ลำปาง - ชาวบ้าน 4 ชุมชนใกล้ที่ทิ้งดิน กฟผ.แม่เมาะ เจอผลกระทบทั้งฝุ่น กลิ่น เสียง ต้องขออพยพหนีมานานไม่พอ ล่าสุด เจอแล้งจัด ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ อบต.ต้องสูบน้ำจากลำห้วยที่ไหล่จากเขาผ่านที่ทิ้งดินเหมืองลิกไนต์จนน้ำขุ่นแดงแจกจ่ายให้ เผยบางครัวเรือนต้องใช้สารส้มแกว่งไว้ดื่ม
วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ อบต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ต้องนำรถดับเพลิงไปสูบน้ำดิบที่ไหลจากภูเขา และที่ทิ้งดินของ กฟผ.แม่เมาะ จนเป็นสีแดงขุ่นลงลำห้วยธรรมชาติที่เหลือแห่งเดียวในพื้นที่ ก่อนนำไปเติมในถังน้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบอม ซึ่งจะต้องเติมน้ำเป็นประจำ ประมาณ 70 ครัวเรือน บ้านดงหัวฝาย บ้านท่าสี และบ้านจำปุย ที่จะเข้าไปเติมเป็นบางครั้ง
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่มีน้ำใช้ในครัวเรือน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงกลางฤดูฝนก็ตาม ซึ่งครอบครัวที่มีเงินพอก็จะใช้น้ำนี้ล้างถ้วยล้างชาม ซักผ้าเท่านั้น ส่วนน้ำดื่มก็จะซื้อน้ำสะอาดมาดื่มแทน แต่บ้านที่ฐานะไม่ดีก็ต้องใช้น้ำดังกล่าวทั้งอุปโภคบริโภค โดยนำมากรอง หรือใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอนเพื่อใช้ดื่ม
นายศุกร์ ไทธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า กฟผ.แม่เมาะ ได้ใช้พื้นที่ ต.บ้านดง เป็นที่ทิ้งมูลดินจากเหมืองลิกไนต์ถึง 2 หมื่นไร่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น กลิ่น เสียง และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ต้องขออพยพออกนอกพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เป็นผลชาวบ้านยังคงต้องอยู่ในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ แหล่งน้ำต่างๆ ที่ชาวบ้านเคยใช้นั้นเดิมเคยมีลำห้วยถึง 4 สาย และใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ขามท่าสี ได้ แต่หลังจาก กฟผ.แม่เมาะ เข้ามาดำเนินงานได้มีการตัดทางเดินของลำห้วยทั้งหมด พร้อมทำคลองส่งน้ำนำน้ำเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยทำประตูน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ
โดยเฉพาะในบ้านหนองบอม ซึ่งมีประมาณ 70 ครัวเรือน ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค อบต.ต้องขอให้ทาง กฟผ.จัดซื้อถังบรรจุน้ำไว้หน้่บ้านทุกหลัง หากบ้านไหนอยู่ติดกันและสามารถใช้ถังน้ำร่วมกันได้ก็ใช้ร่วมกัน 1 ถังต่อ 2 ครัวเรือน แต่ อบต.บ้านดง ต้องเพิ่มภาระหน้าที่ในการนำน้ำไปเติมให้เป็นประจำ ซึ่ง อบต.เองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากงานหลักจะกลายเป็นเรื่องการบรรทุกน้ำไปเติมให้ชาวบ้านแทน
“อบต.บ้านดง เคยขอให้มีการจัดสร้างประปาหมู่บ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านทั้ง 4 แห่งนี้ไปแล้ว แต่ทางรัฐบาลกลับปฏิเสธ โดยอ้างว่าหมู่บ้านดังกล่าวในอนาคตจะต้องย้ายออกนอกพื้นที่ จึงไม่อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง ขณะที่เรื่องการขออพยพก็ยังไม่เดินไปถึงไหน ทำให้ชาวบ้านต้องทนต่อความเดือดร้อนจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหากมองแล้วจะเห็นว่าอำเภอแม่เมาะ มีรายได้จำนวนมาก แทบจะมากที่สุดของจังหวัด แต่ทำไมชาวบ้านในพื้นที่ยังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่”