คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับการชวนโดยท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ จากโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้าร่วมฟังการถวายแผนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่เจ้าอาวาสวัดยานนาวา คือ พระพรหมวชิรญาณ ผมรู้สึกดีใจมากเพราะมันสอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ของทั้งท่านพระครูฯ และของผมเองด้วย
พระพรหมวชิรญาณ นอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสวัดยานนาวาซึ่งเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ในเขตสาทร กรุงเทพมหานคร แล้ว ท่านยังเป็นกรรมการเถรสมาคมด้วย ท่านพระครูฯ คุยกับผมว่า “เมื่อเจ้าอาวาสวัดยานนาวาซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่เริ่มต้นทำก็จะเป็นตัวอย่างแก่วัดอื่นๆ ด้วย” ผมเสริมท่านพระครูฯ เหมือนที่เคยคุยกันหลายครั้งว่า “ผีเสื้อขยับปีกครับและเป็นผีเสื้อตัวใหญ่เสียด้วย”
ท่านพระครูฯ ได้ถวายคำแนะนำว่าควรจะติดขนาด 30 กิโลวัตต์ โดยที่ค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1.7 ถึง 1.8 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของอุปกรณ์ (ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นค่าแผง) และหากใช้แผ่นเก่าราคาจะต่ำกว่านี้อีกประมาณ 3 แสนบาท โดยจะติดตั้งบนดาดฟ้าอาคาร 3 ชั้นซึ่งเป็นที่พักของแม่ชี คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 240 ตารางเมตร เมื่อดูจากลานวัดด้านล่างแล้วจะไม่ทำลายทัศนียภาพของวัดหลวงแต่อย่างใดครับ
ผมได้เรียนถามท่านเจ้าอาวาสว่า ทางวัดจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละเท่าใด ท่านตอบว่า “เดือนละประมาณ 4 แสนบาท อาตมาคิดเรื่องนี้มา 30 ปีแล้ว” ผมเองไม่ได้เรียนถามอะไรมาก เพราะรู้สึกเกร็งๆ แต่คำตอบที่ได้ฟังย่อมสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นของพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้แค่ร้อยละ 3 ถึง 4 เท่านั้น ท่านพระครูฯ ได้แนะนำไปว่าต้องลดการใช้ลงด้วย
นอกจากวัดยานนาวาแล้ว พระพรหมวชิรญาณ ยังเป็นผู้สร้างวัดนวมินทรราชูทิศ ซึ่งเป็นวัดไทยตั้งอยู่ที่เมืองเรย์แฮม (ใกล้ๆ เมืองบอสตัน) รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ติดมหาสมุทรอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเจ้าคุณได้นิมนต์ให้ท่านพระครูฯ ไปช่วยให้คำแนะนำในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่นั่นด้วย ซึ่งที่วัดไทยดังกล่าวเสียค่าไฟฟ้าเดือนละกว่า 8 หมื่นดอลลาร์
นอกจากนี้ พระพรหมวชิรญาณยังมีโครงการจะติดโซลาร์เซลล์ขนาด 20 กิโลวัตต์ ที่วัดยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชาธานี ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเจ้าคุณ ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ก็ได้รับการนิมนต์ให้เป็นผู้ให้คำแนะนำอีกเช่นเคย
ที่เล่ามานี้ถือเป็นความก้าวหน้าของกลุ่มคนที่มีความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย และโลกของเราพร้อมกับการลงมือทำจริงๆ ผมมั่นใจว่าหน่ออ่อนของกิจกรรมดังกล่าวจะขยายออกไปในวงกว้างของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เพราะพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้กรุณาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
สิ่งที่ผมรู้สึกน้อยใจก็คือ ยังไม่เห็นสถาบันการศึกษาใดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่ผมเคยใช้ชีวิตมายาวนานกว่า 40 ปี ทั้งๆ ที่ผมได้ไปบรรยายให้ฟังแล้ว หรือจะให้รออีกสักกี่ปีครับ?
