ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ท่าอากาศยานภูเก็ต จัดโครงการ “สื่อมวลชนภูเก็ตสัญจร ณ เชียงราย - HKT Press Tour” นำสื่อมวลชนในภูเก็ต บินลัดฟ้าสู่สนามบินดอนเมือง และแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อประชาสัมพันธ์ความพร้อมของสนามบินแม่ฟ้าหลวงในการรองรับผู้โดยสาร และยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมและผลิตนักบินในอนาคตอันใกล้นี้ พร้อมโชว์ความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางข้ามภูมิภาค รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่การท่าฯ ภูเก็ต และสื่อมวลชน
ท่าอากาศยานภูเก็ต “จัดโครงการสื่อมวลชนภูเก็ตสัญจร ณ เชียงราย - HKT Press Tour” ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา โดยนำสื่อมวลชนในจังหวัดภูเก็ตกว่า 30 ชีวิต บินลัดฟ้าสู่จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา นำโดย นางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วย นายอำนวย สาระชาติ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) เรืออากาศตรีธานี ช่วงชู รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายสนับสนุนธุรกิจ) และเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนในจังหวัดภูเก็ต กับบุคลากรของท่าอากาศยานภูเก็ต รวมถึงเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ศักยภาพของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในการรองรับผู้โดยสารและรองรับการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงอีกด้วย
โดยคณะได้เดินทางออกจากท่าอากาศยานภูเก็ต ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย สู่ท่าอากาศดอนเมือง ก่อนที่จะต่อไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของท่าอากาศแต่ละแห่งว่ามีความสะดวก และรวดเร็วในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคด้วยกัน เมื่อคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง นายอิทธิพล บุญอารีย์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วย นายวิสูตร ดำยอด รองผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ให้การต้อนรับ และบรรยายพิเศษถึงความเป็นมา ศักยภาพ และยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศแม่ฟ้าหลวงในอนาคตอันใกล้นี้
นายอิทธิพล บุญอารีย์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ประมาณ 8 กิโลเมตร เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ต่อมา บพ.ได้โอนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มาขึ้นอยู่ต่อการบริหารของ “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2541 และ “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง มีสายการบินทำการบินภายในประเทศ 6 สายการบิน และต่างประเทศ 1 สายการบิน คือ สายการบินไชน่าอีสเทิร์น และขณะนี้ทางสายการบินของประเทศเกาหลีให้ความสนใจที่จะบินมาเชียงรายด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนรอบๆ สนามบินในการขยายเวลาเปิดให้บริการไปจนถึงเที่ยงคืน อาคารคลังสินค้าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้มากกว่า 5,000 ตัน/ปี อาคารผู้โดยสารมีขนาด 22,960 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงคับคั่งได้ถึง 1,240 คน และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางมายังสนามบินแม่ฟ้าหลวง ไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านคน จากการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางท่าฯ แม่ฟ้าหลวง ได้ของบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายท่าฯ ให้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นในปี 2562 เช่น เพิ่มสายพานลำเลียงกระเป๋า สะพานเทียบเครื่องบิน พื้นที่บริการ เคาน์เตอร์เช็กอิน หลุมจอดจาก 5 หลุ่มเป็น 14 หลุม ปรับปรุงแท็กซี่เวย์ และส่วนอื่นๆ รวมทั้งได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดกิกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงกรีนซีซัน เนื่องจากช่วงหน้าฝนนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่เชียงรายน้อยมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมต่างๆ เข้ามาในช่วงหน้าฝน ที่บรรยากาศตามดอยต่างๆ ถูกปกคลุกไปด้วยหมอก และความเขียวขจีของขุนเขา เป็นต้น
นายอิทธิพล ยังได้นำเสนอถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าฟลวงด้วยว่า ได้วางตำแหน่งของท่าฯ ให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโรงเรียนฝึกนักบิน เพื่อป้อนธุรกิจการบินในอาเซียน และจีน เพราะจากข้อมูลของทางโบอิ้ง และแอร์บัสระบุว่า มีการสั่งซื้อเครื่องบินอีกจำนวนมากในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้ความต้องการนักบินเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย และจากข้อมูลระบุว่า ในปี 2031 ความต้องการนักบินมีสูงถึง 77,400 กว่าคน และที่สำคัญท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงมีความพร้อม และศักยภาพในการเป็นศูนย์ซ่อมและโรงเรียนฝึกนักบิน เพราะเรายังมีพื้นที่ว่างอีกมากที่สามารถดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าวนี้ออกไปมีเอกชนจากต่างประเทศให้การสนใจเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวางแผนนำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อผลักดันให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเป็นศูนย์กลางในการซ่อมเครื่องบิน และผลิตนักบินต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางท่าอากาศยานภูเก็ตยังได้นำคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่การท่าฯ ไปทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย เช่น ล่องเรือชมทัศนียภาพแม่น้ำโขง ข้ามไปยังประเทศ สปป.ลาว ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชมพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ชมสถาปัตยกรรมวัดล่องขุน ไร่สิงค์ ปาร์ค และชอปปิ้งที่แม่สาย เป็นต้น