ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องอดีตโปรแกรมเมอร์ คดีโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ระบุหลักฐานยังไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (13 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.4857/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ ภูไชยแสง หรือภูไชยแสน หรือภูไชแสง อายุ 44 ปี อาชีพโปรแกรมเมอร์อิสระ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, 17
อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2554 ระบุความผิดว่า จำเลยเป็นเจ้าของอีเมล “dorkao@hotmail.com และ Facebook ขอสงวนชื่อ โดยเมื่อวันที่ 4-16 พ.ค. 2554 จำเลยได้เขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเหตุเกิดที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี, แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.,ทั่วราชอาณาจักรไทยเกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์จะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ที่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความหรือวิธีการที่ใช้ในการแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องพยายามเก็บรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้เพราะการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่งปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลยแล้ว กลับมีผู้เปิดใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของกลางในวันที่ 2 ก.ย. 2554 และวันที่ 7 ก.ย. 2554 ซึ่งเป็นวันก่อนที่คอมพิวเตอร์จะถูกส่งไปทำการตรวจพิสูจน์อาจเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ง่าย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลางมีข้อบกพร่องกระทบต่อความน่าเชื่อถือ
จึงยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ข้อมูลการใช้อีเมล dorkao@hotmail.com และชื่อในเฟซบุ๊ก เกิดขึ้นจากการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 พิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในคดีหมิ่นเบื้องสูง ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทย อีกทั้งการลงโทษจำเลยในคดีอาญาจะต้องมีพยานหลักฐานแน่นหนาชัดเจน ซึ่งจากการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยปรากฏว่าภายหลังจำเลยถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแล้ว กลับมีผู้เปิดใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่อาจทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปได้ ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนยี (ปอท.) ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการกระทำผิดตามฟ้องอย่างไรบ้าง โดยอ้างเพียงข้อมูลจากสายลับในชั้นสืบสวนและจับกุมจำเลย แต่ก็ไม่ได้นำสายลับดังกล่าวมาเบิกความต่อศาล ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะโต้แย้งพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ทั้งนี้แม้จำเลยจะมีความคิดและทัศนคติแตกต่างจากคนทั่วไปหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำความผิดข้อหาหมิ่นเบื้องสูง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนและให้คืนของกลาง
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ฟ้องมานั้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
นายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ศาลยกฟ้องโดยยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ส่วนตัวรู้สึกพอใจ เพราะยืนยันความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น สบายใจที่ศาลเปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผล ขอขอบคุณกับกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรับฟังและให้ความยุติธรรม หลังจากนี้จะได้ไปลงทุนหรือการทำธุรกิจก็น่าจะสบายใจขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินคดีฟ้องกลับหรือไม่ นายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ กล่าวว่า ขอปรึกษากับทีมกฎหมายก่อน ประเด็นหลักคือหลักฐานที่ชี้ชัดให้ศาล คือ เชื่อว่าอาจมีการสร้างหลักฐานซึ่งเป็นประวัติการใช้งานเฟซบุ๊กที่กล่าวอ้าง จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมกู้ไฟล์กู้ขึ้นมา พบว่ามีร่องรอยตรงนี้เกิดขึ้นในเครื่อง แต่ประเด็นที่ตนเองใช้ต่อสู้ในชั้นศาล คือ หน้าโปรไฟล์หรือเพจสามารถยืนยันได้ว่าเจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ไปที่เฟซบุ๊กไหนบ้าง เมื่อสมัครสมาชิกหรือล็อกอินเว็บไซต์ปกติจะเกิดหลักฐานที่เครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่สามารถใช้ได้กับเฟซบุ๊ก อีกประเด็นหนึ่งที่มั่นใจคือ หลักฐานที่กู้มามีการแก้ไขในสาระสำคัญ เอกสารที่เปิดด้วยโปรแกรมอ่านไฟล์มันต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวอักษรพิมพ์เดียวกัน แต่ที่พบเนื้อความสำคัญ เลขไอดีโปรไฟล์ ชื่อเฟซบุ๊ก กลับมีการแก้ไขดังกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่ศาลยกฟ้องเพราะมีการแก้ไขข้อมูลในคอมพิวเตอร์ใช่หรือไม่ นายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์กล่าวว่า ท่านไม่ได้ลงรายละเอียด แต่บอกว่าหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้มีประเด็นยิบย่อยอีกมากมาย ตั้งแต่การแอบเปิดเครื่องก่อนถึงพิสูจน์หลักฐาน ขณะนี้ยังไม่ได้คอมพิวเตอร์กลับมา ถ้าหากได้คอมพิวเตอร์กลับมาก็จะทราบหมดว่าใครทำอะไร เพราะมันเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัว รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน อีกทั้งมีระบบป้องกันอยู่ อีกทั้งการอยู่ในเรือนจำโดยไม่ให้ประกันตัวทำให้การสื่อสารกับทนายความเป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก ไม่มีเครื่องมือที่จะอธิบายให้ทนายความเข้าใจ เพราะเทคนิคทางด้านคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่อธิบายยาก อีกทั้งกฎหมายคอมพิวเตอร์ของไทยเป็นกฎหมายใหม่อีกด้วย