สหกรณ์ออมทรัพย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีเงินเหลือมากมายจนต้องไปปล่อยกู้ให้แก่เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จนเป็นข่าวการทุจริตใหญ่โต ในตอนท้ายผมจะแสดงให้เห็นว่า การลงทุนติดโซลาร์เซลล์เป็นทางเลือกที่ดีกว่า และไม่มีความเสี่ยงด้วย
หลังจากกลับมาจากวัดยานนาวา ผมรีบเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองบอสตันทันที ผมได้ความรู้ดีๆ เยอะครับ จะค่อยๆ เล่าให้ฟังเป็นลำดับต่อไปนี้
ผมขอสรุป 3 ข้อ ในแผ่นสไลด์ก่อน แล้วจะค่อยๆ เล่ารายละเอียดในภายหลังเพราะรู้สึกเกรงใจคนที่มีเวลาน้อยครับ
เอาเรื่องในสหรัฐอเมริกาก่อนดีกว่านะครับ
รายงานที่ผมอ้างถึงนี้ได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาโดยกรมพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (U.S. Department of Energy) ผมพยายามค้นหาวันที่พิมพ์ แต่หาไม่เจอครับ คาดว่าน่าเมื่อต้นเดือนมกราคม 2015) สองเมืองแรกที่น่าลงทุนติดตั้งมากที่สุดคือ เมืองนิวยอร์ก (ซึ่งในปี 2012 ค่าไฟฟ้าแพงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ราคาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 เท่ากับ $0.181/kwh = 6.15 บาท) และเมืองบอสตันเพราะราคาค่าไฟฟ้าแพง
รายงานนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอเมริกันไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องนี้ จากการศึกษาพบว่า การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ใน 46 เมือง จาก 50 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และใน 42 เมืองใหญ่ดังกล่าว ค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์มีราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านซื้อจากการไฟฟ้าฯ โดยที่การศึกษานี้อยู่บนข้อสมมติที่ว่า ลงทุนเอง 100% ด้วยเงินกู้อัตราดอกเบี้ย 5% (ย้ำ จ่ายดอกเบี้ยด้วย) ตลอด 25 ปีของอายุโซลาร์เซลล์ โดยที่ค่าไฟฟ้าในปีที่ 25 จะเพิ่มขึ้นอีก 33% ถึง 88%
ในปี 2014 มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1 หลัง ขนาด 4.5 กิโลวัตต์ ในทุกๆ 2 นาที และมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในกิจการนี้สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมดถึงเกือบ 20 เท่าตัว (http://ecowatch.com/2015/01/15/solar-industry-jobs/)
อย่างไรก็ตาม ทำไมชาวอเมริกันจึงไม่ลงทุนติดตั้ง รายงานนี้ตั้งคำถาม พร้อมกับตอบเองว่า “มันเป็นความชัดเจนว่ามีช่องว่างทางสารสนเทศ (Information Gap) รายงานนี้จะเปิดตาเจ้าของบ้านโดยเฉลี่ยว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองนั้น เป็นทั้งเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้ารายเดือนอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการลงทุนในระยะยาวด้วย ...มันเป็นความหวังของเราว่า ประชาชนจะกลับมารับรู้ความจริงว่า พลังงานแสงแดดในปัจจุบันไม่ใช่เป็นทางเลือกของคนร่ำรวยอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นโอกาสที่เป็นจริงสำหรับทุกคนที่กำลังหาอำนาจที่มากขึ้นในการควบคุมบิลค่าไฟฟ้ารายเดือน และการลงทุนในระยะยาวซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ”
เท่าที่ผมสืบค้นพบว่า ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บ้านพักอาศัยในสหรัฐอเมริกาแพงมาก คือ $5.22 ต่อวัตต์ (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1.83 แสนบาทต่อหนึ่งกิโลวัตต์ ในขณะที่ต้นทุนในประเทศไทยประมาณ 5-6 หมื่นบาท) ในจำนวนนี้เป็นค่าอุปกรณ์ (Hardware Costs) เพียง $1.90 เท่านั้น อีก $3.22 ที่เหลือหรือ 64% เป็นค่าดำเนินการ หรือ “Soft Costs” ซึ่งได้แก่ ค่าห่วงโซ่อุปทาน (61 เซ็นต์ต่อวัตต์) ค่าแรงงานติดตั้ง (55 เซ็นต์ต่อวัตต์) ค่าการหาลูกค้าใหม่ (Customer Acquisition) 48 เซ็นต์ต่อวัตต์ รวมไปถึงค่าออกแบบและพัฒนา ค่าขออนุญาตและการตรวจสอบ 10 เซ็นต์ต่อวัตต์ เป็นต้น
ดังนั้น ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถก็สามารถลดต้นทุนลงไปได้เยอะครับ ผมจึงเชื่อว่าท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ คงจะช่วยเหลือพระพรหมวชิรญาณได้มากสำหรับงานนี้
ภาพข้างล่างนี้ ผมได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพลังงานแสงแดดทั่วโลก โดยดูจากแถบสีที่บอกช่วงของพลังงานแสงอาทิตย์ต่อตารางเมตร นอกจากนี้ ยังได้นำตัวเลขการผลิตไฟฟ้าได้จริงที่จังหวัดนนทบุรี และเมืองบอสตัน
ต่อไปนี้ผมจะอธิบายถึงวิธีการศึกษาเบื้องต้นของผม ซึ่งได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 2.5 kw เพื่อใช้เองในจังหวัดนนทบุรี จะได้รับผลตอบแทนถึงร้อยละ 11.9 ต่อปี
