xs
xsm
sm
md
lg

จากตลกหนังตะลุงถึงกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม 
 
 
แม้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยได้ดูหนังตะลุงในภาคใต้ แต่ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของหนังตะลุงมาบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวตลกเท่ง และหนูนุ้ย หรือถ้าเรียกให้ถนัดปากก็คือ ไอ้เท่ง และไอ้หนูนุ้ย ซึ่งทั้งสองเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ นุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อ บทบาทในเรื่องมักจะเป็นผู้ติดตามรับใช้ตัวเอก ลักษณะนิสัยใจคอไอ้หนูนุ้ย เป็นคนเชื่อคนง่าย แต่ไอ้เท่ง เป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย

เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าเป็นมุกตลกแบบเศร้าๆ แต่ลึกซึ้งมากของหนังสุทิพย์ ลูกทุ่งบันเทิง เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ วันหนึ่งไอ้เท่ง กับไอ้หนูนุ้ยเดินไปพบธนบัตรใบละ 100 บาท จำนวน 15 ใบโดยบังเอิญ ทั้งสองจึงตกลงที่จะแบ่งคนละเท่าๆ กัน แต่ด้วยความรู้น้อย ไม่สามารถคำนวณได้ ทั้งสองจึงใช้วิธีแจกทีละใบสลับกันทีละคนโดยเริ่มต้นที่ยื่นให้ไอ้หนูนุ้ยก่อน

“นี่ของหนูนุ้ย นี่ของเท่ง” สลับไป สลับมา ในที่สุดก็เหลืออยู่ 1 ใบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะแบ่งกันอย่างไรจึงจะยุติธรรมตามหลักการที่ได้ตกลงกันแล้ว พวกเขาจึงเริ่มวิธีแจกใหม่อีกครั้งแต่โดยเริ่มต้นที่ไอ้เท่งก่อน “นี่ของเท่ง นี่ของหนูนุ้ย” แต่ในที่สุดก็เหลืออยู่อีก 1 ใบเช่นเดิม

ในขณะที่ทั้งสองกำลังคิดหาวิธีใหม่ บุรุษไปรษณีย์ขับรถมอเตอร์ไซค์ผ่านมาพอดี พวกเขาจึงขอความช่วยเหลือ บุรุษไปรษณีย์จึงทำหน้าที่แจกทีละใบเช่นเดิม

“นี่ของหนูนุ้ย นี่ของเท่ง นี่ของไปรษณีย์” ทีละรอบๆ จนครบหมด และลงตัว

ไอ้หนูนุ้ยกล่าวด้วยความดีใจว่า “เห็นไหมไอ้เท่ง คบกับคนที่มีความรู้ก็ดีอย่างนี้แหละ”

เมื่อเสร็จภารกิจบุรุษไปรษณีย์ก็จากไป ทั้งไอ้เท่ง และไอ้หนูนุ้ยก็เดินเท้าต่อไปสู่จุดหมาย ในระหว่างเดินทางไอ้เท่งก็เปรยออกมาว่า “กูคิดๆ แลแล้ว รู้สึกว่ามันพรื่อโฉ้ๆ (แปลว่าแปลกๆ) นะไอ้หนูนุ้ย” ไอ้หนูนุ้ยจึงตอบไปว่า

“เฮ้ย มึงอย่าคิดมาก มันลงตัวแล้ว คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง” 

ผมมีความเห็นว่านายหนังสุทิพย์ (ซึ่งเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว) ผู้คิดมุกเรื่องนี้ได้สะท้อนลักษณะของสังคมไทยได้ดีมากๆ ไม่เฉพาะแต่ลักษณะของคนภาคใต้เท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของคนไทยทั้งประเทศ ผมขอไม่วิจารณ์ให้เสียอรรถรส แต่จะขอนำไปสู่กรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดกระบี่ แล้วเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร

ชาวกระบี่ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่พวกเขาคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เพราะถ่านหินทำให้เกิดมลพิษทำลายสุขภาพ ทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวอันดามัน ทำลายอาชีพประมงและการเกษตรซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนทั้งในประเทศไทยเอง และต่างประเทศมาแล้ว

พวกเขามีทางออกที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน แต่ใช้น้ำเสียจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีทะลายปาล์ม ซึ่งมีปริมาณมากเกินพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าป้อนชาวกระบี่ทั้งจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งพูดตรงกับ คุณวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่า “มันมีน้อย ไม่พอ” คนหลังนี้พูดในรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ในโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมกับบอกว่า “เป็นโรงเล็กๆ ต้องลงทุนอีกเยอะ” 

