xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายพลเมืองสงขลา” จี้รัฐทบทวนเมกะโปรเจกต์ใต้ ชี้ต้องเผยข้อมูล และให้ ปชช.ร่วมตัดสินใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายพลเมืองสงขลา” เปิดเวทีหารือผลกระทบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เผยเมื่อจิ๊กซอว์การเร่งเดินหน้า “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จะเห็นภาพปั้นไทยเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” ที่ใช้ด้ามขวานเป็นฐาน “อุตฯ ปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่ ร่วมแถลงการณ์จี้ “บิ๊กตู่” ทบทวน และต้องเปิดให้ ปชช.ร่วมตัวสินใจ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (17 มิ.ย.) เครือข่ายพลเมืองสงขลา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กร และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ได้จัดประชุมหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการที่จะก่อสร้างในพื้นที่ จ.สงขลา ณ ห้องบรรยาย 203 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่)
 

 
นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองสงขลา เปิดเผยว่า การระดมตัวแทนองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สงขลา มาร่วมหารือในวันนี้ใช้เวลาเตรียมงานสั้นมาก สาเหตุเกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช.ได้ออกมากล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ และในอีกหลายวาระเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสร้างเมกะโปรเจกต์ในหลายโครงการ พร้อมยังขอความเห็นใจให้ประชาชนอย่าออกมาต่อต้านด้วย ซึ่งหลายโครงการอยู่ในพื้นที่ของ จ.สงขลา โดยตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในเวทีของการพูดคุยได้มีการหยิบเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่ประมวลว่าจะมีในพื้นที่ จ.สงขลา กว่า 21 โครงการ อีกทั้งหลายโครงการยังเชื่อมโยงกับหลายเมกะโปรเจกต์ที่จะเกิดในภาคใต้อีกด้วย โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ซึ่งจะประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกหัว-ท้าย ถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบท่อน้ำมันและก๊าซ ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่าง อ.จะนะ จ.สงขลา กับ อ.ละงู จ.สตูล ถนนมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นต้น
 

 
ทั้งนี้ เมื่อนำเมกะโปรเจกต์ต่างๆ มาจิ๊กซอว์เชื่อมต่อเป็นภาพใหญ่ก็จะพบว่า รัฐบาลกำลังจะปลุกปั้นประเทศไทยให้เดินหน้าสู่การเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” โดยในส่วนของภาคใต้จะถูกทำให้เป็นฐาน “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก ซึ่งจะนำพาให้เกิดแหล่งอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคกระจ่ายอยู่ทั่วภาคใต้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่พึ่งประสงค์ของประชาชนจำนวนมาก

ภายหลังการหารือดังกล่าว เครือข่ายพลเมืองสงขลาได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยนายจรูญ หยูทอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายพลเมืองสงขลา ได้อ่านแถลงการณ์ที่จะจัดส่งให้ถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. เพี่อให้ทบทวนนโยบายการดำเนินการชุดโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาสำคัญได้แก่
 

 
เครือข่ายพลเมืองสงขลา ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายการดำเนินการชุดโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา ๒ จะนะ, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา และโครงการทางหลวงพิเศษหาดใหญ่-สะเดา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่จะนำสู่การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องต่อวิสัยทัศน์ สงขลา ๒๐๒๐ ที่ว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุขสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

เครือข่ายฯ กังวลใจต่อท่าที กรอบคิด และกระบวนการตัดสินใจประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าว ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจทบทวนชุดโครงการดังกล่าว แล้วแต่งตั้งคณะทำงานของรัฐบาล ร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ และภาคประชาสังคมมาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับชุดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่สงขลาทั้งหมดอย่างเสมอหน้า แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นไปสู่การตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมต่อไป
 

 
ขอโอกาสให้เราคนสงขลาจัดการตนเอง ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองสงขลา พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ ผลการศึกษาที่เรานำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในครั้งนี้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาก่อนการตัดสินใจของรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องพร้อมที่จะเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเสมอภาคกัน เปิดพื้นที่การแสดงออกทางความคิด เพราะผู้ที่รับผลของการพัฒนาเป็นพวกเรา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และนั่นคือ ชีวิตทั้งชีวิตของเราชาวสงขลาร่วมกัน

จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดทำวิสัยทัศน์สงขลา ๒๐๒๐ ได้ข้อสรุปว่า จังหวัดสงขลาจะพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ เศรษฐกิจบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจสีเขียว การท่องเที่ยวธรรมชาติ เกษตร นิเวศ วัฒนธรรมและสุขภาพ เศรษฐกิจสีฟ้า (ทะเล) และการค้าที่เป็นธรรม โดยกระบวนการธุรกิจเพื่อสังคม การจัดเก็บรายได้จาก VAT มาให้ท้องถิ่น การส่งเสริมองค์กรการเงิน กองทุนชุมชนระดับจังหวัดให้เข้มแข็ง เป็นต้น
 

 
สังคมเป็นสุข คือ สังคมธรรมาภิบาล เป็นธรรม โปร่งใส สังคมที่พลเมืองมีส่วนร่วม สันติสุข มั่นคงปลอดภัย มีความมั่นคงทางอาหาร ปกป้องพื้นที่สุขภาวะ วัฒนธรรมวิถีชุมชน เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมยั่งยืน คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การรักษา ปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ ป่าไม้ต้นน้ำ ภูเขา พื้นดิน การเพิ่มพื้นที่สีฟ้า แหล่งน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ทะเลอ่าวไทย เท่าที่เหลืออยู่ และค่อยๆ เพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ในขนาดที่เหมาะสม เป็นต้น
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น