“พิชยา ศรเลิศล้ำวาณิช” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดใจชนิดคำต่อคำกับ “MGR Oline ภาคใต้” เพื่อตอกย้ำเรื่องราว “หลวงปู่ทวดรุ่นสร้างวิหาร ม.อ.” ที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้จัดสร้างขึ้นเพียง 2 หมื่นเหรียญ เพื่อมอบให้แก่ผู้บริจาค ระบุชัดใช้แม่พิมพ์บล็อกเดียวกัน และปลุกเสกที่ “วัดช้างให้”
“MGR Oline ภาคใต้” : ทราบว่าทาง รพ.สงขลานครินทร์ กำลังทำโครงการสร้างวิหารหลวงปู่ทวด และประชาชนก็ได้ให้ความสนใจพอสมควร อยากให้ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ?
“พิชยา ศรเลิศล้ำวาณิช” : โครงการสร้างวิหารหลวงปู่ทวดเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 สมัยนั้นคือ รศ.พันทิพย์ สงวนเชื้อ ยังดำรงตำแหน่งคณบดี และท่านก็เป็นประธานมูลนิธิ กรรมการมูลนิธิในสมัยนั้นได้หารือกันว่าจะสร้างวิหารหลวงปู่ทวด โดยจะสร้างหลวงปู่ทวดด้วย เพื่อนำมาประดิษฐานที่วิหารแห่งนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้ป่วย ของญาติ ของบุคลากร ซึ่งคนเหล่านี้มาโรงพยาบาลเพราะความทุกข์กายทุกข์ใจในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ จากนั้นมาก็ได้ไปปรึกษากับ ท่านอาจารย์นอง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดทรายขาว จ.ปัตตานี ท่านก็รับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการที่จะสร้างรูปหล่อหลวงปู่ทวด หน้าตัก 32 นิ้วให้
ต่อมา โครงการนี้ก็ถูกชะลอไปด้วยเหตุผลหลายประการ พอเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ประมาณปลายปี 2556 คณะกรรมการมูลนิธิของ รพ.สงขลานครินทร์ ก็คิดกันว่า เป็นโครงการที่ดี แล้วหลวงปู่ทวดก็เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของทางภาคใต้ ชาวใต้นับถือศรัทธามาก ก็หยิบรื้อโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ ก็มาหารือกัน ทั้งที่ปรึกษา และกรรมการมูลนิธิต่างเห็นชอบด้วยว่า ให้ดำเนินโครงการนี้ต่อ ก็เข้าสู่กรรมการของคณะ ซึ่งก็ให้การสนับสนุน ทางท่านอธิการ และทีมบริหาร ม.อ.ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
จากนั้นมาก็ได้มีผู้ใหญ่หลายท่าน โดยเฉพาะ ท่านบัญญัติ จันทร์เสนะ ท่านเป็นอดีตผู้ว่าฯ สงขลา และ รมช.มหาดไทย ท่านวินัย อดีตผู้ว่าฯ สงขลา แล้วก็ ท่านสายไหม โกวิทยา คุณเนตร จันทรัศมี คุณบุญชัย กรรมการมูลนิธิอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ก็คือนักธุรกิจในเมืองหาดใหญ่ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เป็นกรรมการมูลนิธิอยู่ และก็รวมทั้งท่านอธิการฯ ด้วย ก็ได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสวัดช้างให้รูปปัจจุบัน ท่านพระโกสุนทรณ์ ก็ได้บอกถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ รพ. ของมูลนิธิฯ ว่าเราจะสร้างหลวงปู่ทวด และก็สร้างวิหาร เพื่อให้คนไข้ได้คลายทุกข์ทางใจ ท่านก็ได้เมตตา และก็อนุญาต
: จริงๆ แล้วมีข่าวว่าวัดช้างให้ขึ้นชื่อในเรื่องไม่ใช่ให้ใครไปสร้างพระหลวงปู่ทวดง่ายๆ
