xs
xsm
sm
md
lg

“แล้ว-ยัง-งัย”..?! เมื่อรัฐบาลลุงตู่ยอมตั้ง “กก.ไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก Green peace
 
รายงาน...ศูนย์ข่าวภาคใต้

เมื่อ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยให้เหตุผลว่าด้วยการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นโครงการที่มีผลกระทบในวงกว้าง สมควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอันนำไปสู่การดำเนินโครงการที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

โดยคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ประกอบด้วย คณะกรรมการ จำนวน 29 คน มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานกรรมการ และมีผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ รวมทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน และนักวิชาการร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
 

 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ประกอบด้วย 1.ศึกษาแนวทางและเสนอแนะการกำหนดนโยบายและมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2.อำนวยการเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้โดยพุ่งเป้าไปที่ จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา จากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน จ.ตรัง นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า
 

 
ทั้งนี้ ภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เหตุผลว่า มีบทเรียนจากทั่วโลกที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์เป็นที่สรุปแล้วว่า ถ่านหินเป็นพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในทุกๆ ด้าน หลายประเทศจึงทยอยยุติการใช้พลังงานถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ซึ่งหันมาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอย่างเอาจริงเอาจังในขณะนี้

ภายหลังการรัฐประหาร ภาคประชาชนหวังเห็นประเทศชาติเดินหน้าปฏิรูปพลังงานอย่างจริงจังโดยยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และมีความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร ในข้อเรียกร้องหนึ่งของประเด็นการปฏิรูปพลังงานคือ ให้ถอดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดออกจากแผน PDP

แต่ปรากฏว่า รัฐบาลชุดนี้กลับมีนโยบายเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา เดินหน้าแบบลุกลี้ลุกลนท่ามกลางการคัดค้านของภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีเครือข่ายนักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านด้วยจำนวนมาก โดยมีการเปิดเผยข้อมูลหลายด้านที่หน่วยงานภาครัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ไม่ได้มีการนำเสนอให้เป็นที่เข้าใจให้แก่ภาคประชาชน
 

 
นอกจากนี้ ยังพบว่า กฟผ.ดำเนินงานโดยเข้าข่ายละเมิดกฎหมายในหลายขั้นตอน เครือข่ายภาคประชาชนพบข้อสงสัยว่ามีการใช้อามิสสินจ้างสร้างให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ฯลฯ ตลอดจนการสร้างวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนมองว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนทั่วไป สะท้อนให้เห็นว่า กฟผ.และรัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้สำเร็จ

เป็นที่น่าสนใจว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับจากไปร่วมประชุมการแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แต่ทว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ตอนหนึ่งที่ว่า “ด้วยการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นโครงการที่มีผลกระทบในวงกว้าง สมควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอันนำไปสู่การดำเนินโครงการที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”

ขณะที่ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน พบว่า มีเพียงข้อเรียกร้องเดียวที่ต้องการให้รัฐบาลปฏิบัติโดยทันทีคือ ถอดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดออกจากแผน PDP ของประเทศ จึงน่าติดตามต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้จะลงท้ายเหมือนกับคณะกรรมชุดปฏิรูปพลังงานที่รัฐบาลได้แต่งตั้งมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลก็จะยังคงเผชิญต่อกระแสการคัดค้านจากภาคประชาชนทั่วประเทศต่อไป ตราบใดที่การปฏิรูปประเทศว่าด้วยการปฏิรูปพลังงาน ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น