xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้น “เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี” ไฟเขียวเพิ่มทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ถือหุ้น “เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี” ไฟเขียวแผนอนุมัติแผนลงทุน และแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 492,597,533.30 บาท จากเดิม 224,567,750 บาท โดยออกหุ้นสามัญ 2,680,297,833 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท รวมเป็นเงิน 268,029,783.30 ล้านบาท รองรับแผนรุกหนักขยายการลงทุนครั้งใหญ่ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC ผู้ออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าและตรวจวัดจัดการสภาพแวดล้อม รวมถึงผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่ครอบคลุมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานขยะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ได้อนุมัติแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 492,597,533.30 บาท จากเดิม 224,567,750 บาท โดยออกหุ้นสามัญ 2,680,297,833 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท รวมเป็นเงิน 268,029,783.30 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรหุ้นสามัญ ไม่เกิน 2,211,419,375 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) ในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.40 บาท

ส่วนที่เหลือจะรองรับการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ PSTC-W1 จำนวนไม่เกิน 442,283,875 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ให้แก่ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอัตรา 5 หุ้นสามัญ ต่อ 1 หน่วยใบแสดงสำคัญสิทธิ ในราคา 0.50 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าจะได้รับเงินทั้งสิ้น 1,106 ล้านบาท รองรับแผนขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติแผนลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 13 MW แบ่งเป็นเข้าลงทุนซื้อหุ้นที่ออก และจำหน่ายแล้วทั้งหมดในบริษัท อรัญ เพาเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย กำลังการผลิตไฟฟ้า 4 MW ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งโครงการไม่เกิน 405 ล้านบาท ขณะเดียวกัน อรัญเพาเวอร์ ยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. อีก 4 MW ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างเพิ่ม โดยมีกำหนดวัน SCOD ในวันที่ 30 กันยายน 2560

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจะเข้าซื้อหุ้นที่ออก และจำหน่ายทั้งหมดในบริษัท เศรษฐีสุพรรณ ไบโอกรีน เพาเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย กำลังการผลิต 2 MW ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าลงทุนรวมในโครงการนี้ไม่เกิน 197 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลผ่านบริษัท ไบโอโกกรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกหลายโครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุโขทัย และอุดรธานี โดยแต่ละโครงการมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 990 กิโลวัตต์ รวมทั้ง 3 โครงการมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2.97 MW ซึ่งใช้เงินลงทุนโครงการละ 120 ล้านบาท หรือรวมเงินลงทุนประมาณ 360 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก กฟภ. เรียบร้อยแล้ว

“การที่ผู้ถือหุ้นเห็นชอบแผนลงทุน และแผนเพิ่มทุนในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในทิศทางการดำเนินงานของ PSTC ต่อจากนี้ ที่ต้องการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการเติบโตให้ก้าวกระโดด โดยภายในปี 2559 จะรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียทั้งหมด 13 MW และในปี 2560 จะรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย และชีวมวลเพิ่มอีก 11 MW ทำให้ในปี 2560 บริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 24 MW ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และขยะ หรือโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ ที่คาดว่าจะได้รับงานมาอีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย หลังจากที่ได้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 3 โครงการ รวม 15 MW และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมอีก 7 โครงการ รวม 35 MW ซึ่งคาดว่า กกพ. จะจัดให้มีการจับสลากโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการฯได้ภายในต้นปี 2559 นี้” นายพระนาย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น