ใช่ค่ะ 10 ปีกว่ามาแล้ว เราไป 7 ครั้ง ท่านถึงจะอนุญาต ก็เข้าไปบอกเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า เราไม่ได้มีเจตนาเป็นพุทธพาณิชย์ และท่านก็บอกว่าท่านไม่เคยอนุญาตใครเลย หรือหน่วยงานใดเลย แต่ที่สร้างๆ กันมานี่ท่านบอกว่าสร้าง หรือปลุกเสกที่วัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้นตำรับของการสร้างหลวงปู่ทวดจริงๆ
: หมายถึงว่าการทำพิธีปลุกเสกหลวงปู่ทวดรุ่นสร้างวิหาร รพ.ม.อ.นี่ ทางวัดช้างให้รับเป็นเจ้าภาพเองเลย
จะบอกว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ไหม เพราะว่าต้นแบบทุกอย่างก็มาจากวัดช้างให้ทั้งสิ้น ก็ต้องบอกว่ามูลนิธิฯ ได้รับความเมตตาเป็นอย่างยิ่งทีท่านอนุญาต เมื่อท่านอนุญาตเสร็จแล้วท่านบอกว่าให้ใช้โรงหล่อเดียวกันกับของวัดช้างให้ ก็แปลว่าเป็นแม่พิมพ์เดียวกันเลย
: แสดงว่าแม่พิมพ์ก็เป็นชุดเดียวกันกับของวัดช้างให้
รูปแบบเดียวกัน อันนี้ก็เป็นความเมตตาอีกชั้นหนึ่ง แล้วที่สำคัญกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้ปลุกเสกพร้อมกับของวัดด้วย ซึ่งท่านได้ปลุกเสกให้พร้อมของวัดคือ รุ่นพิพิธภัณฑ์ ในเดือน ต.ค.2558 ก็เป็นความกรุณาอย่างยิ่ง
: อยากทราบว่าทางมูลนิธิฯ จัดสร้างรูปหล่อองค์หลวงปู่ทวดนานหรือยัง องค์ใหญ่ที่จะนำไปประดิษฐานในวิหารหลังนี้
สร้างเมื่อปี 2558 นี่เอง ปลุกเสกเมื่อ 17 ต.ค. เป็นรูปใหญ่หน้าตัก 32 นิ้ว พอปลุกเสกเสร็จเราก็นิมนต์อัญเชิญท่านมาประดิษฐานหน้าโถง รพ.สงขลานครินทร์เลย เพื่อรอการสร้างวิหารจะให้แล้วเสร็จ
: อยากให้เล่าถึงการจัดสร้างวิหารหลวงปู่ทวดหลังนี้
วิหารแห่งนี้ต้องบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่ง คนที่จะออกแบบสร้างวิหารให้เราก็คือ ท่านภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย เคยออกแบบสร้างวัด วิหาร และโบสถ์ทั้งใน และต่างประเทศมาแล้ว ที่สำคัญคือ ท่านเป็นคนสงขลา
: สกุล “สุวรรณคีรี” นี่ชัดเจน
ท่านบอกว่าท่านอยากทำให้บ้านเกิด อันนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาว ม.อ.
: ในความภาคภูมิใจนั้น ทราบว่าศิลปินแห่งชาติออกแบบค่อนข้างที่จะวิลิศมาหรามาก
อลังการมาก งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 22.5 ล้าน ซึ่งทุกคนก็แปลกใจว่าทำไมราคาดูแล้วมูลค่าสูง วัสดุที่ท่านเลือกใช้เป็นวัสดุอย่างดี มีคุณค่า แล้วก็คงทน สวยงาม ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา
: เห็นว่าวิหารหลังนี้จะอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี
ไม้ที่หามานี่เป็นไม้สักอายุ 100 ปี ที่จะมาอยู่ในวิหารแห่งนี้ และหินที่ใช้ก็เป็นหินอ่อนไวท์คาลาลา ซึ่งก็ต้องบอกว่าสั่งตรงมาจากประเทศอิตาลี ซึ่งพวกเราอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่วิหารแห่งนี้จะยังอยู่คู่กับประเทศไทย และ ม.อ.ต่อไป
: ในวิหารหลวงปู่ทวดแห่งนี้นี่จะประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบ้าง
ที่วิหารแห่งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของเราชาวสงขลานครินทร์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในปีเดียวกันที่ท่านเจ้าอาวาสวัดช้างให้อนุญาตให้เราสร้างพระหลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่สมเด็จพระสังฆราชจะสิ้นพระชนม์ไม่นาน พระองค์ท่านได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ 9 พระองค์ มาให้แก่โรงพยาบาล ม.อ. ขณะนี้ก็ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโถงบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล
รวมแล้วจะมี 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในวิหารแห่งนี้ คือ มีพระบรมสารีริกธาตุที่ประทานโดยสมเด็จพระสังฆราช มีพระปางสมาธิที่ท่าน อ.ภิญโญ จะเป็นผู้ออกแบบให้เข้ากับวิหาร และก็เข้ากับยุคสมัยรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน แล้วก็มีรูปหล่อองค์หลวงปู่ทวด โดยพระบรมสารีริกธาตุอยู่สูงสุด แล้วก็พระพุทธรูป แล้วก็หลวงปู่ทวดตามสามลำดับ
: ในส่วนของพระพุทธรูปปางสมาธิได้สร้างแล้วหรือยัง
พระพุทธรูปปางสมาธิยังไม่ได้หล่อ แต่ยังอยู่ในระหว่างการออกแบบ ก็เห็นแบบคร่าวๆ แล้ว หน้าตักกว้างประมาณ 20-23 นิ้ว
: ในส่วนของการจัดหางบประมาณที่จะนำมาใช้ก่อสร้างประมาณ 22.5 ล้านบาท ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว
เนื่องจากว่า มูลนิธิฯ รับเป็นเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นก็ไปเอาเงินที่คนบริจาคให้กันไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสำรองจ่ายไปก่อน เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินได้ต่อไปได้เรื่อยๆ ทีนี้การก่อสร้างที่ดำเนินไปเราก็คิดว่าเราต้องเปิดกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง เรียกว่ากองทุนสร้างวิหารหลวงปู่ทวด ระหว่างที่ระดมทุนนี้ผู้บริจาคก็จะได้รับมอบเหรียญหลวงปู่ทวดไปเป็นที่ระลึกไปด้วย การระดมทุนก็ต้องอาศัยผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายมาบริจาคให้แก่มูลนิธิฯ
: ที่ผ่านมาได้มีการบอกบุญไปบ้างแล้วหรือยัง
เราได้ทำได้ไปบ้างแล้ว ทั้งการประชาสัมพันธ์ภายใน แล้วก็ประชาสัมพันธ์ภายนอกผ่านวิทยุ ม.อ.88 แล้วก็ติดคัตเอาต์ กับโปสเตอร์ทั่วไป ขณะนี้ระดมทุนไปได้ส่วนหนึ่ง
ตอนที่ตั้งกองทุนเริ่มแรกมีสิ่งที่น่ายินดีมากคือ ท่านพระพรหมจริญาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ วัดกระพังสุรินทร์ ท่านได้รับเป็นประธานในวันที่เราวางศิลาฤกษ์วิหารหลังนี้เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2558 แล้ววิหารนี้ก็จะเสร็จประมาณ ม.ค.2560
ระหว่างนี้ก็ระดมทุนไปเรื่อยๆ คนที่บริจาคให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อสร้างวิหารก็จะได้รับเหรียญที่ระลึกไป อยากเชิญชวนว่าเหรียญนี้มีเพียง 20,000 เหรียญเท่านั้น ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดช้างให้อนุญาตให้ทำขึ้นเท่านั้น ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ทวด ด้านหลังของเหรียญเป็นรูปวิหาร ก็มีรุ่นเสมา กับรุ่นเม็ดแตงรวม 2 รุ่นเท่านั้น
: เหรียญหลวงปู่ทวดแต่ละรุ่นใช้เนื้อโลหะอะไรบ้าง แล้วบริจาคเท่าไหร่ถึงจะได้รับไปเป็นที่ระลึก
ประเภทของเหรียญแบ่งเป็น ถ้าเป็นเหรียญเสมา ก็จะมีเนื้อ “เสมาทองแดง” “เสมาทรายทอง” แล้วก็ “เสมาเงิน” ในส่วนของเนื้อเงินนี่คือ เงินแท้ 99.9% แล้วก็ “เสมาทองคำ” ส่วนเหรียญเม็ดแตง ก็จะเป็น “เม็ดแตงอัลปาก้า” ขนาดเล็กๆ อันนี้ก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายด้วย แล้วก็ “เม็ดแตงเงิน” กับ “เม็ดแตงทองคำ”
