คอลัมน์ : โลกที่วับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ประเด็นที่จะกล่าวถึงในบทความนี้เริ่มต้นมาจากรายการ “เดินหน้าปฏิรูป” ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 11 เมื่อ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีชื่อตอนว่า “ปฏิรูปพลังงาน...ประชาชนได้อะไร” เพื่อให้ง่ายต่อการระลึกถึงเรื่องนี้ ผมได้ตัดภาพของรายการมาประกอบด้วยครับ
ในสังคมออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นตอน “3 รุม 1” เพราะผู้ร่วมรายการ 3 คน มาจากอดีตผู้บริหารหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ และอดีตรัฐมนตรีพลังงานซึ่งคิดเหมือนๆ กัน ในจำนวนนี้ 2 คน เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงานในปัจจุบัน โดยที่ 1 คนที่ถูกรุมคือ คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในนาม “เครือข่ายประชาชนการปฏิรูปพลังงาน”
จากการเปิดเผยของคุณปานเทพ เอง ทราบว่า ด้วยเวลาที่จำกัด และเป็น “3 รุม 1” ทำให้ทุกรอบที่แสดงความเห็นคุณปานเทพ จะมีสิทธิได้ตอบโต้เพียงหนึ่งประเด็นเท่านั้น ดังนั้น จึงมีหลายประเด็นที่ผ่านไปโดยไม่ได้ตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผมเห็นว่าคุณปานเทพ ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งด้านข้อมูลที่ชัดเจนเข้าใจง่าย มีแหล่งอ้างอิง และในด้านการนำเสนอที่รู้จังหวะการรุก และการถอยอย่างสุภาพในขณะที่อีก 3 คน ไม่ได้เตรียมตัวมาเลย แต่ได้แสดงทัศนะที่คิดว่าประชาชนจะต้องเชื่อฟังในสถานะตำแหน่งของตน
ก่อนที่ผมจะนำเสนอประเด็นที่เห็นว่าสำคัญมากสำหรับอนาคตประเทศไทย ผมขอสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องที่คุณปานเทพ ได้นำเสนอไปแล้ว
คุณปานเทพ ได้วิจารณ์ถึงแผนพีดีพี 2015 ซึ่งเป็นแผนที่กำหนดไว้ว่า (1) จะมีจำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดเข้าสู่ระบบการผลิตในปีใดบ้าง ซึ่งเป็นค่าที่เขาได้คาดหมายไว้ล่วงหน้า (2) กำลังผลิตสำรอง 15% ของจำนวนแรก และ (3) จำนวนกำลังการผลิตในส่วนที่เกินมาตรฐาน 15% ซึ่งเป็นส่วนที่เกินความจำเป็นที่อยู่นอกเหนือของสองส่วนแรก
ผมได้ตัดภาพที่คุณปานเทพ ได้นำเสนอในโทรทัศน์ News 1 ในรายการ “คนเคาะข่าว” ในภายหลังมาด้วย กรุณาดูเทียบไปกับคำอธิบายของผมนะครับสีฟ้าล่างสุดคือ ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด สีแดงๆ คือ กำลังสำรองมาตรฐาน 15% และสีส้มๆ บนสุดคือ กำลังการผลิตส่วนเกินสำรองมาตรฐาน ซึ่งจะมีค่ามากที่สุดประมาณ 63% ของความต้องการสูงสุดซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2566
การมีกำลังการผลิตส่วนเกินไว้มากเกินไปจะเป็นภาระต่ออัตราค่าไฟฟ้าของผู้บริโภค เพราะระเบียบของประเทศเราได้คุ้มครองผลตอบแทนต่อการลงทุนไว้แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าผู้บริหารการไฟฟ้าฯ จะตัดสินใจผิดพลาดอย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของการไฟฟ้าฯ ก็ต้องไม่ต่ำกว่าที่ได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว เรียกว่าปิดประตูการขาดทุนไว้หมดแล้วทุกประตู ในขณะที่บริษัทผลิตไฟฟ้าบางแห่งในสหรัฐอเมริกา ต้องขาดทุน และหลายบริษัทกำลังกังวลเป็นอย่างมากต่อการขาดทุนในอนาคตเพราะอิทธิพลของ แสงแดด ลม ที่มาแรงมาก
