“ประยุทธ์” ประชุม กก.นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หนุนเศรษฐกิจชุมชน ให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ปูทางสู่ค้าต่างประเทศ แจงหลักการเปิดจุดผ่านแดนพิเศษ เน้นค้าขายไม่เกี่ยวปักปันเขตแดน ย้ำทุกอย่างที่กระทบพื้นที่ต้องมีประชาพิจารณ์ ขอนายทุนอย่ากว้านซื้อที่ แจงยังขึ้นค่าแรงไม่ได้ ติงสื่อตีเป็นประเด็นมากดดันให้ตีกัน ชี้ต้องผ่านประเมินฝีมือก่อน
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 3/2558 โดยมีรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
โดยภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้สั่งการในที่ประชุมว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมโยงจากภายในประเทศไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มจากชุมชนก่อนและตนได้อธิบายสิ่งที่ได้คิดมาและที่ประชุมเห็นชอบ คือ เศรษฐกิจชุมชน ที่มีอยู่หลายอย่างซึ่งทุกที่มีการค้าขายธุรกิจห้างร้าน ตนต้องการให้ภาคประชาชนเข้มแข็งและให้มีการจัดตั้งธุรกิจที่เรียกว่าโซเชียลบิซิเนส คือธุรกิจเพื่อสังคมไม่หวังผลกำไร ที่เริ่มต้นจากสหกรณ์ที่เข้มแข็ง สามารถรวมกลุ่มขึ้นมารัฐก็ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเรื่องงบประมาณ เงินทุน เงินกู้เพื่อซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง ถ้าเป็นอะไรที่ง่ายหน่อยอาจจะมีการแปรรูปโดยใช้โรงสีขนาดเล็ก จะได้ถ่วงดุลกับธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้นไม่ใช่ต่างคนต่างถ่วง อีกอย่างคือการลดภาระที่เกี่ยวข้องกับพ่อค้าคนกลาง แต่ทั้งหมดเป็นเขตเศรษฐกิจเสรี เราคุมมากกว่านี้ไม่ได้แล้วก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรมากขึ้น สร้างการเชื่อมโยงไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีการพูดถึงเขตเศรษฐกิจในระยะที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย 6 จังหวัด วันนี้จะต้องเกิดความชัดเจนขึ้นว่าจะเกิดอะไรที่ไหนอย่างไร จะมีการลงทุนตรงไหนบ้าง จุดใดเป็นภาคนิคมอุตสาหกรรมทำ จุดใดเป็นภาคเอกชนให้เช่าพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงเขตเศรษฐกิจตอนในในพื้นที่ที่มีศักยภาพ คือสิ่งที่เราต้องการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เช่น พื้นที่ที่เป็นรับเบอร์ซิตี้ พื้นที่ที่เป็นแหล่งประกอบชิ้นส่วน เป็นห่วงโซ่กับธุรกิจรถยนต์ที่วันหน้าอาจนำไปสู่การทำรถยนต์ไฟฟ้า เราต้องสร้างตั้งแต่วันนี้
“อีกเรื่องคือเขตเศรษฐกิจชายแดนที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องดูแลให้อยู่ในกติกา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความสุข ไม่เกิดความขัดแย้ง โดยต่อไปจะมีการเชื่อมโยงไปยังธุรกิจข้ามชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเรามีช่องทางจุดผ่านแดนกว่าร้อยแห่ง บางจุดเปิดในลักษณะถาวรไม่ได้ และหลักการของรัฐบาลนี้ให้กำหนดเป็นจุดผ่านแดนพิเศษ เพื่อการค้าขายไปมาสามารถทำได้ แต่ระบุไว้ว่าจะไม่มีผลต่อการปักปันเขตแดนในอนาคต เพราะการหารือของคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ยังไม่จบ เราก็เว้นไว้ก่อนยังไม่ต้องทำ แต่ต้องไม่มีความขัดแย้ง และทำให้ประชาชนมีการค้าขายไปมาและไม่เป็นของใคร ส่วนใครจะอ้างสิทธิก็ให้เขาอ้างไป เราตกลงกันอย่างนี้ และไม่เสียอะไรสักอย่าง ประชาชนก็หากินได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องการสร้างการรับรู้กับประชาชนในหลักการและเหตุผลของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประเทศเรามีอุตสาหกรรมการเกษตรค่อนข้างน้อย จะทำอย่างไรให้เกิดในท้องถิ่นให้ได้ ฉะนั้นในปีนี้ระยะแรกพื้นที่ 5 จังหวัดบวก 1 