xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่เป็นธรรมเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและค่าเอฟที : ปัญหาหลักอยู่ที่ไหน? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน


ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้สึกเหมือนกับผมว่า ในช่วง 2 ปีมานี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ทำไมราคาค่าไฟฟ้าในบ้านเราจึงลดลงเพียงนิดเดียว ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของไฟฟ้าผลิตจากก๊าซธรรมชาติซึ่งโดยปกติก็มักจะแปรผันตามราคาน้ำมันดิบ ข้อมูลที่หน่วยราชการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอปรับค่าเอฟทีแต่ละรอบก็เต็มไปด้วยข้อกังขา ในบทความนี้ผมจะนำเสนออย่างง่ายๆ และอ่านสบายๆ มีลำดับเป็นข้อๆ อาจจะมีกราฟบ้างแต่ก็เพียงเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น คนที่ไม่ชอบกราฟก็สามารถข้ามไปได้เลยครับ

อย่าลืมนะครับว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะทุกๆ 10 สตางค์ของค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เปลี่ยนไปเมื่อรวมกันเข้าคิดเป็นเงินถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงจำเป็นที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องรู้เท่าทัน และร่วมกันผลักดัน

ข้อที่หนึ่ง ทำไมค่าไฟฟ้าฐานต่อหน่วยของผู้อยู่อาศัยจึงแพงกว่าของผู้ใช้ไฟใน “กิจการขนาดใหญ่”

จากเอกสารของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ทางซ้ายมือของแผ่นสไลด์) พบว่าอัตรา “ราคาค่าไฟฟ้าฐาน” ของผู้อยู่อาศัยประจำเดือนสิงหาคม 2557 เท่ากับ 3.38 บาท ในขณะที่ “กิจการขนาดใหญ่” (ซึ่งใช้ไฟฟ้ามากถึง 43% ของประเทศ) เท่ากับ 2.98 บาท หรือแพงกว่ากันถึง 40 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับตัวเลข “3.2708” ในภาพ คือ ค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันเขาเฉลี่ยอย่างไร
 

 
คำว่า “ราคาค่าไฟฟ้าฐาน” พูดกันง่ายๆ ก็คือ ราคาต้นทุนบวกกำไรของการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผันแปรตามราคาเชื้อเพลิงในระยะสั้น รวมทั้งไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐ อันได้แก่ ค่าโรงไฟฟ้า ค่าสายส่ง และค่าเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น โดยปกติ ค่าไฟฟ้าฐานจะเปลี่ยนทุก 3 ถึง 5 ปี ตามสถานการณ์ระยะยาวๆ ครั้งสุดท้ายก่อนนี้ได้ปรับเมื่อกลางปี 2554 และได้ปรับใหม่ล่าสุด และได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อพฤศจิกายน 2558

ค่าไฟฟ้าอีกตัวหนึ่ง เราเรียกกันติดปากว่า “ค่าเอฟที” (Fuel Adjustment Charge at the Given Time) ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิง และนโยบายของรัฐบาล เช่น การอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน การใช้ไฟฟ้าฟรีของผู้มีรายได้น้อย และกองทุนรอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น

หลังจากผมได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ว่า ผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศ (ซึ่งใช้ไฟฟ้า 24% ของประเทศ) จ่ายค่าไฟฟ้าฐานแพงกว่าเจ้าของ “กิจการขนาดใหญ่” (ซึ่งใช้ไฟฟ้าถึง 43% ของประเทศ) หลายคนรู้สึกโกรธมาก ถึงกับบอกว่า “อย่ายอมนะอาจารย์” แต่เท่าที่ผมตรวจสอบดูเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วพบว่า มีเพียงประเทศเดียวที่ผู้อยู่อาศัยจ่ายในอัตราที่ถูกกว่าภาคอุตสาหกรรม คือ ประเทศคิวบา ครับ หลักคิดดังกล่าวจึงเป็นหลักคิดของระบบทุนนิยมครับ

