xs
xsm
sm
md
lg

จากตลกหนังตะลุงถึงกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

แม้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยได้ดูหนังตะลุงในภาคใต้ แต่ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของหนังตะลุงมาบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวตลกเท่งและหนูนุ้ย หรือถ้าเรียกให้ถนัดปากก็คือ ไอ้เท่งและไอ้หนูนุ้ยซึ่งทั้งสองเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ นุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อ บทบาทในเรื่องมักจะเป็นผู้ติดตามรับใช้ตัวเอก ลักษณะนิสัยใจคอไอ้หนูนุ้ยเป็นคนเชื่อคนง่าย แต่ไอ้เท่งเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย

เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าเป็นมุกตลกแบบเศร้าๆ แต่ลึกซึ้งมากของหนังสุทิพย์ ลูกทุ่งบันเทิง เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ วันหนึ่งไอ้เท่งกับไอ้หนูนุ้ยเดินไปพบธนบัตรใบละ 100 บาทจำนวน 15 ใบโดยบังเอิญ ทั้งสองจึงตกลงที่จะแบ่งคนละเท่าๆ กัน แต่ด้วยความรู้น้อย ไม่สามารถคำนวณได้ ทั้งสองจึงใช้วิธีแจกทีละใบสลับกันทีละคนโดยเริ่มต้นที่ยื่นให้ไอ้หนูนุ้ยก่อน

“นี่ของหนูนุ้ย นี่ของเท่ง” สลับไป สลับมา ในที่สุดก็เหลืออยู่ 1 ใบซึ่งไม่รู้ว่าจะแบ่งกันอย่างไรจึงจะยุติธรรมตามหลักการที่ได้ตกลงกันแล้ว พวกเขาจึงเริ่มวิธีแจกใหม่อีกครั้งแต่โดยเริ่มต้นที่ไอ้เท่งก่อน “นี่ของเท่ง นี่ของหนูนุ้ย” แต่ในที่สุดก็เหลืออยู่อีก 1 ใบเช่นเดิม

ในขณะที่ทั้งสองกำลังคิดหาวิธีใหม่ บุรุษไปรษณีย์ขับรถมอเตอร์ไซค์ผ่านมาพอดี พวกเขาจึงขอความช่วยเหลือ บุรุษไปรษณีย์จึงทำหน้าที่แจกทีละใบเช่นเดิม

“นี่ของหนูนุ้ย นี่ของเท่ง นี่ของไปรษณีย์” ทีละรอบๆ จนครบหมดและลงตัว

ไอ้หนูนุ้ยกล่าวด้วยความดีใจว่า “เห็นไหมไอ้เท่ง คบกับคนที่มีความรู้ก็ดีอย่างนี้แหละ”

เมื่อเสร็จภารกิจบุรุษไปรษณีย์ก็จากไป ทั้งไอ้เท่งและไอ้หนูนุ้ยก็เดินเท้าต่อไปสู่จุดหมาย ในระหว่างเดินทางไอ้เท่งก็เปรยออกมาว่า “กูคิดๆ แลแล้ว รู้สึกว่ามันพรื่อโฉ้ๆ (แปลว่าแปลกๆ) นะไอ้หนูนุ้ย” ไอ้หนูนุ้ยจึงตอบไปว่า

“เฮ้ย มึงอย่าคิดมาก มันลงตัวแล้ว คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง”

ผมมีความเห็นว่านายหนังสุทิพย์ (ซึ่งเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว) ผู้คิดมุกเรื่องนี้ได้สะท้อนลักษณะของสังคมไทยได้ดีมากๆ ไม่เฉพาะแต่ลักษณะของคนภาคใต้เท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของคนไทยทั้งประเทศ ผมขอไม่วิจารณ์ให้เสียอรรถรส แต่จะขอนำไปสู่กรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดกระบี่ แล้วเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร

ชาวกระบี่ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่พวกเขาคัดค้านการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เพราะถ่านหินทำให้เกิดมลพิษทำลายสุขภาพ ทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวอันดามัน ทำลายอาชีพประมงและการเกษตรซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศมาแล้ว

พวกเขามีทางออกที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน แต่ใช้น้ำเสียจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีทลายปาล์ม ซึ่งมีปริมาณมากเกินพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าป้อนชาวกระบี่ทั้งจังหวัด นอกจากนี้ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งพูดตรงกับคุณวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและอดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่า “มันมีน้อย ไม่พอ” คนหลังนี้พูดในรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ในโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมกับบอกว่า “เป็นโรงเล็กๆ ต้องลงทุนอีกเยอะ”