จะมีการลงทุนในระยะแรกเท่าที่จำเป็นเพราะใช้เงินเยอะ และข้อสำคัญคือจะส่งเสริมกิจการที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อเป็นเครือข่ายไปยังเศรษฐกิจพิเศษใหญ่ อีกอย่างทำให้เกิดโซเชียลบิซิเนส สำหรับสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อการประกาศพื้นที่ต้องได้รับการดูแลเยียวยา จะต้องทำให้ครบทั้งระบบและต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์อยู่แล้ว ทุกเรื่องไม่มียกเว้น ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย ถ้าเข้าใจไม่ตรงกัน ก็จะเกิดปัญหาในอนาคตและทำอะไรไม่ได้สักอย่างประเทศก็อยู่ไม่ได้
นอกจากนี้ มีการอนุมัติหลักการในการดำเนินการในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในเฟส 2 ในปี 2559 อีก 4 จังหวัดในภาคอีสานและภาคกลาง จากเดิมในเฟส 1 ที่มีอยู่ 6 แห่งและพื้นที่ที่มีศักยภาพกำหนดเป็นเมืองอุตสาหกรรมและต้องเข้าใจตรงกันเพื่อเกื้อกูลในอนาคต และกิจการใดที่จะสนับสนุนก็ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ด้วย รวมถึงการแก้ปัญหาแรงงานที่เข้ามาในพื้นที่ตอนใน สินค้าเกษตรที่ไหลเข้ามาเราต้องดักไว้ข้างนอกทั้งหมด ทั้งนี้ส่วนที่มีพื้นที่ศักยภาพตอนในจะตั้งขึ้นเพื่อรองรับแรงงานที่มีคุณวุฒิและจะเป็นโรงงานที่ไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก มีความทันสมัย เหล่านี้จะสามารถดูแลในเรื่องค่าแรงได้ ทั้งแรงงานทั่วไปและที่ผ่านการคัดกรอง มันจึงจะมีความแตกต่าง ถ้าเราไม่แก้ไขเลยและให้เพิ่มอย่างเดียวก็จะไปไม่ได้ ประเทศนี้ล้มละลายแน่นอน
ส่วนกรณีที่ดินราคาสูงขึ้นนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทั้งหมดมีราคาประเมินอยู่ แต่เมื่อมีการขึ้นค่าแรงกันเองจะให้ตนไปประกาศห้ามได้หรือเปล่า แต่วันนี้มีทางเลือกที่ในพื้นที่มีการประกาศกฎหมายออกไปกลับมาเป็นพื้นที่ของรัฐหมด ฉะนั้นจะไปซื้ออะไรเพิ่มไม่ได้ในพื้นที่ที่ร่างไว้แล้ว แต่นอกพื้นที่ตนไปคุมไม่ได้ เป็นเรื่องของการค้าขายทั้งหมดและขอร้องนายทุนอย่าไปกว้านซื้อเลย ตนไม่ได้เอื้อใคร ทุกอย่างที่ทำวันนี้ทำบนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงและมีผลประโยชน์ที่เท่าเทียม เรากับต่างประเทศและประชาชนต้องเข้าใจกัน
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่แรงงานเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงว่า ยังไม่สามารถขึ้นได้ แต่สื่อก็ไปเขียนให้เป็นประเด็น ตนเคยบอกแล้วว่าแรงงานต้องผ่านการคัดกรองที่กระทรวงแรงงาน ผ่านการประเมินความสามารถ ที่แรงงานไม่ได้ใช้แรงงานอย่างเดียว ซึ่งจะมีค่าแรงตามขั้นตอนให้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำกัน
“ผมถามหน่อยว่าแรงงานทั้งประเทศมีเท่าไหร่ ถ้าขึ้นค่าแรงจะต้องใช้อีกเท่าไหร่ ต้องช่วยผมบ้าง ช่วยกันทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาข้อเรียกร้องมากดดัน พอผมไม่ให้ก็ไปกดดันแรงงาน สุดท้ายก็ตีกันอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างอื่นหรือไม่ ถ้าขึ้นค่าแรงแล้วอย่างอื่นก็เลิกไม่ต้องทำ เอาไหม แล้วก็มาบอกว่าไม่เห็นใจเขา ที่ทำทุกวันนี้เพราะเห็นใจ ทุกเรื่องจะต้องสร้างกรอบให้เข้มแข็งถึงจะขึ้นกรอบในได้ ไม่ใช่กรอบในทำไปส่งเดชใช้เงินเท่าไหร่ก็ช่างมัน แล้ววันหน้าจะทำอะไรได้หรือไม่ ถามว่าวันนี้ความเข้มแข็งเกิดหรือไม่ ลงทุนอะไรได้บ้าง ความเข้มแข็งของประเทศมีไหม แล้วมาโวยวายกันว่ารายได้ตกต่ำ การเกษตรขายไม่ออก ถามว่าเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ทำโครงการเหล่านี้มาก่อน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาเฉพาะกาล เฉพาะฤดู เฉพาะเรื่อง ผมไม่ได้โทษใคร เดี๋ยวจะหาว่าไปว่าคนโน้นคนนี้อีกรำคาญ”