ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ถือเป็นพลังสังคมออนไลน์เชียงใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย จนสามารถทวงพื้นที่สาธารณะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่าง “ลานข่วงประตูท่าแพ-ธรณีสงฆ์ เชิงบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพ” ที่ถูกยึดไปแสวงประโยชน์มาอย่างยาวนาน คืนกลับเป็นสมบัติส่วนรวมได้ในที่สุด
“ข่วงประตูท่าแพ” สมบัติหน้าหมู่คนเชียงใหม่!!
ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2558 หลังมีการตั้งกระทู้ “กู้ศักดิ์ศรีเชียงใหม่ คืนพื้นที่ลานข่วงท่าแพ” ในเฟซบุ๊ก “Raks Mae Ping” เนื่องจาก “ข่วงประตูท่าแพ” ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ก และสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติที่แวะเวียนกันเข้าไปถ่ายรูป และทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมโพสต์ภาพ “ลานข่วงท่าแพ” เปรียบเทียบระหว่างปี 2557 กับปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยร้านค้าขายสินค้า และอาหาร รวมทั้งมีการตั้งลานเบียร์ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อน ทำให้ภาพเดิมๆ ของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้หายไป และยังถามหาความรับผิดชอบจากเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการดูแลพื้นที่ข่วงประตูท่าแพ แต่กลับปล่อยให้มีการจัดแต่กิจกรรมขายสินค้า อีกทั้งในบางโอกาสได้มีการตั้งเป็นลานเบียร์ ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ที่มีมายาวนาน
ขณะที่ “ผู้จัดการ 360-MGR Online” ได้นำเสนอข่าว (คนเชียงใหม่แห่ทวงคืน “ข่วงท่าแพ” วิจารณ์ตรึมโดนยึดให้เช่าขายของทั้งปีทั้งชาติ) โดยแหล่งข่าวจากวงการมัคคุเทศก์เชียงใหม่ ระบุว่า ความจริงเรื่องทัศนียภาพบริเวณข่วงประตูท่าแพมีการพูดคุยกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในวงธุรกิจท่องเที่ยว ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า น่าจะมีการกันพื้นที่ลานประตูท่าแพเป็นพื้นที่โล่ง หรือหากมีการจัดงานก็ไม่ควรจะมีถี่มากนัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาจังหวัดเชียงใหม่มักจะแสดงความประสงค์ที่ต้องการมาเห็นประตูท่าแพที่ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวมักให้ความสำคัญ และมาครั้งหนึ่งก็ขอได้มาบันทึกภาพบริเวณประตูท่าแพกลับไปอวดเพื่อนฝูงบ้าง แต่ระยะหลังแทบจะหาข่วงที่ประตูท่าแพแบบว่างๆ แทบไม่ได้
ขณะที่คนในวงการจัดตลาดนัดร้านค้าแผงลอยก็ยืนยันว่า พื้นที่ข่วงท่าแพถูกนำไปจัดสรรแบ่งให้เช่าต่อล็อกต่อครั้ง ประมาณ 4,500 บาท เวลาจัดแต่ละครั้งมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 300 ล็อก รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,350,000 บาทต่อครั้ง คิดง่ายๆ ถ้าปีหนึ่งจัด 24 ครั้ง จะมีเงินค่าเช่าเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 32,400,000 บาท แต่ละครั้งก็ดูเหมือนว่าไม่เคยมีการออกใบเสร็จแต่อย่างใด
วันที่ 20 ตุลาคม 2558 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเรื่องการเรียกร้องขอทวงคืนพื้นที่ข่วงประตูท่าแพเป็นข่วงของประชาชนว่า ต้องมีการตรวจสอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ประชาชนได้มาร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดเชียงใหม่ก่อน และจะดำเนินการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเช่าแผงขายสินค้าว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เงินส่วนนี้อยู่ที่ไหน ที่อ้างว่านำไปพัฒนานั้นพัฒนาส่วนไหน อย่างไร และใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะถึงแม้ทางจังหวัดเชียงใหม่จะไม่ใช่ผู้ที่ดูแลข่วงประตูท่าแพโดยตรง แต่ก็ต้องถือว่าข่วงประตูท่าแพเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นหน้าตาของจังหวัดเช่นเดียวกันกับสถานท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ในที่สุด เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ “ข่วงประตูท่าแพ” ก็ประกาศงดที่จะอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่หลังจากที่เสร็จสิ้นการจัดงานประเพณียี่เป็งปี 2558 จนกระทั่งถึงการจัดงานเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 720 ปี จึงจะมีการพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนของการจัดงานถนนคนเดินวันอาทิตย์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการใช้พื้นที่ข่วงประตูท่าแพด้วยนั้น เบื้องต้น ยังคงให้จัดงานได้ตามเดิม แต่จะมีการพิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 720 ปี และอนุรักษ์เมืองเก่าด้วย