ถ้าบริจาค 1,000 บาท จะได้เสมาทองแดง 1 เหรียญ เราให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเพื่อเก็บไปเป็นที่ระลึก บริจาค 2,000 บาท จะได้เสมาทรายทอง 1 เหรียญ บริจาค 10,000 บาท ก็จะได้เสมาเงินแท้ และถ้าบริจาค 200,000 บาท จะได้เสมาทองคำ น้ำหนักเสมาทองคำประมาณบาทเศษๆ ส่วนเม็ดแตงถ้าเนื้ออัลปาก้า ก็บริจาค 500 บาท สำหรับบุคคลภายนอก แล้วเราอยากให้บุคลากร ม.อ.เก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ให้บริจาค 200 บาท ส่วนเม็ดแตงเงิน 3,000 บาท แล้วถ้าบริจาค 100,000 บาท จะได้เม็ดแตงทองคำ
: คือทั้งหมดทั้งปวงนี่จะได้วงเงินบริจาคประมาณเท่าไหร่
รวมแล้วจะได้ประมาณ 30 ล้านบาท คือเราบอกว่าค่าจัดสร้างวิหารประมาณ 22.5 ล้านบาท เงินส่วนที่เหลือเราจะนำมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตัก 22 นิ้ว ที่ท่าน อ.ภิญโญ ศิลปินแห่งชาติกำลังออกแบบ ซึ่งรูปลักษณ์จะอลังการมาก ที่ผ่านมา เราเห็นจากที่ท่านนั่งวาดด้วยมือท่านเอง ท่านตั้งใจทำ ยังไม่เสร็จ เสร็จแล้วท่านจะส่งแบบมาให้ดูอีกที
: ตอนนี้ความคืบหน้าของการก่อสร้างวิหารหลวงปู่ทวดไปถึงไหนแล้ว
ตามแผนมีงวดงานที่แบ่งไว้ 20 งวด แล้วไปเสร็จสิ้นเดือน ม.ค.2560 ขณะนี้มีการก่อสร้างแล้วส่งมอบงานกันไปแล้วประมาณ 4 งวด ถือว่าการก่อสร้างก้าวหน้าไปเร็วกว่างวดงานประมาณ 1 เดือนหรือ 30 วัน
วิหารหลังนี้สร้างขึ้นบริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาล ขนาดตัววิหารจริงๆ พื้นที่ 12.5 x 9 ตารางเมตร แล้วก็มีกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็รอบๆ บริเวณวิหารก็จะมีตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามเพื่อให้คนเข้าไปนั่งแล้วเกิดความสงบทางจิตใจได้
: อยากให้บอกเล่าว่าลึกๆ แล้วที่เลือกวิหารหลวงปู่ทวดหน้าโรงพยาบาลเพราะอะไร
ก่อนสร้างก็ถกกันเยอะว่า เราจะเลือกบริเวณใดที่เหมาะสม โรงพยาบาลเป็นจุดรวมของคนที่ทุกข์กาย ต้องใช้คำว่าทุกข์กาย และก็เยอะมาก คนไข้นอกวันหนึ่งประมาณ 3,500 คน แล้วจะมีญาติมาด้วยคิดแค่ 1 คน ก็เพิ่มเป็นประมารณ 7,000 คน แล้วก็คนไข้ในอีกวันละ 800 กว่าเตียง แล้วยังจะต้องมีญาติๆ คอยดูแลอีก นอกจากคนไข้จะได้ไปสักการบูชาแล้ว ญาติๆ ก็จะได้ลงไปนั่งสงบทางจิตใจด้วย นอกจากนี้ บุคลากรของคณะแพทย์เองก็ประมาณ 5,000 กว่าคน แต่ถ้าบุคลากรของทั้งมหาวิทยาลัยก็เป็นหมื่นคน แล้วก็นักศึกษาอีกส่วนหนึ่ง
ถามว่าทำไมเราเลือกบริเวณตรงข้ามอาคารเฉลิมพระบารมี ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาโดยสำนักงานสลาก สนับสนุนงบประมาณเพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีครองราชย์ของในหลวง ทีนี้บังเอิญหันหน้าไปทิศเหนือก็จะเป็นอนุสาวรีย์พระราชบิดา บริเวณนี้จึงถือเป็นศูนย์รวมของหลายๆ อย่าง
: ขอถามตรงๆ ว่าโรงพยาบาล ม.อ.นี่ก็มีพี่น้องหลากหลายศาสนิกมาใช้บริหาร อาจจะมีปัญหาตรงนี้ไหม
อันนี้ก็มีการถกกันเหมือนกันว่า เรามีทั้งทุกศาสนารวมอยู่ ทั้งไทยพุทธ มุสลิม คริสต์ โรงพยาบาลเองก็ให้ความเคารพในสิ่งที่แต่ละคนเคารพศรัทธา โรงพยาบาลมีการจัดสร้างห้องละหมาดให้ชาวมุสลิมได้มีที่สำหรับประกอบกิจทางศาสนา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็คิดชั่งใจกันเรียบร้อยแล้ว และก็เห็นชอบว่าเรามีทุกพื้นที่สำหรับทุกศาสนาแล้ว
