xs
xsm
sm
md
lg

บิณฑบาตแล้วไม่ได้! ธรณีสงฆ์เชิงบันไดพญานาค “วัดพระธาตุดอยสุเทพ” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
เชียงใหม่ - สะพัดผู้ว่าฯ ย้ำกลางวง คืน “ลานข่วงท่าแพ” ให้คนเชียงใหม่ ฉลอง 720 ปี หลังถูกจัดสรรให้เช่าตั้งแผงขายของทั้งปีทั้งชาติ จนวิจารณ์กันกระหื่มเมือง ขณะที่สื่ออาสาฯ จุดประกายทวงที่ธรณีสงฆ์ “บันไดพญานาควัดพระธาตุดอยสุเทพ” ต่อ เผยเคยบิณฑบาตขอคืนพื้นที่สงฆ์แล้ว แต่ไม่ได้


หลังมีกระแสเรียกร้องทวงคืน “ลานข่วงท่าแพ” แลนด์มาร์กสำคัญของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งมีการตั้งกระทู้ “กู้ศักดิ์ศรีเชียงใหม่คืนพื้นที่ลานข่วงท่าแพ” ในเฟซบุ๊ก “Raks Mae Ping” เพื่อถามหาความรับผิดชอบจากเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการดูแลพื้นที่ข่วงประตูท่าแพ ซึ่ง “ผู้จัดการ 360” ได้นำเสนอข่าวพร้อมคลิป (คนเชียงใหม่แห่ทวงคืน “ข่วงท่าแพ” วิจารณ์ตรึมโดนยึดให้เช่าขายของทั้งปีทั้งชาติ) นั้น

ต่อมา ระหว่างการประชุมหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มี นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งระหว่างที่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ชี้แจงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ลานข่วงท่าแพ ทำนองว่า กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ส่วนราชการ องค์กรการกุศลต่างๆ ที่มีแผนใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม อาจต้องสำรองสถานที่อื่นไว้ พร้อมปฏิเสธด้วยว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่เพื่อขายของด้วยนั้น

ว่ากันว่า ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ สรุปกลางวงว่า “ไม่ต้องสำรอง หาที่ใหม่เลย เพราะจะทำเพื่อฉลอง 720 ปี (เชียงใหม่)”

นอกจากนี้ นายปวิณ ยังกล่าวย้ำต่อตัวแทน “Raks Mae Ping” ด้วยว่า ลานข่วงท่าแพ เป็นของคนเชียงใหม่ และจะเป็นแลนด์มาร์กของเชียงใหม่ตลอดไป

และล่าสุด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ และการอนุรักษ์เมืองเก่าขึ้นอีก ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ “ข่วงประตูท่าแพ” จึงประกาศงดที่จะอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่หลังจากที่เสร็จสิ้นการจัดงานประเพณียี่เป็งปี 2558 นี้เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงการจัดงานเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 720 ปี จึงจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนของการจัดงานถนนคนเดินวันอาทิตย์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการใช้พื้นที่ข่วงประตูท่าแพด้วยนั้น เบื้องต้น ยังคงให้จัดงานได้ตามเดิม แต่จะมีการพิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 720 ปี และอนุรักษ์เมืองเก่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สื่ออาสา “Raks Mae Ping” และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ชุมชนคนล้านนา” ได้เริ่มจุดประกายทวงคืน “บันไดพญานาค ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ” พื้นที่ธรณีสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ด้วยการโพสต์ภาพเชิงบันไดวัดที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า และร่มกันแดด จนมองแทบไม่เห็นทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ พร้อมข้อความ “ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ... อยู่หนายยย?” ติดแฮตแทค เทศบาลตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่

จนกลายเป็นเรื่องที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วทั้งเชียงใหม่ รวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริเวณโซนซ้ายมือบันไดทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีแผงลอยร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่บนฟุตปาธทางเดินริมถนนมากกว่า 50 ร้าน ขณะที่บริเวณเชิงบันไดพญานาค ก็มีแผงลอยของพ่อค้าแม่ขายตั้งระเกะระกะ พร้อมร่มผ้าใบหลากสีสันกางบดบังบันไดพญานาคมากกว่า 60 ราย

พื้นที่ดังกล่าวจากตรวจสอบเป็นธรณีสงฆ์ โดยมีขายสินค้าตั้งแต่กระเป๋าผ้าสินค้าชาวเขา ตลอดจนผลไม้อาหารเครื่องดื่มไว้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำเด็กชาวเขาเผ่าม้งตัวเล็กๆ อายุไม่น่าจะเกิน 3 ขวบ กับเด็กโต 10 ขวบ สวมชุดชาวเขามาดักรอถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวเพื่อเก็บเงินด้วย

ว่ากันว่าหากจะมาตั้งร้านขายของบริเวณนี้ต้องรอผู้เช่ารายเก่าออกก่อน แล้วเซ้งต่อเป็นรายปี และจ่ายเป็นรายเดือนด้วย ถึงจะเข้ามาขายของได้

แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ทราบว่า ผู้ค้าที่นำของมาตั้งขายบริเวณทางเดินหน้าบันไดนาค เป็นกลุ่มผู้ค้าในลานด้านซ้ายของบันไดที่ทางวัดจัดโซนนิ่งไว้ให้ โดยขยับเข้ามาจับจองกันเองมากว่า 10 ปี ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก 2549

ก่อนหน้านี้ พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็เคยไปบิณฑบาตขอพื้นที่ดังกล่าวคืนให้แก่ทางสงฆ์ รวมทั้งมีความพยายามจัดระเบียบพื้นที่เมื่อปี 56 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นระเบียบตาแก่พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากราบไหว้นมัสการที่วัด แต่ก็ยังคงมีตั้งร้านขายของกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยทางวัดไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Raks Mae Ping



กำลังโหลดความคิดเห็น