ประเด็นที่สาหัส และรุนแรงกว่านี้ก็คือ ข้อมูลที่บอกว่า ผู้อยู่อาศัยจ่ายค่าไฟฟ้าฐาน 3.3841 บาทต่อหน่วยนั้น ยังน้อยเกินไป ที่จริงแล้วยังแพงกว่านี้อีกแพงกว่าเยอะด้วย แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้วหลังจากสิ้นเดือนตุลาคม 2558 อย่างไรก็ตาม ผมได้จดบันทึกยอดรวมไว้ เมื่อคำนวณย้อนกลับแล้วพบว่า “ผู้อยู่อาศัยประเภท 1.2 ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 500 และ 1,000 หน่วย ในเดือนมิถุนายน 2558 จะจ่ายค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ยหน่วยละ 3.564 และ 3.749 บาท ตามลำดับ (ไม่ใช่ 3.3841)”

โดยที่ค่าไฟฟ้ารวมสำหรับบ้านอยู่อาศัยเดือนละ 500 หน่วย และ 1,000 หน่วย ได้จ่ายค่าไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคมรวม 2,174 และ 4,543 บาท ตามลำดับ บ้านใครจ่ายเท่าใดก็ลองคิดเทียบเคียงเอาเองนะครับ

โดยสรุป สำหรับผู้อยู่อาศัย ใครใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าฐานจะสูงขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการแล้ว ยิ่งใช้มาก อัตราค่าไฟฟ้าฐานจะลดลง ผมว่ามันแปลกๆ อยู่นะครับ 

ภาพข้างล่างนี้ คือ ผลจากการใช้โปรแกรมคิดค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง สำหรับผู้อาศัยประเภท 1.2 (เมื่อธันวาคม 58) ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วยดูกันชัดๆ ครับ ใครที่ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปใช้ดูนะครับ ง่ายมาก
 

 
ถ้าเราเชื่อตามตัวเลขของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่า กิจการขนาดใหญ่จ่ายค่าไฟฟ้าฐานหน่วยละ 2.981 บาท และเอาตัวเลขค่าไฟฟ้าฐานใหม่ของผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 500 และ 1,000 หน่วย คือ 3.564 และ 3.749 บาท (ในเดือนกรกฎาคม 58) พบว่า ค่าไฟฟ้าฐานของผู้อยู่อาศัยจะแพงกว่ากิจการขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 0.583 ถึง0.768 บาท คิดเฉพาะส่วนที่แพงกว่าเป็นร้อยละ 20 และ 26% ของกิจการขนาดใหญ่

ที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นความไม่เป็นธรรมเฉพาะในเรื่อง “ค่าไฟฟ้าฐาน” ระหว่างผู้อยู่อาศัย กับเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะได้รับการส่งเสริมการลงทุน และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และอื่นๆ ในช่วง 8 ปีแรกอีกต่างหาก

ข้อที่สอง ทำไมราคาน้ำมันดิบลดลงกว่า 53% แต่ราคาค่าไฟฟ้าจึงลดลงนิดเดียว 

นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงจากประมาณ 3,500 บาทต่อบาร์เรล ลงมาเหลือประมาณ 1,500 บาทต่อบาร์เรล ราคาก๊าซในตลาดสากลก็มีลักษณะคล้ายกัน แม้รายละเอียดจะไม่ครบถ้วน แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่ามันมีความสัมพันธ์กันอยู่ ผมได้นำกราฟมาลงให้ดูด้วย อาจจะยุ่งไปบ้าง ถ้ารู้สึกปวดหัวก็ข้ามไปเลยครับ
 

 
เพื่อความชัดเจน และแม่นยำกว่านี้ ผมจึงได้นำข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาเขียนกราฟ พบว่า ราคาน้ำมันดิบ (สำหรับการคิดค่าภาคหลวง ไม่รวมค่าการตลาด) ก็มีราคาใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก และมีลักษณะแกว่งขึ้นลง โดยสรุป นับจากเดือนมกราคม 2557 จนถึงตุลาคม 2558 ได้ลดลง 53.3% 
 

 
แต่สิ่งที่สร้างความแปลกใจให้ผมมากก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะในประเทศไทยเกือบจะคงที่ตลอด แต่สรุปก็ลดลง 15.5% ในช่วง 22 เดือนที่ผ่านมา (ตามข้อมูลที่เปิดเผยแล้ว) ลองดูกราฟสิครับ

