xs
xsm
sm
md
lg

“UREKA” พลิกธุรกิจ มุ่งจักรกลเกษตรตั้งเป้ารายได้รวม 50% ภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเรก้า ดีไซน์ หรือ UREKA
ประธานบอร์ด ยูเรก้า ดีไซน์ เผยเตรียมรุกธุรกิจเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมเต็มสูบ ตั้งเป้ายอดรายได้รวมจากเครื่องจักกลทางการเกษตรแตะ 50% ของรายได้รวมทั้งหมด ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังรายได้จากกลุ่มยานยนต์หดตัว

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเรก้า ดีไซน์ หรือ UREKA กล่าวว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติงบลงทุนประมาณ 5 ล้านบาท ด้วยการให้บริษัทลูก คือ บริษัท ยูเรก้า อะโกรแมชชีนเนอรี่ จำกัด ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องจักรกลด้านการเกษตรและอุปกรณ์เครื่องมือด้านการเกษตร ตลอดจนถึงการเข้าซื้อสิทธิบัตรในเครื่องมือด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนในการเข้าซื้อสิทธิบัตรเครื่องสีข้าวชุมชนจากงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค เพื่อต้องการพัฒนาและส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนให้มีโรงสีข้าวขนาดเล็กใช้เอง โดยบริษัทฯ ได้ยื่นโครงการธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ไปยังหน่วยงานภาครัฐเพื่อพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในอีก 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติโครงการธุรกิจเพื่อสังคมจากรัฐบาลแล้ว จะเร่งผลักดันโครงการโรงสีข้าวชุมชนนี้ให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

“บริษัทฯ ได้เข้าไปดำเนินเกี่ยวกับเครื่องจักรกลด้านการเกษตร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 4 ผลิตภัณฑ์ คือ 1.เครื่องฆ่ามอดข้าว 2.เครื่องปลูกมัน 3.เครื่องสีข้าวชุมชน และ 4.เครื่องรีดยางพารา โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้รวมทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้วางแผนที่จะเข้าไปลงทุนด้านเครื่องมือเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชา เนื่องจากตลาดมีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของงานด้านยานยนต์ทั้งในส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นมี Backlog อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากในขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าสู่ภาวะการชะลอตัวลง โดย Gross Profit Margin เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 25% ขณะที่ในส่วนของ Net Profit Margin จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 11-12% ปัจจุบันปรับตัวลดลงอยู่ที่ 10% ซึ่งอนาคตบริษัทฯ ได้เตรียมวางแผนโครงสร้างการบริหารธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยจะเน้นในส่วนของสินค้าที่มีมาร์จินดี เพื่อลดต้นทุนและรักษาระดับรายได้และกำไรให้อยู่ในจุดที่คุ้มทุนมากที่สุด

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เตรียมที่จะผลิตเครื่องคว้านเมล็ดลำใยให้กับเกษตรกรในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่มีเครื่องจักรในการแปรรูปลำใยสดในภาคการผลิตและแปรรูปดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังใช้มือเป็นหลัก ซึ่งหากสามารถผลิตเครื่องคว้านเมล็ดลำใยออกมาใช้งานได้จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปลำใย ช่วยลดเวลาการแปรรูปและผลผลิตที่เน่าเสียเร็วลงได้ โดยจะเริ่มผลิตเครื่องคว้านเมล็ดลำใยได้ภายในเดือนหน้า และเริ่มจำหน่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้หรือต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผนการเจรจาเข้าซื้อกิจการขณะนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายน ซึ่งใช้งบลงทุนในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ประมาณ 50 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล และประเมินความคุ้มค่าในการเข้าไปลงทุน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยบริษัทฯ จะใช้เงินกู้จากตั๋วเงิน BE ในการลงทุนเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ เนื่องจากมองว่า มีความสะดวกและสามารถบริหารงบประมาณได้ง่ายกว่าการออกหุ้นกู้ หรือการเพิ่มทุนอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น