xs
xsm
sm
md
lg

ออกหมายจับ “นพวรรณ” เบี้ยวฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมิ่นเบื้องสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

น.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข (ภาพจากแฟ้ม)
ASTV ผู้จัดการ - ศาลสั่งออกหมายจับ “นพวรรณ ตั้งอุดมสุข” ไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมิ่นเบื้องสูงและผิด พ.ร.บ.คอมพ์ กรณีโพสต์ข้อความลงเว็บประชาไท ปี 51 นัดใหม่ 20 ต.ค.นี้ พร้อมสั่งปรับเงินนายประกัน 1 ล้านบาท โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลย 5 ปี

วันนี้ (11 ก.ย.) เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข จำเลยในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2551 จำเลยได้พิมพ์ข้อความอันเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง แล้วนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวได้อ่าน การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เบื้องสูงได้ โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นไอพีแอดเดรส และเบอร์โทรศัพท์สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ตไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย

ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไทและตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพบว่า ไอพีแอดเดรสตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย นอกจากนี้ ตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของจำเลยพบว่า วันและเวลาตรงกับการกระทำผิดในคดีนี้ซึ่งผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะต้องมีรหัสผ่าน และใช้หมายเลขโทรศัพท์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เมื่อตรวจสอบพบว่าข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าวตรงกับจำเลยที่สมัครสมาชิกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบผู้ใช้งานในวันและเวลาขณะเกิดเหตุพบว่ามีผู้ใช้งานเพียงคนเดียว ซึ่งไอพีแอดเดรสของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกัน และมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าถูกบุคคลอื่นปลอมแปลงไอพีแอดเดรสนั้นเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าการปลอมแปลงไอพีแอดเดรส และการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้ไอพีแอดเดรสของจำเลยทำได้ยาก เพราะไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความจำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย หากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลยก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตนเอง เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ซึ่งความผิดเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี และให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด

ต่อมาญาติของ น.ส.นพวรรณได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินย่าน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มูลค่า 1 ล้านบาทเศษ ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ น.ส.นพวรรณได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท

ในวันนี้บิดาของ น.ส.นพวรรณซึ่งเป็นนายประกัน พร้อมทนายความจำเลยได้เดินทางมาศาล ต่อมาทนายความจำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยให้มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีเจตนาจงใจที่จะไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จึงให้ออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษา และสั่งปรับนายประกันเต็มจำนวน 1 ล้านบาท และให้เลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 20 ต.ค. เวลา 09.30 น.

ทั้งนี้ ศาลได้กำชับทนายความและนายประกันว่าหากไม่สามารถตามตัวจำเลยมาศาลได้ในนัดหน้า ศาลจะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย

ขณะที่บิดาซึ่งเป็นนายประกันจำเลยเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ติดต่อ น.ส.นพวรรณ ทางโทรศัพท์เพื่อให้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ซึ่งลูกสาวรับปากว่าจะเดินทางมาฟังคำพิพากษา กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมาตนก็ไม่สามารถติดต่อ น.ส.นพวรรณได้อีกเลย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น