ถ้าเปรียบกับเรื่องตลกในหนังตะลุง ผมว่าท่านทั้งสองนี้เป็น “คนมีความรู้” ที่เข้ามาแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไอ้เท่ง กับไอ้หนูนุ้ย แต่ท่านอาจจะลืมไปว่าในยุคนี้สมัยนี้ข้อมูลข่าวสารสามารถหาได้ง่ายมาก จะมาหลอกกันง่ายๆ ไม่ได้แล้ว เรามาดูกันสิว่าความจริงเป็นอย่างที่ “คนมีความรู้” ได้บอกต่อคนไทยผ่านสื่อสาธารณะหรือไม่

แผ่นภาพข้างล่างนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อันได้แก่ พลังน้ำ กังหันลม ชีวมวล และโซลาร์เซลล์ในประเทศเยอรมนี ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว บางปีเพิ่มแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นผลมาจากการปรับนโยบายให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเยอรมนีในช่วง 6 ปีสุดท้ายกลับลดลงเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ 
 

 
เราพบว่า ในปี 2014 การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเดียวได้มากถึง 49,100 ล้านหน่วย หรือประมาณร้อยละ 29 ของที่คนไทยทั้งประเทศใช้ในขณะที่คน 14 จังหวัดภาคใต้ของไทยใช้ไฟฟ้าเพียงร้อยละ 9 ของประเทศเท่านั้น

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเยอรมนีมีขนาดเล็กคือ ประมาณ 0.5 ถึง 1 เมกะวัตต์ แต่เขามีจำนวนเกือบหนึ่งหมื่นโรงกระจายตัวทั่วประเทศ ผลกระทบจึงมีน้อย ไม่เหมือนกับในประเทศไทยที่มีขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพียงเพราะเพื่อเลี่ยงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ แผ่นภาพข้างต้นยังให้ข้อมูลอีกว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (ซึ่งแสงแดดในประเทศเยอรมนีมีน้อยกว่าประเทศไทย) เกือบ 35,000 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนนี้มีมากกว่าที่คนไทยในภาคอีสาน 20 จังหวัด และ 17 จังหวัดภาคเหนือใช้รวมกันเสียอีก

ข้อมูลดังกล่าวช่างขัดแย้งกับที่ “คนมีความรู้” บอกกับประชาชนไทยเป็นอย่างมากครับ

นอกจากการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากแล้ว ประเทศเยอรมนี ยังผลิตไบโอก๊าซ (หรือไบโอมีเทน) ส่งเข้าไปในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยมีแผนว่าในปี 2020 และ 2030 จะสามารถผลิตได้ร้อยละ 6 และ 10 ของความต้องการใช้ทั้งประเทศตามลำดับ (ที่มา National Biomass Action Planfor GermanyBiomass and Sustainable Energy Supply April 2009)

เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยมีแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นจำนวนมาก ผมขอยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในอำเภอสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เป็นโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สขนาด 1 เมกะวัตต์โดยใช้หญ้าเนเปียร์มาหมักทำไบโอแก๊ส ใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้าประมาณ 600 ไร่ ก็สามารถป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ และตลอดไป ซึ่งได้เปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมเองได้มีโอกาสไปชมโรงไฟฟ้าแห่งนี้กับสมาชิกสภาปฏิรูปกลุ่มหนึ่ง ผมได้สอบถามระยะเวลาคืนทุนด้วย แต่น่าเสียดายผมหาที่จดบันทึกไม่เจอ แต่จำความรู้สึกได้ว่ามันเร็วมาก เร็วกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแน่นอน

ทางโรงไฟฟ้าอ้างว่าจะให้ชาวบ้านปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยทางบริษัทจะรับซื้อในราคาตันละ 300 บาท โดยมีผลผลิตประมาณ 40 ถึง 80 ตันต่อไร่ต่อปี โดยโรงงานไปตัดเอาเอง จะทำให้ผู้ปลูกมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทต้องการจะทำเช่นเดียวกันนี้ แต่ทางการไฟฟ้าฯ บอกว่าสายส่งเต็ม ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้

ก่อนจะไปที่ประเด็นราคาที่ “คนมีความรู้” บอกเรา ขอพูดเรื่องสายส่งเต็มก่อน ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จเรื่องพลังงานหมุนเวียนได้เพราะเขามีกฎหมายให้ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน หลังจากนั้น จึงค่อยให้ผู้ผลิตจากพลังงานชนิดอื่นส่งไปได้ พูดง่ายๆ คือ เขาจำแนกระหว่างสิ่งที่ไม่ดีกับสิ่งที่ดีได้ ในขณะที่บ้านเราได้ทำสัญญาให้ของไม่ดีได้โอกาสขายแต่ผู้เดียว

มาถึงประเด็นสำคัญอีก 2 ประเด็นจาก “คนมีความรู้” ที่ทางรายการโทรทัศน์เชิญมาให้ความเห็น ท่านผู้นี้คือ รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ

