นกัน จึงมีการอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพด้วยราชรถงดงาม ซึ่งได้จำลองเขาพระสุเมรุ มหานทีสีทันดร และป่าหิมพานต์ มาไว้ราชรถรวมถึงในงานพระราชพิธีด้วย
แบบจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถ้าใครมาเดินชมภายในโรงราชรถ อาจจะเห็นว่าราชรถต่างๆ นั้นไม่สดใสเท่าที่ควร ก็เนื่องจากความเชื่อที่ว่าการซ่อมแซมราชรถนั้น จะต้องกระทำเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้ นั่นคือเมื่อจะมีการจัดงานพระบรมศพหรืองานพระศพเท่านั้น มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการแช่ง
คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์
จากความเชื่อของพุทธ-พราหมณ์ ฉันก็มาที่ “คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์” ในย่านบางรัก ที่นี่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 โดย ศจ.บุญต๋วน บุญอิต โดยได้รับการถวายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางวา พร้อมทั้งเงินทุนจำนวนหนึ่งจากพระยาสารสิน สวามิภักดิ์ และขอให้ตั้งนามพระวิหารนี้ว่า “สืบสัมพันธวงศ์” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณ “สืบ” ผู้เป็นบุตรชายหัวปีของท่านที่ถึงแก่กรรม ส่วนเงินค่าก่อสร้างที่เหลืออยู่นั้นพี่น้องคริสเตียนไทยในบางกอกได้ช่วยกันถวายทรัพย์จนครบ
ด้านในคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์
ศจ.บุญต๋วน บุญอิต ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างโบสถ์หลังนี้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ไปก่อนที่โบสถ์จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ และต่อมาโบสถ์หลังนี้ก็ได้รับการบูรณะต่อมาอีกหลายๆ ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งล่าสุดอีกก็คือการบูรณะพระวิหารและหอระฆังจนในขณะนี้ คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ก็ดูงดงามเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น เป็นความงามที่สงบของศาสนสถานที่ควรค่าแก่การเคารพ

สำหรับความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวคริสเตียนนั้น เชื่อว่าชีวิตหลังความตายจะดีขึ้นภายใต้อุ้งหัตถ์ของพระเจ้า ความตายคือการเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ แต่ละคนจะมีบำเหน็จตามการใช้ชีวิตและการรับใช้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งก็ใกล้เคียงกับความเชื่อในพระเจ้าของศาสนาอิสลาม แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจะมีความแตกต่างกันออกไป
สุสานไทยอิสลาม มัสยิดยะวา
ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมิอาจหลีกหนีได้เป็นสัจธรรม หนึ่งในหลักศรัทธาของศาสนาอิสลามบอกไว้ว่า ให้ศรัทธาในวันสุดท้ายพิพากษาหรือวันสุดท้ายของโลก ชาวมุสลิมเชื่อว่า โลกมีการแตกดับ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นทุกคนต้องตาย และจะฟื้นขึ้นมาใหม่เพื่อรับการตัดสินตามสิ่งที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต

การทำศพของชาวมุสลิมสามารถทำได้ด้วยการฝังเท่านั้น โดยสุสานของชาวมุสลิม เรียกว่า “กุโบร์” อย่างที่ “สุสานไทยอิสลาม” ใกล้กับมัสยิดยะวาแห่งนี้ ก็เป็นสุสานของชาวมุสลิมมากว่า 100 ปี ซึ่งชาวมุสลิมในย่านนี้ก็เป็นชาวชวาที่อพยพเข้ามาทำการค้าขายในไทยตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5

สุสานของชาวมุสลิม ถือเป็นสถานที่พักคอยของดวงวิญญาณ เพื่อรอให้ถึงวันสุดท้ายของการสิ้นโลก หรือโลกอันบริสุทธิ์ และรอเพื่อรับการตัดสินจากพระผู้เป็นเจ้า การตายสำหรับชาวมุสลิมคือเวลาที่กายละเอียดหรือจิตวิญญาณแยกจากกายหยาบหรือร่างกาย กายละเอียดจะพักรอวันสิ้นโลก ส่วนกายหยาบนั้นจะถูกดูแลจัดการอย่างเรียกร้อยและให้เกียรติตามหลักของศาสนา
หลุมหมื่นศพ สุสานวัดดอน
ในบริเวณไม่ไกลจากสุสานไทยอิสลามมากนัก ก็ยังเป็นสุสานอีกแห่งหนึ่งที่ในอดีตขึ้นชื่อว่าเฮี้ยนติดอันดับ นั่นคือ “ป่าช้าวัดดอน” หรือ “สุสานแต้จิ๋ว” นั่นเอง

