xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำศาสนายะลาเชื่อ “มารา ปาตานี” ยอมรับการพูดคุยเพื่อสันติสุข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - ผู้นำศาสนายะลา ชี้หลังการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการกับ กลุ่มมารา ปาตานี ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือนี่เป็นสัญญาณว่าอีกฝ่ายยอมรับในการพูดคุย

วันนี้ (28 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี ขึ้นมา กับตัวแทนของรัฐบาลไทย เมื่อวานนี้ (27 ส.ค.) โดยมีประเทศมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยครั้งนี้ และมีการติดตามนำเสนอข้อตกลง 3 ข้อ ที่กลุ่มมารา ปาตานี ได้นำเสนอต่อตัวแทนรัฐบาลไทย นั่นคือ ให้มีการยอมรับกลุ่มมารา ปาตานี ที่ได้รวมตัวกัน 6 กลุ่มจากทั้งหมด 13 กลุ่ม โดยในครั้งนี้มี นายอาวัง ยะบะ แกนนำ BRN เป็นผู้นำในกลุ่มมารา ปาตานี และให้มีการนำเสนอปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข้อดังกล่าวตั้งแต่ นายฮาซัน ตอยิบ เป็นตัวแทนในการพูดคุย และสุดท้ายคือ การให้คุ้มครองกฎหมายต่อกลุ่มมารา ปาตานี

โดย นายอาวัง ยะบะ แกนนำ BRN ในฐานะประธานกลุ่มมารา ปาตานี ได้กล่าวว่า สำหรับจุดประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มมารา ปาตานี เพื่อเป็นการสร้างเอกภาพ และรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนปาตานีในการแบกรับการต่อสู้เพื่อซึ่งได้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง และเพื่อความสมบูรณ์แบบการต่อรองทางการเมืองที่เอื้ออำนวย เกิดความก้าวหน้า และมีความต่อเนื่อง เปิดพื้นที่ และให้โอกาสแก่กลุ่มนักต่อสู้ปาตานี และภาคประชาสังคม แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสิน และกำหนดแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่โต๊ะเจรจา และเพื่อให้โอกาสทางการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ โดยการเสนอแนะในด้านทั่วๆ ไปให้มีเสถียรภาพข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้นโดยผู้เจรจาบนโต๊ะเจรจา รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจต่อสังคมนานาชาติในการให้การรับรอง และความช่วยเหลือ

ซึ่ง นายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาจังหวัดยะลา ได้แสดงความคิดเห็นว่า การพูดคุยสันติภาพต้องมีการดำเนินต่อไป และสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในครั้งนี้ คือ ในระหว่างการพูดคุย หรือแม้กระทั้งวันนี้หลังการพูดคุย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งทางหน่วยงานความมั่นคงต้องมองตรงจุดนี้ด้วย ว่ามีนัยอะไรหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณบอกว่าอีกฝ่ายยอมรับในการพูดคุย แต่ทั้งนี้ กลุ่มที่เหลืออีก 7 กลุ่ม จะมีความคิดเห็นอย่างไรนั้น ฝ่ายไทยต้องสืบเสาะ และหาข้อมูลมากลั่นกรองอีกครั้ง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น