วัดทิพย์สุคนธาราม ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง-บ่อพลอย ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัว ได้ถวายที่ดิน 339 ไร่ เพื่อสร้างวัด โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ได้รับอุปถัมภ์การสร้างวัดมาตั้งแต่ต้น และได้ตั้งนามวัดว่า “วัดทิพย์สุคนธาราม”
เริ่มแรกวัดทิพย์สุคนธารามมีเพียงศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ และกุฏิ 5 หลัง มีพระสงฆ์จำพรรษา 4รูป จากนั้นจึงได้สร้างพระอุโบสถรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนางดงามขึ้นจนแล้วเสร็จ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
บนที่ดินผืนนี้ ไม่เพียงสร้างวัดทิพย์สุคนธารามขึ้นมาเท่านั้น แต่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ยังได้มีดำริจัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ศิลปะแบบคันธาระ ประดิษฐานไว้ ณ พระอารามแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ได้ถูกระเบิดทำลายไป และเพื่อเป็นศูนย์รวมความเคารพสักการบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้กลายเป็นพุทธอุทยาน ตลอดจนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น
“พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้ดำริจัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12สิงหาคม 2555
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้เป็นผู้ออกแบบ ดูแล แก้ไข และตั้งนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” อันมีความหมายถึง
1. พระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยและชาวโลก
2. พระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของสามโลก ได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก
3. พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน
โดยเมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2553 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทรงสดับพระธรรมเทศนา ณ วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์จึงได้ถวายพระพรถึงเรื่องความตั้งใจที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงรับเป็นพระราชธุระ ที่จะทรงช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระมหาธีราจารย์มรณภาพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงรับโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ต่อไป
สำหรับพุทธลักษณะอันงดงามของพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนหรือปางคันธารราฐ อยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน ทรงผ้าวัสสิกสาฎก พระหัตถ์ขวานิ้วพระหัตถ์จีบยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก) เป็นกิริยากวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดหงายในระดับพระโสณี (สะโพก) เป็นกิริยารองรับน้ำฝน หล่อด้วยโลหะสำริด สูง 32 เมตร หมายถึง อาการแห่งกายครบบริบูรณ์ทั้ง 32 ประการของมนุษย์ ประดิษฐานบนฐานสูงประมาณ 8 เมตร บนลานประทักษิณ กล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดที่สูงที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะกายวิภาคที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ ตามแบบศิลปะคันธาระ ทั้งลีลาของพระกร พระหัตถ์ และการนุ่งห่มจีวรที่สามารถมองเห็นพระบาททั้งสองข้างอย่างชัดเจน โดยการจัดสร้างได้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างเหล็กภายในองค์พระ รวมทั้งหล่อผิวด้วยโลหะสำริดคุณภาพดีที่สุดจากต่างประเทศ
“พุทธอุทยานพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ” แห่งนี้ ประกอบด้วย องค์พระและลานประทักษิณ อาคารสำนักงานและศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารร้านขายของที่ระลึก อาคารโรงอาหาร สวนป่าพุทธอุทยานและนิทรรศการกลางแจ้ง อาคารนิทรรศการ วัดทิพย์สุคนธาราม และอ่างเก็บน้ำในพระบรมราชินูปถัมภ์
บรรยากาศบริเวณสวนป่าพุทธอุทยานนั้นสงบร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งยังมีนิทรรศการชุด “อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้” ที่จัดแสดงไว้ทั้งภายในอาคารนิทรรศการ และนิทรรศการกลางแจ้ง เพื่อให้ทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับภายในอาคารนิทรรศการ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ โดยแบ่งออกเป็น 4 โซนด้วยกัน คือ
โซน 1 : “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” แสดงถึงที่มาของโครงการและรายละเอียดการจัดสร้างองค์พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์ กับพระพุทธศาสนาอีกด้วย
โซน 2 : “การเดินทางของพระพุทธศาสนา” แสดงถึงต้นกำเนิดและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
โซน 3 : “เจติยะ” สิ่งที่ควรบูชา แสดงถึงแก่นและเปลือกของพระพุทธศาสนา
โซน 4 : “คบเพลิงแห่งธรรม” แสดงถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนา เมื่อใดคำสอนของพระพุทธองค์เข้าถึงกลางใจ...เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาจะคงอยู่สืบไป
ส่วนนิทรรศการกลางแจ้งที่บริเวณสวนป่าพุทธอุทยานและลานปฏิบัติธรรม ได้จัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ขณะนี้โครงการจัดสร้างทุกส่วนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558
จากอดีตที่เคยเป็นสภาพพื้นที่แห้งแล้ง แต่บัดนี้ภูมิทัศน์โดยรอบ ได้แปรเปลี่ยนเป็นสวนป่าแห่งพุทธธรรมอันงดงาม ที่ให้ความร่มรื่น ฉ่ำชื่นใจ มีองค์พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ประดิษฐานโดดเด่นเป็นสง่า เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนและเหล่าพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศที่ได้มากราบสักการะครั้งหนึ่งในชีวิต
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)