ASTV ผู้จัดการ - ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับ ยกฟ้อง น.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข ในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังโพสต์ข้อความลงเว็บประชาไท เนื่องจากพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย ด้านบิดาเผยว่าสบายใจขึ้นเพราะเชื่อลูกสาวไม่ได้ทำ
ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันนี้ (20 ต.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำ อ.1257/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 มีการโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ประชาไท ด้วยข้อความที่ทำให้เสื่อมเสียต่อเบื้องสูง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2554 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่เป็นหมายเลข IP ADDRESS ซึ่งใช้โพสต์ข้อความและเบอร์โทรศัพท์สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 เห็นว่า แม้ไม่มีประจักษ์พยาน แต่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เบิกความยืนยันว่า การปลอมแปลง และการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้หมายเลข IP ADDRESS ของจำเลยทำได้ยาก เพราะหมายเลข IP ADDRESS ในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความจำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย ซึ่งหากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลย ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตนเอง จึงพิพากษากลับว่าจำเลยกระทำผิด ม.112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ม.14 ซึ่งการกระทำเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ ตาม ม.112 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก 5 ปี และให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด
จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้คดี ซึ่งระหว่างฎีกานั้นจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว วงเงินประกัน 1 ล้านบาท โดยวันที่ 11 ก.ย. 2558 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ น.ส.นพวรรณ จำเลยไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลจึงให้ออกหมายจับ ปรับนายประกัน 1 ล้านบาท และเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งวันนี้ทนายความและบิดาจำเลย ซึ่งเป็นนายประกันเดินทางมาศาล และแถลงต่อศาลว่ายังไม่สามารถติดตามจำเลยได้ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ ว่า คำเบิกความขอผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า ซึ่งให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต พยานโจทก์ รับฟังว่า พยานตรวจสอบข้อมูลหมายเลข IP ADDRESS ชึ่งโพสต์ข้อความในวันที่ 15 ต.ค. 2551 พบว่าเป็นรหัสของนางธนาวรรณ ตั้งอุดมสุข เชื่อมต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ และมี IP ADDRESS มีชื่อนางธนาวรรณ เป็นลูกค้าไม่ใช่จำเลย เนื่องจาก username เป็นคนละชื่อกับใบสมัครของจำเลย นอกจากนี้ ยังได้ความจากเจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ว่า พยานได้ตรวจพิสูจน์เครื่องคอมฯ แบบพกพาและอุปกรณ์เก็บข้อมูลของกลาง ไม่พบการเปลี่ยนข้อความเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 ในของกลางดังกล่าว แต่กลับพบข้อความในคอมพิวเตอร์ของกลางมีการติดต่อกับเว็บไซต์ประชาไท ทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุหลายครั้ง เห็นว่า โจทก์มีแต่ IP ADDRESS เป็นพยานแวดล้อมซึ่งไม่อาจบ่งชี้ได้แน่ชัดว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความ ทั้งพยานโจทก์ต่างเบิกความไม่สอดคล้องกัน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยพอสมควรให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ภายหลังบิดาของ น.ส.นพวรรณกล่าวว่า สบายใจขึ้น เพราะเชื่อว่าลูกสาวไม่ได้กระทำผิด จากนี้จะทำเรื่องขอถอนหมายจับ และพยายามติดต่อลูกสาวเพื่อแจ้งว่าคดีจบแล้ว ก่อนหน้านี้ติดต่อลูกสาวไม่ได้เลย คาดว่าเพราะไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อน