โดย...สุนทร รักษ์รงค์
ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ผมเองยุ่ง และวุ่นวายกับปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ที่ยังคงเป็นวิกฤตชาติ ดังที่แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเคยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำ เมื่อพลุถูกจุดจนสว่างจ้า จนหลายฝ่ายรับรู้ปัญหา และสามัคคีร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งรัฐบาล พ่อค้า เกษตรกร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเสนอทางออกเพื่อความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง คือ การใช้ทฤษฎีใหม่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการทำสวนยางอย่างยั่งยืน ลักษณะพึ่งพาตนเอง แต่ต่างคนต่างพูด ขาดแผนแม่บทที่ชัดเจน
ยางพาราเป็นต้นไม้ในป่าดิบชื้นของป่าอะเมซอน อเมริกาใต้ แต่การที่ยางพาราผลัดใบทั้งๆ ที่อยู่ในป่าดิบชื้น จึงเป็นต้นไม้ที่พัฒนายังไม่สมบูรณ์ จึงต้องพึ่งพาพืชชนิดอื่นถึง 95% หมายความว่า ยางพารา 5 ต้น ต้องพึ่งพาต้นไม้อื่นอีก 95 ต้นจึงจะอยู่รอด และเติบโตเต็มที่ เราจึงเห็นต้นยางอายุนับร้อยปีขนาดใหญ่ และน้ำยางมาก สำหรับยางที่นำมาปลูกช่วงแรกๆ ของบางคนยังมีต้นยางใหญ่ในสวนผลไม้ และสวนสมรม
แต่ในปัจจุบัน การกำหนดให้ทำ “สวนยางเชิงเดี่ยว” ที่ปลูกหนาแน่นถึง 70 ต้นต่อไร่ ทำให้ต้นยางมีขนาดเล็ก น้ำยางน้อย ต้นยางมีอายุแค่ 20-30 ปี ต้องโค่น และไม่ทนทานต่อโรค เพราะเหมือนเอาคนขาด้วน 70 คนมารวมอยู่ด้วยกัน สวนยางเชิงเดี่ยวจึงขาดสมดุลนิเวศ ผิดธรรมชาติ และอาจก่อให้เกิดโรคระบาด ดังที่เคยเกิดทวีปอเมริกาใต้ จนไม่สามารถปลูกยางเชิงเดี่ยวต่อไปได้
วิกฤตยางพาราไทย โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อาจกลายเป็นโอกาสที่จะทำให้การทำสวนยางของไทยได้ปรับตัว เพื่อเปลี่ยนองค์ความรู้ และบริบทใหม่ ด้วยการเสนอชุดความคิด เปลี่ยนการทำ “สวนยางเชิงเดี่ยว” มาเป็นการทำ “สวนยางอย่างยั่งยืน” คือ เปลี่ยนสวนยางเป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชร่วมยาง ทำวนเกษตร ปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในสวนยาง ตามแนวทางของธนาคารต้นไม้
โมเดลธนาคารต้นไม้ เสนอปลูกยาง 59 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 3×9 ปลูกต้นไม้ 44 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 4×9 ปลูกพืชเสริม 118 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 2×4.5 ซึ่งโมเดลนี้น้ำยางมีปริมาณเท่าเดิม หรืออาจมากกว่าการปลูกยาง 70 ต้นเชิงเดี่ยวแบบเดิมเมื่อป่ายางมีสมดุลนิเวศมากขึ้น
การทำสวนยางอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ฝากชีวิตไว้กับยางเส้นเดียว ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เสริม หรืออาจเป็นรายได้หลักยามเกิดวิกฤตเรื่องราคายางตกต่ำ อาจเป็นทางออกจากวิกฤตยางพาราไทยที่แท้จริง นอกเหนือจากการส่งเสริมให้แปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า
การทำสวนยางอย่างยั่งยืนได้ ต้องมี “แผนแม่บท” อาจใช้ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย บังคับให้การปลูกแทนต้องใช้โมเดลนี้ ส่วนสวนยางที่ยังไม่ถึงเวลาโค่นเพื่อปลูกใหม่อาจต้องใช้ความสมัครใจ และใช้กลไกเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49(3) เป็นแรงจูงใจ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยไม่เกิน 15 ไร่ และการปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในสวนยาง
รัฐบาลต้องรับรองมูลค่าต้นไม้ที่มีชีวิตให้เป็นทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ ที่ต้องช่วยกันผลักดัน
(ติดตามตอนที่ 5)