xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.ยะลา ร่วมภาคีเครือข่ายลงนามพัฒนาตัวแบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์สู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - มรภ.ยะลา ร่วมกับภาคีเครือข่าย 6 สถาบัน แถลงข่าวลงนามความร่วมมือโครงการวิจัยพัฒนาตัวแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งยกระดับสร้างอาชีพเน้นให้บริการแก่ชุมชนในอนาคต

 
วันนี้ (12 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสภาชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มรภ.ยะลา ร่วมกับมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มูลนิธิภูมิพลังพลังงานสะอาด ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี บริษัท เอ็มเอ อิเล็คทรอนิค (ไทย) จำกัด บริษัท ซุปเปอร์ พาวเวอร์ กรีน จำกัด ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือโครงการวิจัยพัฒนาตัวแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Model of Research and Development in Solar Power Energy Co-Operation Project)

 
โดยมี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มรภ.ยะลา พร้อมด้วย ศ. (พิเศษ) ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ประธานมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นายสุรินทร์ มณีดุลย์ ประธานมูลนิธิภูมิพลังพลังงานสะอาด ผศ.พีรพงศ์ ธงชัย ผู้แทนอธิการบดี ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ผู้แทนอธิการบดี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี จ.ปทุมธานี ดร.สมบูรณ์ คงทองวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มเอ อิเล็คทรอนิค (ไทย) จำกัด นายเสกสิริ จันทสมโพธิ บริษัท Super Power Green จำกัด เป็นผู้แทนลงนามในครั้งนี้ โดยมี นายสามารถ วราดิศัย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และแขกผู้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน

 
ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มรภ.ยะลา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนพื้นที่ มรภ.ยะลา เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายองค์กรสถาบันที่เกี่ยวข้องในการระดมทรัพยากร ความรู้ ทักษะความสามารถในการออกแบบเครื่องมือปฏิบัติการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

 
ตลอดจนยกระดับผลการศึกษาครั้งนี้เป็นโครงการจัดตั้งสถาบันพลังงานสะอาดในมหาวิทยาลัยฯ ที่ศึกษาพัฒนาการออกแบบหลักสูตร เทคนิค การถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อรองรับทิศทางใหม่ของพลังงานทางเลือกในอนาคต แก่นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เพื่อยกระดับความเป็นรูปธรรมของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และสนับสนุนกองทุนพัฒนาการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีความสนใจในการยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพ การเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในการให้บริการต่อชุมชน

สิ่งสำคัญคือ เพื่อส่งเสริมการขยายผลรูปแบบวิจัย และพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สู่ ชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านต้นแบบ ความมั่นคงด้านพลังงานชุมชนในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มทำการศึกษา และวิจัยระหว่าง ตุลาคม 2558-ตุลาคม 2559
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น