ผมจำได้ว่าในปี 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้กล่าวว่า “ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท เพราะการคำนวณที่ผิดพลาด”
จากข้อมูลย้อนหลังที่ผมมี พบว่า กำลังการผลิตที่มากเกินในปี 2545 นั้นมีประมาณเท่าๆ กับในปี 2557 ที่เราเห็นในกราฟข้างต้น ถ้าเช่นนั้นเราลองคาดการณ์ดูสิครับว่า ในปี 2566 มูลค่ากำลังการผลิตที่ล้นเกินควรจะเป็นเท่าใดกันแน่ดูด้วยตาก็นับเป็นล้านล้านบาทแน่นอน
ประเด็นที่คุณปานเทพ ไม่มีเวลาได้พูดก็คือ ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (ที่เห็นเป็นสีฟ้า) นั้นมีโอกาสที่มีความถูกต้อง หรือผิดพลาดไปจากความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
แน่นอนครับ เรายังไม่ทราบหรอกเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่สำหรับผลการพยากรณ์ในอดีตเราได้ทราบมาแล้ว และผมจะนำมาเสนอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า กรอบความคิดของผู้พยากรณ์นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของธรรมชาติ หรือจะเรียกว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร
ผมได้นำผลการพยากรณ์ในช่วงปี 1992 ถึง 2012 มาเทียบกับความจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (ซึ่งศึกษาโดยคุณชื่นชม สง่าราศี กรีเซน และ ดร.คริส กรีเซน) มาให้ดู พร้อมกันนี้ ผมได้เพิ่มเติมข้อมูลให้ทันสมัยจนถึงปัจจุบัน เส้นกราฟอาจจะดูรกไปสักนิด แต่สรุปก็คือ ทุกการพยากรณ์ ผลการพยากรณ์สูงกว่าความเป็นจริงทุกครั้ง สูงเยอะด้วย ไม่มีครั้งใดต่ำกว่าความเป็นจริงเลย
ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกแย้งว่า การพยากรณ์เชิงตัวเลขจะให้ถูกต้องตรงเป๋งเหมือนกับแทงหวยได้อย่างไร เป็นความจริงของท่านครับ แต่ที่ผมจะวิจารณ์คือ กรอบความคิดในการพยากรณ์ครับ ไม่ใช่ผลการพยากรณ์ ซึ่งผมจะอธิบายในภายหลัง แต่ตอนนี้ขอให้จบเรื่องตัวเลขที่เกินความเป็นจริงให้จบก่อน
ในแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่สาม (ปรับปรุงเสร็จเดือนพฤษภาคม 2555) ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2556 และ 2557 ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศจะเท่ากับ 183,283 และ 191,630 ล้านหน่วย แต่ความเป็นจริงพบว่า ในปีดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าเพียง 173,535 และ 177,580 ล้านหน่วย ตามลำดับ
เฉพาะในปี 2557 ผลการพยากรณ์สูงกว่าความเป็นจริงถึง 14,050 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นจำนวนที่เกือบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าใน 14 จังหวัดภาคใต้รวมกัน ขนาดของความผิดพลาดนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะครับ ในที่นี้ผมได้นำการใช้ไฟฟ้ารายจังหวัดในภาคใต้มาลงให้ดูด้วยครับ
นี่คือผลการพยากรณ์ของแผนพีดีพี 2010 (ปรับปรุงปี 2012) เพียงแค่ 2 ปีผ่านไป ผลการพยากรณ์ได้เกินความจริงไปแล้วขนาดนี้ ดังนั้น เราพอจะคาดได้ว่าในปีที่ 20 ผลการพยากรณ์จะเลอะเทอะขนาดไหน
