โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
คลี่ม่านปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ “เวทีพูดคุยสันติสุข” เพื่อนำไปสู่การ“ดับไฟใต้” ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย จำนวน 15 คน กับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่าง จำนวน 15 คนเท่ากัน ซึ่งประเทศมาเลเซียในฐานะคนกลาง หรือผู้อำนวยความสะดวกเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน
ถึงเวลานี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยน่าจะยังคงรู้สึกทั้ง “งุนๆ” และ “งงๆ” ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่นแล้ว ยังแทบไม่มีใคร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดๆ พยายามทำความเข้าใจต่อสังคมให้กระจ่างในเรื่องนี้
เวทีพูดคุยสันติสุข เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดส่งคณะอย่างเป็นทางการไปร่วมโต๊ะเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างที่มาเลเซีย และคราวนี้ก็แตกต่างกว่าครั้งก่อนๆ ตรงที่ 2 วันถัดมาคือ วันที่ 27 ส.ค.ได้มีการเปิดเวทีให้แก่ตัวแทนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ได้มีโอกาสพบ และพูดคุยกับ“สื่อมวลชนไทย”อย่างเป็นพิเศษ ซึ่งมีทั้งสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และที่ไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
จนดูเหมือนความความตั้งใจที่จะให้มีการเปิดตัวองค์ใหม่ของฟากฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย เพื่อให้สื่อมวลชนไทยที่ถูกขนไปรวม 14 ชีวิต ได้นำกลับมาเผยแพร่ต่อให้คนไทยได้รับรู้ ขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้สื่อมาเลเซีย หรือสื่อจากนานาชาติได้นำเสนอเป็นข่าวไปทั่วโลกด้วยเช่นกันอันเป็นองค์กรที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาให้เป็นเหมือน“องค์กรร่ม (Umbrella Corporation)”หรือองค์กรตัวแทนจากการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ขององค์กรย่อยๆ หลายองค์กร โดยชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า...
“มารา ปาตานี” หรือ “MARAPatani”
สำหรับที่มาของชื่อนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ โดยศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานว่า มาจากชื่อเต็มคือ MajlisAmanahRakyaPatani และ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ม.อ.ปัตตานี ในฐานะ ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ชี้ว่า ฝ่ายมาเลเซียกำหนดขึ้นเพื่อดึงเอาขบวนการปาตานี 6 กลุ่ม ที่พร้อมเจรจากับรัฐไทยมาร่วมไว้ในร่มเดียวกัน
แต่มีผู้ใช้ชื่อว่า “อาบูฮาฟิซอัล-ฮากิม (Abu Hafez Al-Hakim)” ที่เคยเขียนบทความให้แก่สำนักข่าวอิศรา บอกเล่าเรื่องราววงในของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไทยตั้งแต่ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงการเจรจาครั้งนี้เขาได้เขียนบทความชิ้นใหม่อธิบายถึง MARA Patani ไว้ว่า มาจากคำเต็มคือ MajlisSyuraPatani หรือชื่อภาษาอังกฤษว่าPatani Consultative Council (PCC)
MARA Patani เป็นข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่สนับสนุนการเจรจา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2557 โดยมีสมาชิกทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และแนวร่วมติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในนาม“บีอาร์เอ็นแอคชั่นกรุ๊ป(BarisanRevolusiNasional: BRN Action Group)” เข้าร่วมแต่ไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบีอาร์เอ็นหลักที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ในชายแดนใต้หรือไม่