ประเด็นแรกท่านบอกว่า เพิ่งกลับมาจากประเทศเยอรมนีไปนอนค้างบ้านเพื่อนได้ความว่า ราคาไฟฟ้าที่นั่นหน่วยละ 45 ยูโรเซนต์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 16 บาทต่อหน่วย คนไทยพร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงในระดับนี้หรือไม่ นอกจากนี้ ท่านยังบอกอีกว่า เพื่อนลงทุนติดโซลาร์เซลล์ 17 แผ่น มูลค่าหนึ่งล้านบาท

ด้วยความรู้สึก “พรื่อโฉ้ๆ” ผมจึงส่งคำถามไปยังเพื่อนคนไทยที่อยู่ในเยอรมนี คำตอบที่ได้ในช่วง 3 ปีสุดท้ายคือ 2556 ถึง 2558 ค่าเฉลี่ยของบริษัทจำนวนประมาณ 1 พันรายพบว่า ราคาหน่วยละ 28.8, 29.1 และ 28.81 เซนต์ตามลำดับ (ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยน 38.3 บาทต่อหนึ่งยูโร นั่นคือ ราคาไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 11.03 บาท 11.14 บาท และ 11.03 บาท ไม่ใช่ 16 บาท) ซึ่งต่ำกว่าที่ “คนมีความรู้” บอกเราค่อนข้างมาก

ผมเองเคยเข้าร่วมประชุมพลังงานหมุนเวียนโลกที่เยอรมนี เมื่อปี 2004 ยังจำได้ว่า (เพราะเขียนเป็นหนังสือไว้) ราคาไฟฟ้าขายปลีกในปีนั้นหน่วยละ 17 เซนต์ แต่บริษัทรับซื้อจากผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในราคาหน่วยละ 45 เซนต์ ในขณะที่รับซื้อจากถ่านหินในราคา 4 เซนต์เท่านั้น แล้วบริษัทนำมาขายปลีกรวมกันในราคา 17 เซนต์

เพื่อความชัดเจนกว่านี้ ผมขอเสนอเป็นกราฟของนักวิชาการชาวเยอรมันท่านหนึ่ง (มีชื่ออยู่ในภาพ) ดังนี้

จากกราฟพบว่า ในปี 2015 (ซึ่งเป็นการประมาณการ) ราคาไฟฟ้าภายในบ้าน (เส้นหมายเลข 6) ก็ประมาณ 28 เซนต์ หรือประมาณ 10.70 บาท ตามที่เพื่อนผมบอก ในขณะที่ราคาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากหลังคา (กราฟหมายเลข 2) อยู่ที่ประมาณ 18 เซนต์ (6.90 บาท) นอกจากนี้ยังมีราคาในทวีปแอฟริกาตอนเหนือมาให้ดูประกอบซึ่งต่ำกว่าราคาในเยอรมนีอีก
 

 
สำหรับต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 17 แผ่นราคาหนึ่งล้านบาทนั้น ผมไม่ทราบครับ แต่ราคาได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ในประทศไทยเมื่อปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติดตั้งขนาด 10 กิโลวัตต์ (ประมาณ 35 แผ่น ปกติราคาคิดตามจำนวนวัตต์) ราคา 1.5 ล้านบาท ถ้าติดใหม่ในวันนี้ราคาไม่น่าจะเกิน 6.5 แสนบาท คือ ลดลงกว่าครึ่งในช่วงเวลา 5 ปี หากทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้ไฟฟ้าไหลไปมาได้ระหว่างสายส่งกับผู้ติดตั้ง โดยให้มิเตอร์หมุนถอยหลังได้ แม้ไม่มีการชดเชยราคาเลย ผู้ติดตั้งจะคุ้มทุนภายในเวลา 9 ถึง 10 ปีเท่านั้น ที่เหลืออีก 16 ปีจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีได้เลย

ประเด็นที่สองที่ รศ.ดร.ภิญโญ นำเสนอก็คือ ให้ผู้ที่รักโลก รักสิ่งแวดล้อมมากๆ เช่น กรีนพีซ ขอให้มาเป็นหัวหอก ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยติดตั้งแบบ Stand Alone คือ ใช้แบตเตอรี่ ไม่เชื่อมต่อกับสายส่ง

การใช้แบตเตอรี่ ปัญหาคือ อายุการใช้งานสั้น และทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผมสงสัยแบบไอ้เท่งในหนังตะลุงก็คือ ทำไมท่านไม่เสนอให้รัฐบาลเปิดการเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่เรียกว่า Net Metering หรือระบบที่มีการชดเชยที่ราคาเหมาะสมตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้เสนอรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีนี้

วิธีการคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Metering นี้ ปัจจุบัน รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 44 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ได้ออกเป็นกฎหมายรองรับไปแล้ว โดยไม่มีการชดเชยใดๆ ทั้งๆ ที่ค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาต่ำกว่าประเทศไทย แต่ค่าแรงในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 24 เหรียญต่อชั่วโมงซึ่งสูงกว่าค่าแรงคนไทยมาก ทำไมเขาทำได้ ลงทุนแพงกว่า ไฟฟ้าถูกกว่า

ขอย้อนกลับไปที่ คุณวิบูลย์ คูหิรัญ “คนมีความรู้” ที่ผมอ้างแล้ว ท่านบอกว่า การผลิตไฟฟ้ามีการกำหนดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.385 กิโลกรัมต่อหน่วยไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้เขาทำได้ต่ำกว่าค่าที่กำหนดแล้ว ผมเข้าใจว่าท่านอ้างถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินนะ เพราะท่านยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยอง

ด้วยความสงสัยแบบเดียวกับไอ้เท่ง ผมจึงเข้าไปดูข้อมูลของทางราชการ (http://www.eppo.go.th/info/9emission_stat.htm) พบว่า แม้แต่ค่าเฉลี่ย (ซึ่งได้รวมเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยไว้แล้ว) ยังสูงกว่าที่ “คนมีความรู้” ได้บอกคนไทย คือ อยู่ที่ 0.528 กิโลกรัมต่อหน่วยไฟฟ้า

ผมยกกราฟนี้มาให้ดูก็เพื่อยืนยันว่า บรรดาคนธรรมดาๆ อย่างไอ้เท่ง และไอ้หนูนุ้ยได้ถูกคนมีความรู้หลอกกินเสียเป็นประจำซ้ำแล้วซ้ำอีก
 

 
สรุป

ผมติดใจคำพูดของไอ้หนูนุ้ย ที่ว่า “เฮ้ย มึงอย่าคิดมาก มันลงตัวแล้ว คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง” 

ผมจับน้ำเสียงของท่านนายกฯ ประยุทธ์ ท่านมักพูดอยู่เสมอว่า “อย่าขัดแย้งกันเลย อย่าคัดค้านเลย ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้า” ซึ่งสอดคล้องต่อคำพูดของไอ้หนูนุ้ยในหนังตะลุงว่า “คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง” แต่ท่านไม่ศึกษาเลยว่าใครให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ใครให้ข้อมูลที่ผิด และประเทศชาติควรจะเดินไปทางไหน

ท่านนายกฯ พูดได้ว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร ความพอเพียงเมื่อไหร่จึงจะรู้จักพอ แล้วท่านก็ฟังแต่ข้อมูลฝ่ายเดียวข้อมูลที่ผมนำมาหักล้าง “คนมีความรู้” ทั้งหลาย ผมอ้างอิง มีหลักฐาน

ที่น่าเสียดายมากในการถกเถียงเรื่องพลังงาน เราไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นสำคัญของความเป็นคนขึ้นมาพูดกันเลย ไม่ได้พูดถึงทิศทางการพัฒนา พูดกันแต่เรื่องต้นทุนถูก ความมั่นคงพลังงาน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่กล่าวมาแล้วก็สามารถแทนที่ถ่านหินได้อย่างดี

เราลืมคำสอนที่พ่อแม่ใช้สอนลูกก็คือ “คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์” คือ (1) ความเป็นอิสระไม่เป็นทาสใครและสิ่งใด ไม่ว่ายาบ้า หรือหนี้สิน และ (2) ความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

คำถามก็คือ เราควรจะใช้พลังงานชนิดใดจึงจะสมต่อคุณค่าของมนุษย์สองประการ ในอดีตเรามีข้อแก้ตัวว่าจำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพราะต้นทุนอย่างอื่นแพง มาบัดนี้มันกลับกันแล้ว เทคโนโลยีอื่นราคาถูกลงมาก ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ รวมทั้งน้ำทะเลเป็นกรดกำลังรุนแรงมากขึ้น และล้วนเกิดจากการเผาถ่านหินเป็นหลัก

สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังกระทำอยู่ในขณะนี้มีสองด้าน ด้านหนึ่งขอให้พ่อค้าได้ขายถ่านหินที่ทำร้ายโลก อีกด้านหนึ่งเหยียบไม่ให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนซึ่งช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระได้เกิดขึ้นเท่านี้จริงๆ

ไอ้เท่ง และไอ้หนูนุ้ยครับ ท่านต้องรู้จักเลือก “คนมีความรู้” ท่านต้องหัดคิดเหมือนกับไอ้เท่ง แต่ต้องคิดให้ทันด้วย และที่สำคัญมากๆ คนที่รู้แล้วกรุณาอย่าเก็บความรู้ที่ถูกต้องไว้คนเดียว โปรดเผื่อแผ่ไปให้คนอื่นด้วยครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น