ผมรู้สึกงงมาก ว่าทำไมมันจึงไม่แกว่งคล้ายกับราคาน้ำมันดิบในตลาดสากล ผมเริ่มได้กลิ่นอะไรบางอย่างในข้อสงสัยของผมแล้วครับ คือ เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเราใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 67 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ในเมื่อราคาก๊าซไม่ลดลง แล้วราคาค่าไฟฟ้าจะลดลงได้อย่างไร

เมื่อค้นหาข้อมูลจากภาครัฐ เขาก็ให้อย่างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน แม้แต่คำชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งผมได้ตัดมานำเสนอบางส่วนด้วย
 

 
ผมจึงได้ตั้งข้อสงสัย 2 ประการ คือ

(1) ทำไมราคาก๊าซในแต่ละแหล่งจึงมีความแตกต่างกันเยอะมาก จากไม่ถึง 50 บาท จนถึงเกือบ 300 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งๆ ที่มีค่าความร้อน หรือพลังงานเท่ากัน

(2) ทำไมเขาจับราคาก๊าซในอ่าวไทย (ซึ่งมีประมาณ 65% ของก๊าซทั้งหมด) ไปรวมกับราคาก๊าซจากพม่า ซึ่งมีประมาณ 18% ทำไมเขาไม่แยกออกมาอธิบายแยกกันให้ชัดเจน ทั้งๆ ที่มีจำนวนมากที่สุด แต่กลับไปอธิบายก้อนเล็กๆ กรุณาดูรายละเอียดในรูป แล้วคิดตามผมนะครับ

ด้วยความที่อยากจะรู้ แต่ไม่มีข้อมูลในประเทศไทย ผมจึงลองค้นหาเกี่ยวกับราคาก๊าซในประเทศพม่า ซึ่งประเทศเรานำเข้าจากพม่า ผมได้พบบทความชิ้นหนึ่ง (ซึ่งผมไม่รู้จักผู้เขียน และไม่เคยอ่านมาก่อน) 
 

 
สิ่งที่พบก็คือ ราคาก๊าซในพม่าก็ลดลงครับ ลดลงมากในลักษณะเดียวกับตลาดสากลที่ผมได้นำเสนออย่างคร่าวๆ ไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยเรา ทำไมราคาก๊าซในประเทศเราจึงเกือบจะคงที่

ผู้เขียนชาวพม่าบอกว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึงสิ้นสิงหาคม 2558 ราคาก๊าซที่ลดลง ทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไปวันละ 130 ล้านบาท โดยที่ร้อยละ 70 ของก๊าซที่ส่งออกนั้นส่งไปประเทศไทย ในราคาที่ปากหลุม ไม่รวมค่าผ่านท่อ ได้ลดลงจาก $7.20 มาอยู่ที่ $5.45 หรือจาก 238 บาท มาเหลือ 180 บาทต่อล้านบีทียู แต่เป็นราคาที่รวมต้นทุนอื่นๆ แล้ว ถ้ารายได้ของรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นผู้ขายหายไป ผู้ซื้อก๊าซคือ ประเทศไทยก็ต้องจ่ายในราคาที่น้อยลงด้วย

โดยสรุป ราคาก๊าซพม่าลดลง 24.3% ในช่วงเวลาจากต้นปี (ไม่แน่ใจว่าเดือนไหน) ถึงสิงหาคม 2558 แต่ราคาก๊าซที่ผู้รับสัมปทานในประเทศไทยขายที่ปากหลุมในช่วงมกราคม 57 ถึงสิงหาคม 58 ได้ลดลงเพียง 4.7% เท่านั้น

นี่หรือเปล่าครับ ที่ได้ทำให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบของไทยต้องทำอ้อมแอ้มๆ กับราคาใน “อ่าวไทยและพม่า” ซึ่งราคาสูงกว่าที่พม่าเยอะ

ผมตั้งใจจะเขียนให้อ่านสบายๆ ใครสนใจที่มาที่ไปของก๊าซธรรมชาติ และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต่างๆ ดูรูปสวยๆ จากข้างล่างครับ
 