กลาง มี.ค.2558 กลุ่มบีอาร์เอ็นแอคชั่นกรุ๊ป ได้เสนอแนวคิด MARA Patani ให้แก่กลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยปาตานีกลุ่มอื่นๆ และได้เชิญให้รวมกลุ่มกันภายใต้องค์กรเดียวเพื่อกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหว และหารือข้อเสนอสำหรับเจรจากับไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งปรากฏว่า มีอีก 5 กลุ่มที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บีไอพีพี(Barisan Islam PembehbasanPatani: BIPP),พูโล-พี 4 (PertubuhanPersatuanPembebasan: PULO-P4), พูโล-ดีเอสพีพี (PertubuhanPembebasanBersatu:PULO-dspp),พูโล-เอ็มเคพี(PertubuhanPembebasanBersatu: PULO-mkp) และจีเอ็มไอพี (Gerakan Mujahidin Islam Patani:GMIP)
เขายังอ้างแหล่งข่าวใน MARA Patani ว่า การก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม และไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพล หรือการกดดันจากตัวกลางฝ่ายมาเลเซียโดยกลุ่มนี้มีจุดประสงค์ร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยโดยได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากนานาชาติในสิทธิที่จะกำหนดสถานะของตนเองของประชาชนปาตานี
ในวันเปิดตัวต่อสื่อไทย และเทศที่ 27 ส.ค.นั้น มีการปรากฏตัวของบรรดาตัวแทนมาราปาตานีรวม 7 คน ประกอบด้วย นายอาวังยาบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะประธานมารา ปาตานี, นายสุกรีฮารีหรือ อุสตาซสุกรี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา, ดร.อารีฟมุคตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล-เอ็มเคพี (พูโลใหม่), นายอาบูยาซินอาบัส ผู้แทนจากกลุ่มบีไอเอ็มพี, นายหะยีอาหะมัดชูโว หรือฮัจยีมะห์มุต ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น, นายอาบูอากรัมบินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโล-ดีเอสพีพี (พูโลเก่า) และนายอาบูฮาฟิซอัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอพีพี ซึ่งคนหลังนี้ก็คือคนเขียนบทความให้ข้อมูลวงในกลุ่มผู้เห็นต่างต่อรัฐไทยนั่นเอง
ในส่วนของผลเจรจาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น องค์กรมารา ปาตานี ระบุว่า ทุกขบวนการที่เคลื่อนไหวจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ“เอกราช”แต่เงื่อนไขอยู่ที่การพูดคุยกับรัฐบาลไทย ขณะนี้การพูดคุยยังอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้วางใจต่อกัน
โดยเสนอข้อเรียกร้องต่อทางการไทย 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล 2.ยอมรับองค์กรมารา ปาตานี ว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นองค์กรที่อยู่บนโต๊ะเจรจา และ 3.ให้การคุ้มครองทางกฎหมายต่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขขององค์กรมารา ปาตานี จำนวน 15 คน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนเรื่องที่จะมีการสื่อสารกับคนปาตานีซึ่งหมายถึงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อให้เข้าใจการทำงานนั้นหากตัวแทนกลุ่มยังไม่สามารถเข้าไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ได้ก็จะเชิญคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือผู้นำชุมชนไปพูดคุยกันนอกพื้นที่ และเมื่อขั้นตอนไปถึงจุดที่ทางกลุ่มสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ก็จะเดินทางไปทำความเข้าใจถึงในพื้นที่แต่แนวทางนี้คงต้องใช้เวลาสักพัก
ขณะที่ผู้แทนรัฐไทยโดย พล.อ.อักษรา ประธานที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ให้ข้อมูลว่า ได้เสนอความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับผู้เห็นต่างที่จะก่อให้เกิดผลดีในพื้นที่กลับไป 3 ข้อเช่นกัน คือ 1.ความปลอดภัยในพื้นที่โดยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับผู้เห็นต่างเพื่อให้เห็นผลอย่างถาวรซึ่งจะใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวชี้วัด 2.การพัฒนาที่ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็ตรงตามความต้องการของผู้เห็นต่างตลอดจนความต้องการเร่งด่วนซึ่งอยากให้กลุ่มผู้เห็นต่างได้แจ้งความต้องการแล้วเราจะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และ 3. ความยุติธรรมในพื้นที่จะต้องพูดคุยกันอีกครั้งแต่รัฐบาลไทยมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน
