xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายืนคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่น บก.ประชาไท ปล่อยข้อความหมิ่นฯ ค้างบนเว็บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท แต่ให้รอลงอาญา บก.เว็บประชาไท กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปล่อยให้ข้อความหมิ่นเบื้องสูงอยู่ในเว็บไซต์เป็นเวลานาน

ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (23 ธ.ค.) ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1167/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลยในความผิดฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และ 15

คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 เม.ย. - 3 พ.ย. 2551 เวลากลางคืนติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์โดยเป็นผู้ดูแล (Web master) เว็บไซต์ประชาไทดังกล่าว ได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการดำเนินการนำข้อความอันเป็นข้อมูลมีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 10 กระทู้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย เหตุเกิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงจอมพล เขตจตุจักร, แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. และทั่วราชอาณาจักรไทยเกี่ยวพันกัน

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความทั้ง 10 กระทู้เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีการนำเข้าสู่เว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยจะเป็นผู้นำข้อความกระทู้ทั้ง 10 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือจงใจ สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับเป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ดูแลเว็บไซต์ดำเนินการแก้ไขกรณีมีข้อความที่ไม่เหมาะสมว่าควรมีระยะเวลานานเพียงใดกรณีนี้จะถือว่าผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวทันที หลังมีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตนั้น นับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการฐานะตัวการ แต่จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบมีกระทู้ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิได้คำนึงถึงภาระหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อให้หลุดพ้นในการรับผิดดังกล่าวและทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้นย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ศาลเห็นว่าหากจำเลยมีความใส่ใจดูแลตรวจสอบตามหน้าที่ควร ใช้เวลาในการตรวจสอบเมื่อเห็นข้อความที่ไม่เหมาะสมควร ลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาอันสมควรเพราะหากปล่อยเวลาให้นานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อความไปเผยแพร่ต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อผู้เกี่ยวข้อง เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้ เห็นได้ว่ากระทู้จำนวน 9 กระทู้ ยังอยู่ในกระดานสนทนาอยู่ จำเลยเป็นผู้ดูแลเป็นเวลา 11 วัน, 1 วัน, 3 วัน, 2 วัน, 2 วัน, 1 วัน, 3 วัน, 2 วัน และ 1 วัน ตามลำดับ อยู่ในกรอบเวลาอันสมควร แต่ปรากฏหลักฐานว่ามี 1 กระทู้ ที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นเวลานานถึง 20 วัน เกิดกำหนดเวลาอันควรที่จำเลยควรจะตรวจสอบและนำข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ที่จำเลยนำสืบว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่เว็บไซต์ประชาไทมากขึ้นจึงมีการเปิดมาตรการในการควบคุมโดยมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าสู่เว็บไซต์ หากพบมีข้อความลักษณะที่ไม่เหมาะสมก็สามารถนำออกได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากจำเลยนั้น เห็นว่าเป็นหน้าที่ขอจำเลยในฐานะผู้ให้บริการแต่ยังไม่เพียงพอภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแล ที่ให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการควบคุมของจำเลยมีอยู่ เช่นใดก็คงมีอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนจุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มุ่งเน้นในเรื่องสิทธิที่ถูกต้องในส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลก็ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ หรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กรและตัวเองให้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็น หรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อจำเลยกระทำผิดตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นจำเลยจึงมิอาจอ้างซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดได้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา14 (3) ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้างลดโทษให้1ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทมีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์และมีความใกล้ชิดกับเนื้อหาข้อมูล แต่จำเลยกลับยินยอมให้มีการนำข้อความอันไม่เหมาะสมมาเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์เป็นเวลานาน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ประชาไทพบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นสถาบันฯ ถึง 4 ครั้ง พร้อมส่งจดหมายถึงจำเลยในฐานะผู้บริหารเว็บไซต์

ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลให้บริการได้รู้เห็นว่ามีกระทู้ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในควบคุมของจำเลย แล้วยินยอมให้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่ลดโทษให้1ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น