xs
xsm
sm
md
lg

หมายเรียก! 7 อาจารย์มหาวิทยาลัยดัง “ชุมนุมเกิน 5 คน” หลังออกแถลงการณ์ทวง “เสรีภาพทางปัญญาฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การอ่านแถลงการณ์ของคณะอาจารย์มหาวิทยาลัย 7 แห่งทั่วประเทศเมื่อ 31 ต.ค.2558
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ตำรวจ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ออกหมายเรียกนักวิชาการมหาวิทยาลัย 7 แห่งทั่วประเทศ ข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.หลังร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” เมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ได้รับหมายเรียกตัวจาก สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ระบุว่า “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วย นายจรูญ หยูทอง ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัย 7 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย ม.ทักษิณ ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.วลัยลักษณ์ ม.ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีแถลงข่าว และออกแถลงการณ์ในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ณ โรงแรม IBIS จ.เชียงใหม่
 

 
ทั้งนี้ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมแถลงข่าว และอ่านแถลงการณ์ นอกจาก รศ.ดร.ณฐพงศ์ และ อ.จรูญ จาก ม.ทักษิณแล้ว ยังมีประกอบด้วย ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ และ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล จาก ม.เชียงใหม่ ดร.มานะ นาคำ จาก ม.ขอนแก่น เป็นต้น โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้

“จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้

ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมอง หรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และข้อเท็จจริงจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์ และสังคมมีความรู้ และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหา และเผชิญหน้าต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำ และยึดมั่นในวิธีคิด และอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทย และสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การปลูกฝังอุดมการณ์ หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคม หมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว

ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่า การทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์ หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพ ตลอดจนความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่ในมุมมองที่แตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง

ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ ที่ชีวิต และความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืน หรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง

การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาค และเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่า การที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐาน คือ ต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการต่อปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรม และโปร่งใส มีระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง และตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือ สังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรม และค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจ ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญา และไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบัน และอนาคต”
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีหมายเรียกจากตำรวจ ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ “ประชาไทออนไลน์” ระบุว่า อันเนื่องมาจากความปรารถนาที่จะให้สังคมเข้าใจว่า “มหาวิทยาลัยควรจะทำหน้าที่อย่างไร” จึงทำให้เกิด “หมายเรียกผู้ต้องหา” มาถึงตัว ก็คงต้องบอกว่า “เอาเถอะครับท่าน ทำตามที่ท่านสบายใจ”

แต่เราในฐานะคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็จะยังคงสอนนักศึกษาอย่างที่ควรจะสอน และแน่นอนที่สุด เราก็จะ “ชุมนุมกัน” เพื่อแสดงความคิดเห็นของเราต่อสังคมต่อไป (อาจจะเกินห้าหรือน้อยกว่าห้าคนแล้วแต่สถานการณ์) เพราะเราไม่สามารถที่จะทนให้ความคิดเห็นที่อาจจะทำร้ายการศึกษาระบาดไปโดยไม่ได้ทัดทาน

เราต้องบอกว่าไม่รู้สึกผิดเลยแม้แต่น้อยในการกระทำครั้งนี้ของเรา แต่เราจะรู้สึกผิดมากหากเราไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำ เพราะเราไม่อยากจะอายต่อตัวเองว่าไม่กล้าที่พูดสิ่งที่เราคิดว่าถูก และควรจะพูด
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น