 
จากภาพดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า มีการนำเข้าก๊าซ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว จำนวน 2% มาจากประเทศกาตาร์ แม้จะมีราคาแพง (เพราะต้องอัดให้เหลว เพื่อบรรจุถังและขนส่งทางเรือ) แต่ก็มีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ตัวที่มีปัญหา คือ ราคาก๊าซที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีปริมาณถึง 65% ของปริมาณก๊าซทั้งหมด และร้อยละ 67% ของไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ

จากรายงานประจำปี 2557 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่า ราคาก๊าซธรรมชาติที่หน้าโรงไฟฟ้า (รวมค่าการตลาด และค่าผ่านท่อแล้ว) ของทั้งระบบในประเทศไทย (รวม LNG ที่นำเข้า และรวมโรงไฟฟ้าของเอกชนด้วย) เท่ากับ 312.00 บาทต่อล้านบีทียู

แต่ราคาก๊าซปากหลุมที่ผลิตในประเทศไทยในปี 2557 เท่ากับ 239.19 บาทต่อล้านบีทียู ตัวเลขดังกล่าวทำให้เราทราบค่าผ่านท่อ และค่าการตลาดได้ คือ รวมกันประมาณ 30.4% ของราคาที่ปากหลุม

ข้อมูลจากรายงานของ กฟผ.อีกอย่างหนึ่ง คือ ก๊าซ 1 ล้านบีทียู สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 156 หน่วย ถ้าราคาก๊าซ 312.00 บาทต่อล้านบีทียู ดังนั้น ต้นทุนค่าก๊าซหน่วยละ 2.00 บาท

ข้อที่สาม ถ้าราคาก๊าซเปลี่ยนแปลง 10% ราคาไฟฟ้าควรจะเปลี่ยนแปลงเท่าใด จากข้อมูลของ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าประกอบด้วยค่าเชื้อเพลิงประมาณ 65% (ที่เหลือเป็นค่าโรงไฟฟ้า สายส่ง และการบริหาร) ดังนั้น หากค่าเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลง 10% ค่าไฟฟ้าควรจะเปลี่ยนแปลง 6.5%

ในช่วงมกราคม 2557 ถึงตุลาคม 2558 ราคาก๊าซที่ปากหลุมได้ลดลง 15.5% (ซึ่งลดลงน้อยกว่าพม่า และตลาดโลกเยอะ) ดังนั้น ถ้าราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นลดลงในอัตราเดียวกัน ค่าไฟฟ้าก็ควรจะลดลงเท่ากับ 10.1%

แต่จากการคำนวณโดยคร่าวๆ (ตามเงื่อนไขที่ได้อธิบายแล้ว) พบว่า ค่าไฟฟ้าได้ลดลงเพียง 3.4% เท่านั้นเองครับ
 

 
ในสไลด์ดังกล่าวได้แสดงค่าเอฟทีไว้ด้วย เราจะเห็นว่าค่าเอฟทีได้ลงลงมากในช่วงพฤศจิกายน และในปีหน้าด้วย แต่อย่าเพิ่งหลงดีใจนะครับว่าค่าไฟฟ้าจะลดลงมาก

ในความเป็นจริงก็คือ เขาได้นำค่าเอฟทีเดิมไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานเดิมเรียบร้อยแล้ว ผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย ค่าไฟฟ้าฐานได้ซึ่งเป็นก้อนใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 3.564 เป็น 4.046 หรือค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 13.52%

สำหรับค่าเอฟทีที่ดูเหมือนได้ลดลงเยอะ แต่มันเป็นจำนวนขนาดเล็ก และได้ถูกโยกไปอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานแล้ว อย่าสับสน และอย่าหลงดีใจนะครับ โดยสรุปค่าไฟฟ้ารวมได้ลดลงเพียง 3.4% เท่านั้นเอง แทนที่ควรจะลดลง 10.1%

ในโอกาสปีใหม่ ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน และขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาติดตามอ่าน และให้กำลังใจกับผมตลอดมา ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนครบทั้ง 52 สัปดาห์ตามสัญญาใจครับ ขอให้ทุกท่านโชคดี มีชัย ตลอดไปครับ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น