ได้คืนธรณีสงฆ์-บันไดพญานาค วัดดอยสุเทพฯ
“เชิงบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการนำไปใช้ตั้งร้านค้า กางร่ม ตั้งโต๊ะขายสินค้าระเกะระกะจนมองไม่เห็นภาพบันไดขั้นแรกไปจนถึงป้ายสุดท้ายก่อนขึ้นถึงตัววัดได้เหมือนในอดีต สื่ออาสา “Raks Mae Ping” และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ชุมชนคนล้านนา” ได้เริ่มจุดประกายทวงคืน “บันไดพญานาค ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” พื้นที่ธรณีสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ด้วยการโพสต์ภาพเชิงบันไดวัดที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า และร่มกันแดด จนมองแทบไม่เห็นทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ พร้อมข้อความ “ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ... อยู่หนายยย?” ติดแฮชแท็ก เทศบาลตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่
“ผู้จัดการ 360 - MGR online” นำเสนอข่าวการทวงคืน “บันไดพญานาค ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” พื้นที่ธรณีสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า และร่มกันแดด “บิณฑบาตแล้วไม่ได้! ธรณีสงฆ์เชิงบันไดพญานาค “วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” และที่แท้คนพื้นราบยึดธรณีสงฆ์ “วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” ตั้งแผงลอย จับแล้ว-ขอแล้วยังมาอีก” โดยพบว่า ผู้ค้าที่นำของมาตั้งขายบริเวณทางเดินหน้าบันไดนาค เป็นกลุ่มผู้ค้าในลานด้านซ้ายของบันไดที่ทางวัดจัดโซนนิ่งไว้ให้ โดยขยับเข้ามาจับจองกันเองมากว่า 10 ปี ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก 2549 ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งร้านค้าแผงลอยตามบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯฯ มีเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เพราะชาวเขาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ดอยปุยมากกว่าจะลงมาที่วัดฯ แต่คนที่มาค้าขายกันในปัจจุบันนี้ มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ไปชักชวนญาติพี่น้องคนรู้จักใน อ.หางดง สันป่าตอง ฯลฯ ซึ่งเป็นคนพื้นราบแทบทั้งสิ้นมาปักหลักค้าขายกัน ส่วนค่าเช่าหรือรายจ่ายอื่นใดนั้นแทบจะไม่มีปรากฏว่ามีการเก็บแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงค่าขยะรายเดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ก็เคยไปบิณฑบาตขอพื้นที่ดังกล่าวคืนให้แก่ทางสงฆ์ รวมทั้งมีความพยายามจัดระเบียบพื้นที่เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นระเบียบตาแก่พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากราบไหว้นมัสการที่วัด แต่ก็ยังคงมีการตั้งร้านขายของกันเรื่อยมา โดยทางวัดไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด
นายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ และกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงปัญหาพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านค้าแผงลอยบริเวณบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ว่า เรื่องดังกล่าวมีการพยายามแก้ไขปัญหากันมาตลอด ก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมร่วมกัน 6 ฝ่าย ทั้งวัดฯ อุทยานฯ นายอำเภอ เทศบาล ตำรวจภูพิงค์ และชาวบ้านที่ค้าขาย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน ช่วงแรกใช้กฎหมายเป็นหลักอุทยานฯ ฟ้องไปแล้ว 18 ราย แต่พอ 18 รายโดนฟ้องไป กลับมีคนเข้ามาเพิ่มใหม่อีก หลังจากนั้น ก็ใช้กฎชุมชน ให้ชุมชนควบคุมกันเอง ใครเข้าใครออกให้ดูแลกันเอง และจำนวนต้องไม่เพิ่มขึ้น แต่แล้วก็ควบคุมกันไม่ได้ มีการรุกล้ำเข้ามาเรื่อยๆ ทางวัดก็เข้าไปเจรจาก็ไม่เป็นผล หรือแม้แต่ทางอุทยานฯ เองก็เข้ามาขอร้องเรื่องการจัดระเบียบต่างๆ ก็จะดีเฉพาะช่วงแรกๆ นานวันเข้าก็เหมือนเดิมอีก
ในที่สุด นายศรัญญู มีทองคำ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ-ปุย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสุเทพ รอง ผกก.สภ.ภูพิงค์ เจ้าหน้าที่ทหารชุดมวลชนสัมพันธ์ กองพันพัฒนาที่ 3 เจ้าหน้าที่แขวงการทางเชียงใหม่ และผู้ค้าทั้งหมด เข้าร่วมประชุมผู้ค้าแผงลอยเชิงบันไดดอยสุเทพ โดยมีการคืนพื้นที่ธรณีสงฆ์เชิงบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ดำเนินการจับสลากแผงค้าให้กลุ่มผู้ค้าเข้าพื้นที่ ย้ายแผงลอยทั้งหมดไปอยู่พื้นที่ใหม่ที่จัดสรรให้ผู้ค้าจับฉลากจับจองพื้นที่ตั้งแผงสินค้าขนาด 2.30 เมตร รวม 60 ล็อกแทน
พลังทางสังคมคนเมืองเชียงใหม่ ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่นอน!!