โดยสรุปในขั้นนี้ก็คือ การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในพื้นที่สีฟ้าที่คุณปานเทพ นำเสนอนั้นก็เกินความจริงมามากแล้ว ดังนั้น ค่าสำรองมาตรฐาน 15% ก็เป็น 15% ของส่วนที่เกินความจริงมาแล้ว มันจึงยิ่งเกินกันไปใหญ่เลย นี่ยังไม่ได้คิดเรื่องเราสามารถลดความต้องการสูงสุดที่เกิดขึ้นเพียงปีละไม่กี่ชั่วโมงที่เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่ง
คราวนี้ผมจะขึ้นเรื่องใหม่นะครับ ว่าด้วยกรอบความคิดของการพยากรณ์
สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ เขาเรียกว่า การพยากรณ์เชิงคุณภาพ คือ การเอาเหตุผลทางธรรมชาติในด้านความสามารถในการรองรับของทรัพยากรธรรมชาติ (Carrying Capacity) ของประเทศมาประกอบการพยากรณ์ด้วย
ถ้าเปรียบประเทศเป็นครอบครัวหนึ่ง เราไม่อาจคิดว่าครอบครัวนี้จะต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จักพอ คนที่คิดเช่นนี้ได้ก็คือ คนสติไม่ดีเท่านั้น
ถ้าใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ข้อที่ว่า “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” มาประกอบการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เราจะต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า (1) เราจะเอาไฟฟ้าไปทำอะไร ในเมื่อกว่าร้อยละ 99.8 ของครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้กันแล้ว (2) ถ้าจะเอามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เราควรจะพอแล้วหรือยังในเมื่อภาคอุตสาหกรรมไปทำลายการเกษตร สร้างมลพิษทางน้ำ และอากาศ แรงงานก็ขาดแคลน ผลผลิตก็แทบไม่ได้ใช้ภายในประเทศ (3) ในด้านภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกกว่าร้อยละ 70 เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา การส่งออกก็มีปัญหา ข่าวล่าสุดพบว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูน ต้องปลดคนงานจำนวนมาก หอพัก ร้านอาหาร กำลังถูกกระทบเป็นระลอกอย่างรุนแรง
สิ่งที่หลายคนคิดไม่ถึงก็คือ แหล่งน้ำจืดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ แม่น้ำลำคลอง จากการสำรวจ 141 ประเทศเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนพบว่า ประเทศไทยมีค่าออกซิเจนละลายน้ำต่ำที่สุดในโลก (http://www.nationmaster.com/country-info/stats/Environment/Water/Dissolved-oxygen-concentration#amount) นั่นหมายความว่า คนไทยเราไม่มีปลาน้ำจืดในธรรมชาติกิน นอกจากปลาเลี้ยง เช่น ปลาทับทิม ที่รสชาติแย่มาก
นี่ยังดีนะครับที่เป็นเรื่องปลาซึ่งในหลายพื้นที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผึ้งสูญพันธุ์ ภายในหนึ่งปีหลังจากนั้นมนุษย์จะต้องสูญพันธุ์ตามเพราะไม่มีธัญพืชกิน” ซึ่งตอนนี้ประชากรผึ้งในสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 4 ของที่ควรจะมี
ผมออกนอกเรื่องไปเยอะก็เพราะต้องการจะตอกย้ำว่าหลักการ “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” นั้นสำคัญมากแค่ไหน ระบบของธรรมชาติที่สมดุลทุกระบบจะมีความ “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” เป็นหลักยึดอยู่เสมอ
นักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งเคยนั่งสังเกตการเติบโตของจำนวนประชากรหอยทากในบ้านตัวเองด้วยความกังวลว่า มันจะล้นบริเวณบ้าน แต่ในที่สุดเขาก็พบว่า มันไม่เป็นความจริง จำนวนประชากรของหอยทากเพิ่มขึ้นแบบเส้นตรง (Linear) ก็เฉพาะในช่วงแรกๆ เท่านั้น ในช่วงกลางๆ เส้นจำนวนประชากรก็ค่อยๆ ปรับตัวเป็นเส้นโค้งคว่ำ และหากหอยทากไม่รู้จักหลักการ “พอประมาณ” พวกมันจะต้องล่มจมอย่างแน่นอน