(1) ใช้ข้อมูลการผลิตจากบ้านหลังหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงเวลา 7 เดือน แล้วคำนวณหาค่าตลอดทั้งปี พบว่า ได้ไฟฟ้า 1,492 หน่วยต่อปีต่อกิโลวัตต์ ดังนั้น ถ้าติด 2.5 kw จะได้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 310 หน่วย ถ้าบ้านหลังนี้ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 400 หน่วย เจ้าของบ้านก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียงเดือนละ 90 หน่วยเท่านั้น
(2) สอบถามราคากลางๆ จากท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ซึ่งท่านทราบข้อมูลเยอะมากพบว่า การลงทุนทั้งระบบประมาณ 1.2 แสนบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการติดตั้ง และยี่ห้อของอุปกรณ์
(3) ศึกษาราคาค่าไฟฟ้าในเขตนครหลวงรวมค่าเอฟทีในช่วงปี 2555 ถึง 2558 พบว่า ถ้าใช้ไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวจะเสียค่าไฟฟ้ารวมในอัตราหน่วยละ 3.92 บาท (โดยมีการเพิ่มค่าเอฟทีจาก 10 สตางค์เป็น 39.53 สตางค์) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ต่อปี นั่นคือ ค่าไฟฟ้าในปีที่ 25 จะประมาณ 6.53 บาทต่อหน่วย (หมายเหตุ ความจริงค่าเอฟทีอาจจะสูงกว่านี้ แต่เพราะว่าราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างผิดปกติมาก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินซึ่งในช่วงต้นปีค่าเงินบาทประมาณ 33 บาท ปัจจุบันอยู่ 36 บาทต่อดอลลาร์)
(4) ผลการศึกษาพบว่า จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าสะสมตลอด 25 ปีได้ 4.77 แสนบาท ถ้าไม่มีการกู้เงินมาลงทุนเลยจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอด 25 ปี ได้ 11.9% ต่อปี ถ้าไม่ติดโซลาร์เซลล์ แต่นำเงิน 1.2 แสนบาทไปฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ย 2.9% ต่อปี จะได้เงินรวมเพียงครึ่งหนึ่งของที่เกิดจากการประหยัดค่าไฟฟ้า
โดยสรุป การติดตั้งโซลาร์เซลล์ แม้จะไม่ได้รับการชดเชยใดๆ จากรัฐบาลเลย ก็ยังให้ผลตอบแทนสูงถึงปีละ 11.9% ของเงินลงทุนแล้วทำไมคนไทยจึงไม่นิยมติดโซลาร์เซลล์ ปัญหาคืออะไร?
เท่าที่ผมได้รับฟังมาจากผู้ร่วมแลกเปลี่ยนตามเวทีต่างๆ ได้ความว่า ถ้าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจพบว่า บ้านใดตัวเลขในมิเตอร์วัดพลังงานเพิ่มขึ้นในอัตราผิดปกติ เช่น ตัวเลขที่เคยเพิ่มขึ้นเดือนละ 400 หน่วย กลับเพิ่มขึ้นไม่ถึง 20 หน่วย หรือติดลบเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะถอดมิเตอร์ไปตรวจ จากนั้นก็นำมิเตอร์แบบดิจิตอลมาติดให้ใหม่ (ในราคา 1 หมื่นบาท) มิเตอร์แบบนี้จะอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ไหลออกไปได้ โดยที่ตัวเลขไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่หากเราใช้ไฟฟ้าไหลเข้าจากสายส่งตัวเลขในมิเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้นตามปกติ
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ในตอนกลางวันมีแดดสามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ไม่มีใครอยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จึงต้องไหลไปสู่สายส่งการไฟฟ้า การไฟฟ้าฯ ได้รับไฟฟ้าไปฟรีๆ มิเตอร์ไม่หมุนถอยหลังเหมือนแบบจานหมุน เจ้าของบ้านจึงไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ครั้นจะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น ยากที่คุ้มทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากแบตเตอรี่ก็มีเยอะ
ปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีอยู่ 43 รัฐ ที่เขามีกฎหมายรองรับให้ใช้ระบบ Net Metering คือเมื่อไฟฟ้าไหลเข้าบ้าน มิเตอร์เดินไปข้างหน้า เมื่อไฟฟ้าไหลออกจากบ้าน มิเตอร์ก็หมุนถอยหลัง เมื่อสิ้นเดือนก็จ่ายค่าไฟฟ้ากันตามตัวเลขที่เหลืออยู่ในมิเตอร์
ในเยอรมนี ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดอย่างเดียวได้มากกว่าที่คนอีสานของไทย 20 จังหวัด และ 17 จังหวัดภาคเหนือใช้รวมกัน เยอรมนีเขารับซื้อไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ หรือเรียกว่ามีการชดเชย
ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ได้กรุณาบอกผมว่า ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ส่วนภูมิภาคได้เรียนกับท่านพระครูฯ ว่า ผู้ที่จะติดโซลาร์เซลล์ประเภทที่ไม่ต้องการขาย ให้ยื่นแบบฟอร์มเพื่อแจ้งให้การไฟฟ้าฯ ทราบเท่านั้นโดยไม่ต้องรอคำตอบ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยตามที่การไฟฟ้าฯ รับรอง ผมพยายามค้นหาระเบียบแต่ก็ยังไม่เจอครับ
ทำไมเรื่องดีๆ ในเมืองไทยเราจึงเกิดขึ้นได้ยากจัง ผมยังได้ยินเสียงนุ่มๆ เรียบๆ เย็นๆ ของท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณ ได้ว่า “อาตมาคิดเรื่องนี้มา 30 ปีแล้ว” แล้วท่านจะสมหวังในเร็วๆ นี้ครับ