กระทรวงพลังงานเร่งเครื่อง 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว เกาะติด PDP ลั่นยังพร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยปี 2559 โรงไฟฟ้าหงสาเข้าระบบเต็มพิกัดจะมีส่วนสำคัญให้สัดส่วนก๊าซฯ ผลิตไฟลดลงจาก 64% เหลือ 60% ขณะที่ พพ.พร้อมเข็นมาตรการส่งเสริมการประหยัดใช้พลังงาน
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้ง 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) และแผนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และเบื้องต้นเชื่อว่าในปี 2559 นักธุรกิจนักลงทุนจากในและต่างประเทศจะเกิดความมั่นใจในการวางแผนด้านพลังงานของไทยที่จะเป็นกลไกสำคัญช่วยเสริมศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
“แผน EEP ถือเป็นแผนสำคัญเพราะมีผลต่อแผนอื่นๆ ปี 59 เราจะมุ่งเน้นปฏิบัติ ส่วนแผน PDP ขณะนี้เราก็จะต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็รับฟังความคิดเห็นรอบ 3 ไปแล้ว และจะต้องหารือกันในคณะกรรมการไตรภาคี ขณะนี้แผนก็ยังคงเดินหน้าตามปกติเรายังไม่มีแผนสำรองอะไร” นายอารีพงศ์กล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.จะติดตามแผน PDP 2 ส่วน คือ ด้านการใช้ (ดีมานด์) เช่น ความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีก) และด้านการผลิต (ซัปพลาย) ซึ่งจะติดตามไฟฟ้าที่จะต้องเข้าระบบตามแผน การบริหารจัดหาเชื้อเพลิงและระบบส่ง ซึ่งปี 2559 จะเป็นปีแรกที่จะเห็นการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 64% เหลือ 60% จากการเข้ามาของโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์จาก สปป.ลาวที่จะเข้ามาเพิ่มเป็นยูนิตที่ 3 ในช่วง มี.ค. 59 ทำให้สัดส่วนถ่านหินเพิ่มจาก 19% เป็น 22-23% ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการดูแลค่าไฟฟ้าในปี 59 ด้วยเพราะมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำเพียง 2.2 บาทต่อหน่วย
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ปี 59 พพ.มีโครงการสำคัญที่จะลดใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินผ่านรูปแบบเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงิน 4,500 ล้านบาทปีหน้า จะเริ่มปล่อยงบสนับสนุนได้ 1,845 ล้านบาทผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกิน 3.5% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น แอร์ คอมเพรสเซอร์ ชิลเลอร์ เป็นต้น