ถ้าเปรียบกับเรื่องตลกในหนังตะลุง ผมว่าท่านทั้งสองนี้เป็น “คนมีความรู้” ที่เข้ามาแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไอ้เท่งกับไอ้หนูนุ้ย แต่ท่านอาจจะลืมไปว่าในยุคนี้สมัยนี้ข้อมูลข่าวสารสามารถหาได้ง่ายมาก จะมาหลอกกันง่ายๆไม่ได้แล้ว เรามาดูกันซิว่าความจริงเป็นอย่างที่ “คนมีความรู้” ได้บอกต่อคนไทยผ่านสื่อสาธารณะหรือไม่

แผ่นภาพข้างล่างนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอันได้แก่ พลังน้ำ กังหันลม ชีวมวล และโซลาร์เซลล์ในประเทศเยอรมนีในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว บางปีเพิ่มแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นผลมาจากการปรับนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเยอรมนีในช่วง 6 ปีสุดท้ายกลับลดลงเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ

เราพบว่า ในปี 2014 การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเดียวได้มากถึง 49,100 ล้านหน่วย หรือประมาณร้อยละ 29 ของที่คนไทยทั้งประเทศใช้ในขณะที่คน 14 จังหวัดภาคใต้ของไทยใช้ไฟฟ้าเพียงร้อยละ 9 ของประเทศเท่านั้น

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเยอรมนีมีขนาดเล็กคือประมาณ 0.5 ถึง 1 เมกะวัตต์ แต่เขามีจำนวนเกือบหนึ่งหมื่นโรงกระจายตัวทั่วประเทศ ผลกระทบจึงมีน้อย ไม่เหมือนกับในประเทศไทยที่มีขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพียงเพราะเพื่อเลี่ยงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ แผ่นภาพข้างต้นยังให้ข้อมูลอีกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (ซึ่งแสงแดดในประเทศเยอรมนีมีน้อยกว่าประเทศไทย) เกือบ 35,000 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนนี้มีมากกว่าที่คนไทยในภาคอีสาน 20 จังหวัดและ 17 จังหวัดภาคเหนือใช้รวมกันเสียอีก

ข้อมูลดังกล่าวช่างขัดแย้งกับที่ “คนมีความรู้” บอกกับประชาชนไทยเป็นอย่างมากครับ

นอกจากการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากแล้ว ประเทศเยอรมนียังผลิตไบโอก๊าซ (หรือไบโอมีเทน) ส่งเข้าไปในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยมีแผนว่าในปี 2020 และ 2030 จะสามารถผลิตได้ร้อยละ 6 และ 10 ของความต้องการใช้ทั้งประเทศตามลำดับ (ที่มา National Biomass Action Planfor GermanyBiomass and Sustainable Energy Supply April 2009)

เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยมีแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นจำนวนมาก ผมขอยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในอำเภอสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เป็นโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สขนาด 1 เมกะวัตต์โดยใช้หญ้าเนเปียร์มาหมักทำไบโอแก๊ส ใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้าประมาณ 600 ไร่ก็สามารถป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและตลอดไป ซึ่งได้เปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมเองได้มีโอกาสไปชมโรงไฟฟ้าแห่งนี้กับสมาชิกสภาปฏิรูปกลุ่มหนึ่ง ผมได้สอบถามระยะเวลาคืนทุนด้วย แต่น่าเสียดายผมหาที่จดบันทึกไม่เจอ แต่จำความรู้สึกได้ว่ามันเร็วมาก เร็วกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแน่นอน

ทางโรงไฟฟ้าอ้างว่าจะให้ชาวบ้านปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยทางบริษัทจะรับซื้อในราคาตันละ 300 บาทโดยมีผลผลิตประมาณ 40 ถึง 80 ตันต่อไร่ต่อปี โดยโรงงานไปตัดเอาเอง จะทำให้ผู้ปลูกมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทต้องการจะทำเช่นเดียวกันนี้ แต่ทางการไฟฟ้าฯ บอกว่าสายส่งเต็ม ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้

ก่อนจะไปที่ประเด็นราคาที่ “คนมีความรู้” บอกเรา ขอพูดเรื่องสายส่งเต็มก่อน ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จเรื่องพลังงานหมุนเวียนได้ เพราะเขามีกฎหมายให้ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน หลังจากนั้นจึงค่อยให้ผู้ผลิตจากพลังงานชนิดอื่นส่งไปได้ พูดง่ายๆ คือ เขาจำแนกระหว่างสิ่งที่ไม่ดีกับสิ่งที่ดีได้ ในขณะที่บ้านเราได้ทำสัญญาให้ของไม่ดีได้โอกาสขายแต่ผู้เดียว

มาถึงประเด็นสำคัญอีก 2 ประเด็นจาก “คนมีความรู้” ที่ทางรายการโทรทัศน์เชิญมาให้ความเห็น ท่านผู้นี้คือ รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ

ประเด็นแรกท่านบอกว่า เพิ่งกลับมาจากประเทศเยอรมนีไปนอนค้างบ้านเพื่อน ได้ความว่า ราคาไฟฟ้าที่นั่นหน่วยละ 45 ยูโรเซนต์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 16 บาทต่อหน่วย คนไทยพร้อมจะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงในระดับนี้หรือไม่ นอกจากนี้ท่านยังบอกอีกว่า เพื่อนลงทุนติดโซลาร์เซลล์ 17 แผ่นมูลค่าหนึ่งล้านบาท

ด้วยความรู้สึก “พรื่อโฉ้ๆ” ผมจึงส่งคำถามไปยังเพื่อนคนไทยที่อยู่ในเยอรมนี คำตอบที่ได้ในช่วง 3 ปีสุดท้ายคือ 2556 ถึง 2558 ค่าเฉลี่ยของบริษัทจำนวนประมาณ 1 พันรายพบว่าราคาหน่วยละ 28.8, 29.1 และ 28.81 เซนต์ตามลำดับ (ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยน 38.3 บาทต่อหนึ่งยูโร นั่นคือราคาไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 11.03 บาท 11.14 บาท และ 11.03 บาท ไม่ใช่ 16 บาท) ซึ่งต่ำกว่าที่ “คนมีความรู้” บอกเราค่อนข้างมาก

ผมเองเคยเข้าร่วมประชุมพลังงานหมุนเวียนโลกที่เยอรมนีเมื่อปี 2004 ยังจำได้ว่า(เพราะเขียนเป็นหนังสือไว้) ราคาไฟฟ้าขายปลีกในปีนั้นหน่วยละ 17 เซนต์ แต่บริษัทรับซื้อจากผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในราคาหน่วยละ 45 เซนต์ ในขณะที่รับซื้อจากถ่านหินในราคา 4 เซนต์เท่านั้น แล้วบริษัทนำมาขายปลีกรวมกันในราคา 17 เซนต์

เพื่อความชัดเจนกว่านี้ ผมขอเสนอเป็นกราฟของนักวิชาการชาวเยอรมันท่านหนึ่ง(มีชื่ออยู่ในภาพ) ดังนี้

จากกราฟพบว่า ในปี 2015 (ซึ่งเป็นการประมาณการ) ราคาไฟฟ้าภายในบ้าน (เส้นหมายเลข 6) ก็ประมาณ 28 เซนต์หรือประมาณ 10.70 บาท ตามที่เพื่อนผมบอก ในขณะที่ราคาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากหลังคา (กราฟหมายเลข 2) อยู่ที่ประมาณ 18 เซนต์ (6.90 บาท) นอกจากนี้ยังมีราคาในทวีปแอฟริกาตอนเหนือมาให้ดูประกอบซึ่งต่ำกว่าราคาในเยอรมนีอีก

สำหรับต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 17 แผ่นราคาหนึ่งล้านบาทนั้นผมไม่ทราบครับ แต่ราคาได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ในประทศไทยเมื่อปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติดตั้งขนาด 10 กิโลวัตต์ (ประมาณ 35 แผ่น ปกติราคาคิดตามจำนวนวัตต์) ราคา 1.5 ล้านบาท ถ้าติดใหม่ในวันนี้ราคาไม่น่าจะเกิน 6.5 แสนบาท คือลดลงกว่าครึ่งในช่วงเวลา 5 ปี หากทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้ไฟฟ้าไหลไปมาได้ระหว่างสายส่งกับผู้ติดตั้ง โดยให้มิเตอร์หมุนถอยหลังได้ แม้ไม่มีการชดเชยราคาเลย ผู้ติดตั้งจะคุ้มทุนภายในเวลา 9 ถึง 10 ปีเท่านั้น ที่เหลืออีก 16 ปีจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีได้เลย

ประเด็นที่สองที่ รศ.ดร.ภิญโญ นำเสนอก็คือ ให้ผู้ที่รักโลก รักสิ่งแวดล้อมมากๆ เช่น กรีนพีช ขอให้มาเป็นหัวหอก ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยติดตั้งแบบ Stand Alone คือใช้แบตเตอรี่ ไม่เชื่อมต่อกับสายส่ง

การใช้แบตเตอรี่ ปัญหาคืออายุการใช้งานสั้นและทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผมสงสัยแบบไอ้เท่งในหนังตะลุงก็คือ ทำไมท่านไม่เสนอให้รัฐบาลเปิดการเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่เรียกว่า Net Metering หรือระบบที่มีการชดเชยที่ราคาเหมาะสมตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้เสนอรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีนี้

วิธีการคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Metering นี้ ปัจจุบัน รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 44 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐได้ออกเป็นกฎหมายรองรับไปแล้ว โดยไม่มีการชดเชยใดๆ ทั้งๆ ที่ค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาต่ำกว่าประเทศไทย แต่ค่าแรงในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 24 เหรียญต่อชั่วโมงซึ่งสูงกว่าค่าแรงคนไทยมาก ทำไมเขาทำได้ ลงทุนแพงกว่า ไฟฟ้าถูกกว่า

ขอย้อนกลับไปที่ คุณวิบูลย์ คูหิรัญ “คนมีความรู้” ที่ผมอ้างแล้ว ท่านบอกว่า การผลิตไฟฟ้ามีการกำหนดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.385 กิโลกรัมต่อหน่วยไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้เขาทำได้ต่ำกว่าค่าที่กำหนดแล้ว ผมเข้าใจว่าท่านอ้างถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินนะ เพราะท่านยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยอง

ด้วยความสงสัยแบบเดียวกับไอ้เท่ง ผมจึงเข้าไปดูข้อมูลของทางราชการ (http://www.eppo.go.th/info/9emission_stat.htm) พบว่าแม้แต่ค่าเฉลี่ย (ซึ่งได้รวมเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยไว้แล้ว) ยังสูงกว่าที่ “คนมีความรู้” ได้บอกคนไทย คืออยู่ที่ 0.528 กิโลกรัมต่อหน่วยไฟฟ้า

ผมยกกราฟนี้มาให้ดูก็เพื่อยืนยันว่า บรรดาคนธรรมดาๆ อย่างไอ้เท่งและไอ้หนูนุ้ยได้ถูกคนมีความรู้หลอกกินเสียเป็นประจำซ้ำแล้วซ้ำอีก

สรุป

ผมติดใจคำพูดของไอ้หนูนุ้ยที่ว่า “เฮ้ย มึงอย่าคิดมาก มันลงตัวแล้ว คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง”

ผมจับน้ำเสียงของท่านนายกฯ ประยุทธ์ ท่านมักพูดอยู่เสมอว่า “อย่าขัดแย้งกันเลย อย่าคัดค้านเลย ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้า” ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของไอ้หนูนุ้ยในหนังตะลุงว่า “คิดมากแล้วเดี๋ยวมันจะยุ่ง” แต่ท่านไม่ศึกษาเลยว่าใครให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ใครให้ข้อมูลที่ผิด และประเทศชาติควรจะเดินไปทางไหน

ท่านนายกฯ พูดได้ว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร ความพอเพียงเมื่อไหร่จึงจะรู้จักพอ แล้วท่านก็ฟังแต่ข้อมูลฝ่ายเดียวข้อมูลที่ผมนำมาหักล้าง “คนมีความรู้” ทั้งหลาย ผมอ้างอิง มีหลักฐาน

ที่น่าเสียดายมากในการถกเถียงเรื่องพลังงาน เราไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นสำคัญของความเป็นคนขึ้นมาพูดกันเลย ไม่ได้พูดถึงทิศทางการพัฒนา พูดกันแต่เรื่องต้นทุนถูก ความมั่นคงพลังงาน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่กล่าวมาแล้วก็สามารถแทนที่ถ่านหินได้อย่างดี

เราลืมคำสอนที่พ่อแม่ใช้สอนลูกก็คือ “คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์” คือ (1) ความเป็นอิสระไม่เป็นทาสใครและสิ่งใด ไม่ว่ายาบ้าหรือหนี้สิน และ (2) ความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

คำถามก็คือ เราควรจะใช้พลังงานชนิดใดจึงจะสมกับคุณค่าของมนุษย์สองประการ ในอดีตเรามีข้อแก้ตัวว่าจำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพราะต้นทุนอย่างอื่นแพง มาบัดนี้มันกลับกันแล้ว เทคโนโลยีอื่นราคาถูกลงมาก ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ รวมทั้งน้ำทะเลเป็นกรดกำลังรุนแรงมากขึ้น และล้วนเกิดจากการเผาถ่านหินเป็นหลัก

สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังกระทำอยู่ในขณะนี้มีสองด้าน ด้านหนึ่งขอให้พ่อค้าได้ขายถ่านหินที่ทำร้ายโลก อีกด้านหนึ่งเหยียบไม่ให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนซึ่งช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระได้เกิดขึ้นเท่านี้จริงๆ

ไอ้เท่งและไอ้หนูนุ้ยครับ ท่านต้องรู้จักเลือก “คนมีความรู้” ท่านต้องหัดคิดเหมือนกับไอ้เท่ง แต่ต้องคิดให้ทันด้วย และที่สำคัญมากๆ คนที่รู้แล้วกรุณาอย่าเก็บความรู้ที่ถูกต้องไว้คนเดียว โปรดเผื่อแผ่ไปให้คนอื่นด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น