xs
xsm
sm
md
lg

มวล.เตรียมฟ้องกลับอดีตคู่สัญญาสร้างศูนย์การแพทย์ หลังศาลยกฟ้องคดียกเลิกสัญญาจ้าง 2.3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - รักษาการอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดแถลงหลังศาลยกฟ้องคดีศูนย์การแพทย์มูลค่า 2.3 พันล้าน ระบุเตรียมฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายต่อเอกชนอดีตคู่สัญญาที่ใช้เอกสารปลอมรวมมูลค่า 430 ล้าน

วันนี้ (2 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อดีตอธิการบดี ซึ่งได้ตกเป็นจำเลยในคดีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ มูลค่ากว่า 2.3 พันล้านบาท โดยมีโจทก์คือ กิจการร่วมค้าพีวีที ได้ยื่นฟ้องต่อศาล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานความผิดอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ได้เปิดแถลงหลังจากที่ศาล จ.นครศรีธรรมราช ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้

ดร.สุเมธ ระบุว่า ในคดีที่ ม.วลัยลักษณ์ ได้ยกเลิกสัญญาในโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ต่อกิจการร่วมค้าพีวีที ได้ถือเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นการปฏิบัติราชการอย่างถูกต้องแล้ว การใช้เอกสารปลอมของกิจการร่วมค้าพีวีที ถือเป็นความรับผิดของโจทก์คือ พีวีทีร่วมค้า

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อรรจน์ อิงคนินันท์ บัณฑิตย์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย ระบุว่า มหาวิทยาลัยได้ฟ้องแย้งต่อกิจการร่วมค้าพีวีที เช่นเดียวกัน โดยมีการประเมินความเสียหายของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ รวม 19 ประเด็น ในการสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ค่าเสียโอกาสของนักศึกษาแพทย์ และส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 430 ล้านบาท และในขั้นที่ 2 จะมีการพิจารณาในส่วนของดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 โดยจะเริ่มคิดจากนับแต่วันที่มีการฟ้องแล้ว



 
ดังนั้น จะมีค่าเสียหายใน 2 ส่วนที่เกิดขึ้น คือ ค่าเสียหาย และอีกส่วนคือดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ได้มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอีกด้วย ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นพนักงานรู้ความลับในทางราชการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เปิดเผยข้อความข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ได้มา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ สืบเนื่องจากการนำเอาข้อมูลไปเปิดเผยให้คู่กรณีของมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ

วันเดียวกัน ผู้บริหารเจ้าหน้าที่คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันติดเข็มกลัด Strong Together เพื่อร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายในมหาวิทยาวลัยลักษณ์ ท่ามกลางความพยายามในการแก้ปัญหา

ส่วนรายงานกระบวนการพิจารณาของศาล จ.นครศรีธรรมราช โดยสรุปศาล จ.นครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่กิจการร่วมค้า พีวีที เป็นโจทก์ ฟ้องคดีอาญา ม.วลัยลักษณ์ เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหาบอกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ มิชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้ ผู้พิพากษาศาล จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.4356/2557 ระหว่าง กิจการร่วมค้า พีวีที/โจทก์ กับ นายกีร์รัตน์ สงวนไทร/จำเลยที่ 1 นายสุเมธ แย้มนุ่น/จำเลยที่ 2 นายอรรจน์ อิงคนินันท์ บัณฑิตย์/จำเลยที่ 3 และ นายเลิศชาย ศิริชัย/จำเลยที่ 4 ในคดีความอาญา กรณีความผิดที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ และระบบสาธารณูปการ สัญญาเลขที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยในวันนี้ฝ่าย ม.วลัยลักษณ์ มี ผศ.ดร.อรรจน์ อิงคนินันท์ บัณฑิตย์/จำเลยที่ 3 และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยฯ พร้อมด้วยทนายความมาศาล



 
ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิจาณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่โจทก์ ได้ยื่นต่อศาลเพื่อประกอบข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยได้นำมาแสดงต่อศาลอย่างรอบคอบแล้ว มีความเห็นว่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญานั้นเป็นการปฏิบัติราชการที่ถูกต้องแล้ว การกระทำดังกล่าวของฝ่ายจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องมาทั้งหมด การที่จำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ ย่อมต้องปฏิบัติราชการให้ถูกต้อง และใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์

ในทางกลับกัน หากจำเลยไม่กระทำการดังกล่าวอาจจะเป็นความผิดทั้งทางวินัยและอาญา รวมทั้งมีความผิดทางกฎหมายปกครอง และอาจจะถูกฟ้องร้องทางแพ่งได้ด้วย ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น