ด้าน พล.ต.ชวลิต เรืองแสง ผอ.สำนักบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือเป็นหน่วยงานหลักแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ขณะนี้ได้จัดทำแผนไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1.สร้างความไว้วางใจให้เกิดแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีระยะการทำงานตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค.2558 2.ทำให้มีการลงสัตยาบันของทั้ง 2 ฝ่าย ช่วง ม.ค.-เม.ย.2559 และ 3.จัดทำโรดแมปในพื้นที่ที่ปลอดความรุนแรง เช่น โรงพยาบาล ตลาด วัด มัสยิด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากข่าวคราวการเปิดเวทีพูดคุยสันติสุข หรือการเจรจาเพื่อหาทางดับไฟใต้รอบล่าสุดนั้น ผู้ชื่นชอบมองสังคมแบบเรียลิตีบางคนอาจพานคิดไปได้ว่า นี่เป็นความสำเร็จอีกขั้นของการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน แต่สำหรับผู้ที่มีสายตาที่สามารถพินิจพิเคราะห์สักหน่อย โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องราวในอดีต แล้วจิ๊กซอว์ต่อภาพไปยังอนาคต ก็จะพบเห็นเรื่องราวที่เป็นที่น่าวิตกกังวลไม่น้อย
สำหรับผู้คนในชายแดนใต้ซึ่งต้องอยู่ท่ามกลางไฟสงครามของความขัดแย้ง เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงกรีดร้องของผู้คน ต้องทนทุกข์ต่อสถานการณ์ความรุนแรงนานเกินกว่า 10 ปีมาแล้วนั้น การเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างล้วนสร้างความหวังที่เพลิดแพร้วไปเสียทุกครั้ง
แต่การเจรจาแบบโชว์ออฟทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นบทสรุปก็ล้วนให้เวลาผ่านเลยไปแบบแทบไร้แสงริบหรี่ส่องสว่างที่ปลายอุโมงค์
ภายหลังการเจรจาดับไฟใต้ครั้งนี้พ้นผ่าน มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายไว้อย่างน่าสนใจ ประกอบด้วย ประการแรก การเกิดขึ้นขององค์กร “มารา ปาตานี” ที่รวมตัวอย่างหลวมๆ จากหลายขบวนการแบ่งแยกดินแดน เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับชายแดนใต้ แล้วองค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ก็มีเกิดใหม่ แตกแยก แบ่งฝ่าย ขยาย และหดหายให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในปี 2532 เคยมีการแจ้งเกิดองค์กรแบบเดียวกันนี้มาแล้วคือ “เบอร์ซาตู” หรือ “ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี” ที่มี ดร.วันกาเดร์เจ๊ะมัน หัวหน้ากลุ่มบีไอพีพี เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง และนั่งเป็นประธานเบอร์ซาตู แต่ในวันนี้แม้เพียงแค่ชื่อก็แทบไม่มีใครพูดถึงขณะที่กลุ่มบีไอพีพี ในวันนี้ก็ได้เป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่เข้าร่วมในองค์กรร่มอย่างมารา ปาตานี อีกคราครั้ง
ประการที่ 2 การมารวมตัวกันอย่างหลวมๆ รวม 6 กลุ่มเป็นองค์กรมารา ปาตานี ดังกล่าวส่วนใหญ่จัดว่าเป็น “สายพิราบ” ที่แทบไม่มี “สายเหยี่ยว” เข้าร่วม แถมในเวลานี้มีการประมาณการกันว่ามีถึง 13 ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยปฏิบัติการ และเคลื่อนไหวนายแดนใต้ แสดงว่าการมาร่วมตัวกันครานี้ยังได้ไม่ถึงครึ่งเลย
โดยเฉพาะขบวนการบีอาร์เอ็น ที่อยู่ในองค์กรมารา ปาตานี เวลานี้ก็ไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์ “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเน็ต (BRNCoordinate)” ที่มีกำลังรบหลัก และเปิดปฏิบัติการอยู่ในชายแดนใต้ อีกทั้ง นายซำซูดิง คาน หนึ่งในแก่นแกนพูโลที่กุมกองกำลัง “พีแอลเอ (Patani Liberation Army : PLA )” ที่เปิดปฏิบัติการในชายแดนใต้เช่นกันก็ไม่ได้มีชื่อเข้าร่วม
