xs
xsm
sm
md
lg

“คณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี” จี้ รบ.ทหารหยุดล่ามโซ่นักวิชาการ ย้ำชัด “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คลื่นนักวิชาการสายใต้ยังกระเพื่อมไม่หยุด! เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี ออกแถลงการณ์ชี้ชัด “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” จี้ คสช. และรัฐบาลทหารหยุดล่ามโซ่เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยการยัดเยียดข้อหาอาญา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 พ.ย.) คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช รวม 11 คน ได้ออกแถลงการณ์ในนาม “เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี” ฉบับที่ 1 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน และคัดค้านการดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่ม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”
 
สำหรับการออกแถลงการณ์ของคณาจารย์ มวล.ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการจาก 7 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันจัดแถลงข่าว และมีการอ่านแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นมีนักวิชาการ จำนวน 6 คน ซึ่ง 2 ในจำนวนนี้คือ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ และ อ.จรูญ หยูทอง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา ถูกนายทหารยศนายพันแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้ตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาเวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) ซึ่งทั้งหมดมีการนัดแนะจะเดินทางไปรายงานตัวพร้อมกันแล้ว
 
สำหรับแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี ฉบับนี้มีเนื้อหา ได้แก่ จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี เห็นว่า การตั้งข้อหาจำคุกต่อคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิด และความรู้แก่สังคม
 
เราสนับสนุนว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” หากแต่เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัย และสังคม
 
เรายืนยันว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” ประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อ และความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือ เสรีภาพในความเชื่อ และการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผล และข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนคนไทยประดุจผู้ถูกกักกัน ด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็น มีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้
 
เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี จึงเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หยุดข่มขู่คุกคามคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ และหยุดกิจกรรมทางกฎหมายกำลังดำเนินการต่อ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ในปัจจุบัน และอนาคต ทั้งนี้ เพื่อคืนบรรยากาศของเสรีภาพ และประชาธิปไตยสู่สังคมไทย อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความวัฒนาถาวรของประเทศไทยในโลกยุคปัจจุบัน
 
สำหรับผู้ร่วมลงนามแถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี ฉบับที่ 1 ประกอบด้วย 1.อ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2.อ.นฤมล กล้าทุกวัน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 3.อ.ปิยชาติ สึงตี สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 4.อ.เพ็ญศรี พานิช                 สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 5.อ.มนวัธน์ พรหมรัตน์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6.อ.ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 7.อ.วิทยา อาภรณ์  สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 8.อ.สุรัช คมพจน์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 9.อ.อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 10.อ.อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ 11.อ.อุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น