: จริงๆ ก็มีวัดโคกนาวอยู่หน้าโรงพยาบาล ม.อ.อยู่แล้ว และวัดก็ช่วยเหลือเกื้อกูลโรงพยาบาลอยู่ตลอด
ถูกต้อง วัดกับโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องเกื้อกัน เมื่อไหร่ที่คนไข้มาโรงพยาบาลไม่มีที่พัก คนไข้ก็ไปพักวัด แล้ววัดตรงนี้เป็นสิ่งที่ในหลวงมองการณ์ไกล พระองค์ท่านมอบเงินให้แก่โรงพยาบาล 3 แสนบาท สมัยที่เสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อปี 2529 แล้วทางโรงพยาบาลก็นำไปร่วมกับทางสโมสรไลออนส์ สโมสรโรตารี่ สร้างอาคารเย็นศิระไว้ที่วัดโคกนาว ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระนามมาด้วย สมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงมาทำพิธีเปิด แล้วอาคารนี้เป็นพิเศษมากที่ไทยพุทธและมุสลิมได้ไปพักอยู่ร่วมกันวันหนึ่งๆ ประมาณ 450 คน ในไปพักก็แค่หยอด 5 บาท เพื่อร่วมสมทบน้ำ-ไฟให้แก่วัด
จริงๆ แล้วเราไม่มีการแบ่งแยก ทั้งพุทธ-มุสลิม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดีมากด้วย เมื่อไหร่เราจัดกิจกรรมอย่างวันปีใหม่ วันสงกรานต์ ทั้งไทยพุทธ-มุสลิมลงมาร่วมกัน
: ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่พร้อมจะบริจาคร่วมสร้างวิหารหลวงปู่ทวดหลังนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง
ง่ายๆ เลยสามารถสอบถามเข้าไปได้ โดยเฉพาะเผื่อจำไม่ได้ว่าบริจาคเงินเท่าไหร่จะได้รับเหรียญที่ระลึกอย่างไร ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในวันเวลาราชการโทรศัพท์ 0-7445-1599 แล้วที่เบอร์กลางของโรงพยาบาล ม.อ. 0-7445-5000 หรือหากมาโรงพยาบาลก็ติดต่อได้เลยที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ จะมีเจ้าหน้าที่ค่อยให้คำแนะนำ ซึ่งก็จะได้รับเหรียญกลับไปเลย หรือทางเว็บไซต์ของคณะแพทย์ศาสตร์ ม.อ.ก็ได้
: เดี๋ยวนี้เขานิยมไปตั้งบูทตามห้างสรรพสินค้ากัน ทางเราทำด้วยไหม
เราไม่ทำเช่นนั้น เนื่องเราเกรงว่าจะเป็นพุทธพาณิชย์ไป เราจะตั้งใจว่าเราจะระดมทุนโดยตั้งหลักอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น แล้วเราจะมีการออกใบเสร็จตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ท่านเจ้าอาวาสวัดช้างให้ด้วยแก่ทุกคนที่บริจาค แม้บริจาค 1,000 บาท ก็ออกใบเสร็จให้ นอกจากส่วนที่ผู้บริจาคนำไปหยอดตู้เท่านั้น ซึ่งก็ไม่สามารถรับเหรียญที่ระลึกไปได้ด้วย
เวลานี้จำนวนเหรียญยังคงเหลืออยู่อีกพอสมควร น่าจะเหลือสักประมาณหมื่นกว่าๆ จากทั้งหมด 2 หมื่นเหรียญตามคำมั่นสัญญากับวัดช้างให้
ท้ายที่สุดนี้ก็อยากจะเชิญชวนว่าถือเป็นโอกาสพิเศษมาก หนึ่งได้บุญมหาศาลในการสร้างวิหาร โอกาสที่จะสร้างวิหารอะไรอีกคงมีน้อยสำหรับ ม.อ. ถือเป็นวิหารแห่งแรกของเราจริงๆ แล้วถ้าบริจาค 100,000 บาทขึ้นไป ท่านก็ได้เป็นผู้มีอุปการคุณของมูลนิธิฯ แล้วใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ที่พิเศษกว่านั้นได้เหรียญหลวงปู่ทวดเป็นที่ระลึกด้วย ซึ่งการบริจาคครั้งอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาสได้รับเหรียญนี้ เพราะการบริจาคเฉพาะเข้ากองทุนนี้เท่านั้น