ในอดีต ป่าช้าวัดดอนเคยเป็นสุสานขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากกว่า 150 ไร่ เป็นที่ฝังศพมากกว่าหมื่นศพ ทั้งศพที่ฝังในลักษณะของฮวงซุ้ย ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิ รวมไปถึงศพที่ไม่มีญาติบรรจุรวมกันไว้ อย่างในบริเวณของหลุมหมื่นศพ ที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เพราะเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่สุดและอยู่ห่างจากหลุมอื่นๆ และสุสานแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ 3 องค์กร คือ สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย มูลนิธิปอเต็กตึ้ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้
ไต้ฮงกง บริเวณตรงกลางของสวนสวย
ชาวจีนมีความเชื่อว่า คนทุกคนมีวิญญาณ ในโลกวิญญาณจะยังมีการติดต่อกับโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นความเชื่อทางพุทธมหายาน ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื้อ เมื่อเชื่อดังนั้น ระหว่างคนตายกับคนเป็นจึงต้องมีการสื่อสารกันตลอด เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต หน้าที่ของลูกต้องมีการแสดงความกตัญญูในพิธีกรรมต่างๆ และโดยประเพณีนั้นจะมีการกำหนดให้ลูกทุกคนผลัดเวรกันดูแลพ่อแม่ตั้งแต่มีชีวิต เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว แต่ละคนก็ต้องมีที่ของตัวเองที่จัดไว้สำหรับกราบไหว้ ส่วนศพที่ไม่มีญาตินั้น ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับญาติพี่น้อง เพราะถือว่าคนจีนโพ้นทะเลด้วยกัน ก็ได้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน เมื่อถึงตายก็จะทำพิธีเซ่นไหว้เช่นกัน ถือว่าเป็นความผูกพันกันระหว่างคนเชื้อสายจีนด้วยกัน
จากสุสานน่ากลัว กลายเป็นสวนสาธารณะสวยๆ
สมัยก่อนนั้น สุสานแต้จิ๋วแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้ใครเดินเข้ามาง่ายๆ แต่จะเข้าได้ก็เฉพาะช่วงเทศกาลเชงเม้ง หรือวันที่ชาวจีนจะไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันนี้ ความเฮี้ยนและความน่ากลัวนั้นหายไปแล้ว เนื่องจากมีการล้างป่าช้าทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณเหล่านั้นไปหลายครั้ง และอีกอย่างหนึ่งคือการขยายของเมืองเริ่มมากขึ้น บริเวณใกล้เคียงกับป่าช้ามีทางด่วนตัดผ่านและเป็นจุดขึ้นลงทางด่วนเชื่อมต่อกับถนนสาทร ถนนจันทน์ จึงต้องมีการปรับปรุงสภาพป่าช้าบริเวณโดยรอบ จนเป็นที่มาของโครงการ "สวนสวยในป่าช้า" หรือ "สวนสวยสมาคมแต้จิ๋ว" โดยได้มีการปรับปรุงป่าช้าวัดดอนบางส่วนเพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะให้คนได้เข้าไปออกกำลังกาย ผนวกกับปัจจุบันนี้ไม่มีการนำศพเข้ามาฝังในป่าช้าวัดดอนอีกแล้ว ทำให้บรรยากาศความเงียบสงัดที่ชวนให้ขนหัวลุกก็ลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

แม้ป่าช้าวัดดอนบางส่วนจะกลายเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งบรรยากาศของป่าช้าเดิม ซึ่งก็ทำให้ที่นี่ถือเป็นสวนสาธารณะที่แปลกไม่ซ้ำใคร เพราะขณะที่คนมาวิ่งหรือเดินออกกำลัง ก็จะได้ชมทิวทัศน์ข้างทางเป็นฮวงซุ้ยที่ตั้งอยู่เรียงราย ออกกำลังไปก็จะได้ปลงเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายไปพร้อมกันได้เลย

จะเห็นได้ว่า “ความตาย” นั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอในไม่ช้าก็เร็ว และความเชื่อหนึ่งที่ทุกศาสนามีเหมือนๆ กันก็คือ ในขณะยังมีชีวิตอยู่นั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตหลังความตายของเราได้อยู่อย่างสงบสุข ซึ่งฉันเองก็เชื่อว่า การทำวันนี้ให้ดีที่สุด เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นสุขสงบได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น