เส้นกราฟจำนวนประชากรของหลายประเทศก็อยู่ในกรอบคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบเส้นตรง แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นแบบเส้นโค้ง ผมได้นำกราฟจำนวนประชากรของประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศไทยมาเปรียบเทียบกันเพื่อขยายความคิดดังกล่าว จากกราฟเราจะเห็นว่า เส้นกราฟของประเทศญี่ปุ่นเป็นเส้นโค้งก่อนประเทศไทยหลายปีอยู่ครับ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ยังเป็นเส้นตรง ในตอนแรกๆ ก็มีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทยเล็กน้อย แต่ในระยะหลังเวียดนามเริ่มทิ้งห่างไทยไปเยอะ เพราะความเป็นเส้นตรงของเวียดนามซึ่งเพิ่งผ่านสงครามนี่เอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนประชากรของมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่าเรื่องหอยทากเยอะ กลับมาสู่เรื่องไฟฟ้าต่อนะครับ ว่า เส้นโค้งของการใช้ไฟฟ้าควรจะเป็นรูปแบบไหนกันแน่
กราฟข้างล่างนี้คือ ปริมาณไฟฟ้าที่ชาวนิวซีแลนด์ใช้ในช่วง 40 ปี จากปี 1974 ถึง 2013 เราจะเห็นว่ามีลักษณะเพิ่มขึ้นเกือบทุกปีโดยมีลักษณะโค้งคว่ำ
ที่เส้นมันโค้งได้ก็เพราะความพอเพียง ความอิ่มตัว และความมีเหตุมีผลของชาวนิวซีแลนด์นั่นเอง
ไหนๆ ก็พูดเรื่องนิวซีแลนด์แล้ว ขอแถมสักนิดนะครับ ประเทศนี้ได้ประกาศจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรงสุดท้ายภายในปี 2018 ทั้งๆ ที่เขามีถ่านหินสำรองถึง 15,000 ล้านตัน (http://thinkprogress.org/climate/2015/08/07/3689212/new-zealand-ends-domestic-coal/)
คราวนี้มาดูเส้นกราฟการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเราในปี 2558 ถึง 2579 กันบ้าง เราพบว่ามีลักษณะเป็นเส้นตรงครับ ต่างจากของนิวซีแลนด์อย่างชัดเจน
ถ้ามันเป็นเส้นตรงแล้วจะเสียหายตรงไหน?
เสียหายสิครับ เพราะเมื่อผู้พยากรณ์ที่ไม่มีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบความคิด พยากรณ์ออกมาอย่างนี้ผู้ปฏิบัติคือ รัฐบาล และการไฟฟ้าฯ ก็นำไปปฏิบัติ ซึ่งก็คือ สร้างโรงไฟฟ้าเอาไว้เยอะๆ ปริมาณสำรองก็เยอะตาม ผู้บริโภคก็จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นเหมือนกับภาพลาลากเกวียนที่บรรทุกน้ำหนักมากเกินในปกหนังสือที่ผมเขียนครับ
ผมขอสรุปบทความนี้ออกเป็น 3 ข้อ คือ (1) หลายสิบปีที่ผ่านมา ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยของเราได้ตกอยู่ใต้อำนาจของพ่อค้าพลังงาน และเทคโนแครตด้านพลังงานบางกลุ่มเป็นผู้วางแผนที่เรียกว่าแผนพีดีพี (2) ผู้วางแผนไม่ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกับที่พวกเขาพูดหลอกให้ประชาชนฟัง และ (3) ประชาชนเป็นผู้รับภาระทุกการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสามานย์ของพวกเขาตลอดมา
ก็ต้องถามกันตรงๆ ว่าพอได้แล้วหรือยังครับ ในเมื่อเรามีองค์ความรู้ใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ที่พร้อมจะปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ สิ่งที่ขาดมีอย่างเดียวคือ พันธมิตรของประชาชนที่เราจะต้องเร่งกันสร้างให้ทันเวลาที่วิกฤตมากแล้ว