ประการที่ 3 สำหรับองค์กรมารา ปาตานี ในมุมมองของผู้นำรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงไทยแล้ว เวลานี้ยังมากมายไปด้วยข้อฉงนสนเท่ห์ โดยเฉพาะคำถามคำโตๆ ที่ว่าทั้งองค์กร และตัวแทนที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจาด้วยนั้นล้วนแล้วแต่ “เป็นตัวจริงเสียงจริง” จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงที่ฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้กระบวนการเจรจาได้เดินหน้า
เรื่องนี้ยืนยันได้จากความจริงแล้ว “เวทีพูคุยสันติสุข” ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา อันเป็นไปตามกำหนดเดิม แต่กลับถูกโรคเลื่อนรุมเร้ามาต่อเนื่อง โดยแทนที่จะต้องเกิดก่อนห้วงรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด แต่รัฐไทยกลับขอใช้ช่วงเวลาเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องมุสลิมนี้เพื่อการพิสูจน์ความรุนแรง และความถี่ของสถานการณ์ไฟใต้เสียก่อนจึงจะยอมพูดคุยด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่ค้างคาใจผู้นำรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงไทยอีกอย่างหนึ่ง และควรต้องถือว่ามีน้ำหนักที่ต้องให้ความสำคัญพอสมควรคือ หลายๆ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาในนามองค์กรมารา ปาตานี เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปิดโต๊ะเจรจาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณชุดก่อน แม้ฝ่ายของกลุ่มผู้เห็นต่างในวันนี้จะไม่มีชื่อของ นายฮัสซัน ตอยิบ ก็ตาม
ประการสุดท้าย เป็นเรื่องราวภายในของคณะพูดคุยสันติสุขที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็มีมาจากหลายปีก แม้การขบเหลี่ยมจะยังไม่ปรากฏเป็นข่าว แต่ก็ไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะความเห็นที่ไม่ค่อยจะลงรอยเกี่ยวกับมุมมองต่อกลุ่มผู้เห็นต่างว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ และควรจะว่างท่าที หรือแสดงในระดับไหน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกระแสเสียงหลุดรอดออกมาจากคณะพูดคุยสันติสุขว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล เคยถอดใจไม่ขอเป็นหัวหน้าคณะเจรจา ด้วยมองเห็นกระบวนการพูดคุยที่นำไปสู่การบรรลุผลได้ยากยิ่ง แถมตัวเองก็ใกล้เกษียณราชการ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับมอบบทบาทให้ทำหน้าที่ต่อหรือไม่ และที่สำคัญกว่าคือ อายุของรัฐบาล คสช.ชุดปัจจุบันก็ดูท่าจะเหลือเวลาไม่มากพอที่จะทำให้การเจรจาเป็นไปตามวาดหวัง
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองต่อกระบวนการสร้างสันติสุข หรือสันติภาพ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นการเปิดเจรจาเพื่อเดินหน้าดับไฟใต้นั้น ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายทหารเองได้เปิดยุทธการเจรจากับกลุ่มเห็นต่าง โดยเฉพาะภายใต้การนำของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ถูกส่งไม้ให้แก่ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ อยู่ในวันนี้ ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างครอบคลุม และต่อเนื่องมาโดยตลอด ประเด็นนี้ถือเป็นความหวังได้อย่างแน่นอน เพียงแต่เมื่อการเจรจาเป็นไปในทางลับ ผลที่ได้จึงไม่มีปรากฏเป็นข่าวก็เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์ หรือเพียงคาดหวังต่อเรื่องราวของการเจรจาเพื่อดับไฟใต้แล้ว การเปิดโต๊ะพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทย กับฝ่ายผู้เห็นต่างแบบ “โชว์ออฟ” ก็น่าจะมีคำตอบอยู่ในตัวของมันเองแล้วว่าแตกต่างอย่างไรกับแบบ “ใต้ดิน”
ที่สำคัญสังคมไทยก็ได้เห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดวงเจรจาอย่างเอิกเกริกในสมัยนักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร ยังครองเมือง หรือตอนออกไปเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศ แต่ยังแผ่อิทธิพลให้แก่คนในระบอบที่ตัวเองบงการ โดยเฉพาะตัวอย่างคลาสสิกในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่การจัดแถลงข่าวทางทีวีที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รับบทเป็นพระเอกนั่นไง