xs
xsm
sm
md
lg

ยากจบ! “เครือข่ายนักศิลปะวรรณกรรมและนักวิชาการภาคใต้” ออกโรงจี้รัฐบาลทหารให้เลิกคุกคามกวี ’รูญ ระโนด และนักวิชาการปัญญาชนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เกษม จันทร์ดำ หรือ ธัช ธาดา
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กลุ่มเครือข่ายนักศิลปะวรรณกรรมและนักวิชาการภาคใต้” กว่าร้อยชีวิต ร่วมเข้าชื่อในแถลงการณ์เรื่อง “ให้เลิกคุกคามกวี ’รูญ ระโนด และนักวิชาการปัญญาชนไทย” จี้ คสช.และรัฐบาลทหารถอนคดี เลิกคุกคาม และยุติการกระทำต่อ 5 คณาจารย์ที่ประกาศ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” พร้อมให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
 
นายเกษม จันทร์ดำ นักวิชาการ กวีและนักเขียน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มวรรณกรรม “นาคร” เปิดเผยว่า วันนี้ (26 พ.ย.) กลุ่มศิลปินผู้ทำงานศิลปะและวรรณกรรมแขนงต่างๆ รวมถึงนักวิชาการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้นับร้อยชีวิต ได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มเครือข่ายนักศิลปะวรรณกรรมและนักวิชาการภาคใต้” และออกแถลงการณ์เรื่อง “ให้เลิกคุกคามกวี ’รูญ ระโนด และนักวิชาการปัญญาชนไทย” ทั้งนี้ เป็นผลมาจาก คสช.และรัฐบาลได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้ออกมาประกาศว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องมานั้น
 

 
สำหรับเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้แก่ หลังจากกลุ่มทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย ตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มของตนว่า เพื่อยุติความรุนแรงความขัดแย้งทางการเมือง ยุติการแก่งแย่งผลประโยชน์ทางการเมือง ยุติความแตกสามัคคีของประชาชน จนไม่อาจปรองดองกันได้ ยุติปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ยุติการบังคับใช้กฎหมายปกติที่บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และก่อปัญหาความเดือดร้อนต่อประชาชนทุกระดับ
 
พร้อมให้สัญญาว่าจะดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลา 1 ปี จนย่างเข้า 1 ปี 6 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีแนวโน้มไปในทางที่ดี และไม่มีการกำหนดเวลาที่จัดเจน ทั้งได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจากการออกคำสั่งจากคณะของตน และรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตราที่ 44 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่คณะของตนประกาศใช้ ได้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ บังคับควบคุมประชาชนในชาติให้ไร้สิทธิไร้เสียงมาโดยตลอด
 
จนนำมาสู่กรณีการออกหมายศาลเรียกตัว กวี นักวิชาการและอาจารย์ จำนวน 5 คน คือ นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายมานะ นาคำ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายณฐพงษ์ จิตรพิรัตน์ และกวี ’รูญ ระโนด หรือนายจรูญ หยูทอง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ มารับข้อกล่าวหาจากการที่บุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันแถลงเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ณ สถานีตำรวจช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยข้อหา ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะทหารดังกล่าว
 
การกระทำของคณะทหารได้ปฏิบัติการต่อกวี ’รูญ ระโนด และอาจารย์นักวิชาการ ให้การใช้ชีวิตประจำวันเหมือนอยู่ในค่ายกักกัน (concentration camp) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเมืองของสังคมสมัยใหม่ ในลักษณะของพื้นที่เฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับควบคุม ปิดกั้น หรือกระทั่งกำจัดผู้ที่คิดเห็นต่างจากกลุ่มทหารผู้ทำรัฐประหาร อ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นข้ออ้างเพื่อการกำจัดศัตรูทางการเมือง และเพื่อกำจัดผู้คิดต่างทำให้กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ไร้คุณค่า เป็น ‘ขยะสังคม’ เช่น พวกเร่ร่อน โสเภณี หรืออาชญากรที่เคยต้องโทษแต่ไม่สำนึกตัว
 
ทำให้ทุกพื้นที่ในสังคมไทยเต็มไปด้วยความสับสน คลุมเครือ ไม่ได้เป็นอำนาจตามกฎหมายตามปกติ แต่เป็นเพียงอำนาจตามอำเภอใจของกลุ่มทหารรัฐประหาร ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนเหมือนอยู่ในค่ายกักกัน และอยู่ภายใต้กฎที่ไม่เป็นกฎของ ‘สภาวะยกเว้น’ (state of exception) เนื่องจากได้ใช้เงื่อนไขพิเศษ ให้อำนาจทางทหารเข้ามายึดครองพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเคยอยู่ในอำนาจของพลเรือน และมีการโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยไปไว้ที่คนคนเดียว เพื่อให้ทรงอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายกับใครก็ได้ มีการระงับใช้บางบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิของพลเมือง สิทธิต่างๆ ถูกเพิกถอนจนกลายสภาพเป็น ‘ชีวิตที่เปลือยเปล่า’ (bare life) ที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิตามวิถีปกติที่เคยเป็น กลายเป็น ‘ค่ายกักกัน’ ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้เป็นตัวแทนของอำนาจแห่งองค์อธิปัตย์ และชีวิตที่เปลือยเปล่าของกลุ่มคนที่ไร้สิทธิพลเมือง อันเป็นสภาวะยกเว้นที่เกิดขึ้นหลังจากอำนาจทางทหารแผ่เข้ายึดครองพื้นที่ทางการเมือง และยึดกุมอำนาจสูงสุดเอาไว้
 
ทำให้สังคมรัฐไทยกลายเป็นค่ายกักกันที่มีเส้นแบ่งอันพร่าเลือน ระหว่างความรุนแรงและความสงบเรียบร้อย ระหว่างการใช้อำนาจตามอำเภอใจและกฎหมาย กระทั่งไม่อาจแบ่งแยกได้ระหว่างพื้นที่ภายในหรือภายนอกค่ายกักกัน
 
“ปฏิบัติการทางอำนาจขององค์อธิปัตย์ และบรรดาตัวแทนทางอำนาจของกลุ่มทหารดังกล่าว ทำให้ กวี’รูญ ระโนด คนที่ผลิตวรรณกรรมและศิลปกรรม อาจารย์นักวิชาการ ตามสถานศึกษา หรือมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปมีชีวิตอันเปลือยเปล่าราวกับตกอยู่ในค่ายกักกันโดยถ้วนหน้ากัน” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุไว้ก่อนที่จะเสริมว่า
 
เพื่อให้ กวี ’รูญ ระโนด ศิลปินทุกสาขา อาจารย์นักวิชาการ ตามสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปดำเนินวิถีชีวิตประจำวันไปตามปกติ เพื่อให้สถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ และการดำรงอยู่เยี่ยงสังคมอารยะ การออกหมายเรียกและการตกเป็นผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไร้ความยุติธรรม ละเมิดสิทธิในการใช้ชีวิตของกวี ศิลปินทุกสาขา อาจารย์นักวิชาการ และประชาชน
 
“เรายืนยันที่จะต่อสู้เพื่อให้สังคมไทย มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ สนับสนุนให้เกิดเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย และเลิกปฏิบัติการที่ทำให้ผู้คนในสังคมไทยกลายเป็นนักโทษในค่ายกักกัน ไม่เป็นดินแดนที่ยัดข้อมูลลงไปในสมองของนักศึกษาและประชาชน ขอให้ทหารถอนคดี เลิกคุกคาม และยุติการกระทำต่อบุคคลดังกล่าว และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด” แถลงการระบุไว้ในตอนท้าย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น