ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายภาคประชาชน จ.ชุมพร สตูล และสงขลา ยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนโครงการ หวั่นส่งผลกระทบหนักต่อวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง ติงข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่รอบด้าน เปิดเผยแต่ด้านดี แต่กลับไม่พูดถึงผลกระทบที่จะตามมา
*** ชาวชุมพรค้านท่าเรือน้ำลึกห่วงกระทบวิถีประมง ติงข้อมูลยังไม่รอบด้าน
วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก 3 โครงการใหญ่ที่อยู่ภายใต้การผลักดัน และรับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย โครงการท่าเรือน้ำลึกชุมพร ท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (บ้านสวนกง) ยังคงมีเครือข่ายภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อวานที่ผ่านมา (3 มิ.ย.) ที่เทศบาลตำบลบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร กรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA เวทีระดับพื้นที่ เวทีที่ 1 โดยมี นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานการประชุม มีชาวบ้านในพื้นที่ และผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมประมาณ 150 คน และมีทหาร ตำรวจ คอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยจำนวนมาก
นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการท่าเรือชุมพร กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้กำหนดการศึกษาไว้ 5 บทบาท ได้แก่ บทบาทที่ 1.ท่าเรือสนับสนุนท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง มีความเป็นไปได้มาก บทบาทที่ 2.ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ มีความเป็นไปได้เหมือนกัน บทบาทที่ 3.ท่าเรือชายฝั่ง เชื่อมต่อระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน สินค้าที่มาจากแหลมฉบัง ไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู มีความเป็นไปได้ บทบาทที่ 4.ท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศ ไม่ต้องเชื่อมต่อกับแหลมฉบัง มีความเป็นไปได้ บทบาทที่ 5.รวมบทบาทตั้งแต่ ข้อ 2 ถึง ข้อ 4 มีความเป็นไปได้เช่นกัน ในเบื้องต้น เรือที่จะขนส่งสินค้าเข้ามามีขนาด 12,000 ตันกรอส บรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ 500-700 ตู้ กินน้ำลึกประมาณ 8 เมตร เราอาจจะขุดร่องน้ำประมาณ 10 เมตร
ด้านนายสมโชค พันธุรัตน์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบางสน กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องวิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน คนที่นี่ส่วนใหญ่ทำประมง เป็นห่วงเรื่องกระแสน้ำของอ่าวบางสน เพราะที่นี่เป็นกระแสน้ำวนที่พัดเอาระบบห่วงโซ่อาหารเข้ามา พื้นที่ที่นี่สามารถทำอาชีพประมงได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะหน้ามรสุม หรือหน้าปกติ
“ความมั่นคงทางอาหารของอ่าวบางสน เป็นที่ 1 ของจังหวัดชุมพร เมื่อเกิดการสร้างท่าเรือ หรือสร้างแนวกันคลื่นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตต่อชุมชน”
นายอดิศักดิ์ สุขมากผล ตัวแทนกลุ่มบางสนรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวบางสนไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก เวทีรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA หรือ ค.1 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนแก่ชุมชน จนถึงวันนี้มีการจัดการประชุมในระดับพื้นที่ ซึ่งทางกรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษาไม่ยอมรับว่าเป็นเวที ค.2 เนื้อหาสาระในเวทีไม่ต่างจากเวที ค.1 ที่ผ่านมา อีกทั้งเอกสารประกอบการประชุม และนิทรรศการที่จัดแสดงไม่ตรงต่อการให้ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งชาวบ้านคิดว่าเป็นการดูถูกคนชุมพรมากเกินไป
“กรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษาไม่สามารถตอบข้อห่วงกังวลของชาวบ้านในชุมชนได้เลย พื้นที่หน้าท่า และหลังท่าที่จะใช้เท่าไหร่ ขุดร่องน้ำเท่าไหร่ แนวกันคลื่นขนาดไหน จะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบต่อหญ้าทะเล และแหล่งปะการังได้หรือไม่ ชาวประมงจะได้ประโยชน์หรือไม่ จะสามารถทำประมงในเขตท่าเรือได้อีกไหม จะมีผลกระทบต่อกระแสน้ำอย่างไร จะมีปัญหาเรื่องตะกอน และการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุจะแก้ปัญหาอย่างไร ชาวบ้านจะสามารถตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งได้ไหม จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีการขนส่งสินค้าอันตราย หลังจากสร้างท่าเรือแล้วจะเกิดโรงงานอุตสาหกรรมตามมาอีกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่คนบางสนอยากได้คำตอบที่จริงใจ ไม่มาหลอกลวงกัน” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นในเวทีประมาณ 20 คน โดยส่วนใหญ่มีการแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการ โดยมีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ และอาชีพประมง ตลอดจนข้อมูลโครงการที่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA หรือ ค.1เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการ จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.อ่าวบางสน ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร 2.แหลมคอกวาง (อ่าวพนังตัก) ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร และ 3.อ่าวห้วยน้ำ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร โดยในวันนี้ (4 มิ.ย.) จะมีการจัดเวทีระดับพื้นที่อีก 2 เวทีในพื้นที่เป้าหมาย อีก 2 พื้นที่ คือ แหลมคอกวาง และอ่าวห้วยน้ำ
*** ชาวสงขลา-สตูล จี้นายกฯ ทบทวนท่าเรือน้ำลึก กระทบชุมชน
ขณะที่เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรสงขลา-สตูล จ.สงขลา ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า การกำหนดนโยบายโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล รถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมสองฝั่งทะเล อันดามัน และอ่าวไทย และอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเคมี ภายใต้ชื่อสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ที่มีความเชื่อว่าการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประเทศชาติมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยความห่วงใย และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของท่าน หากไม่ฟังความรอบด้าน ไม่มีกลไกในการนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแน่นอน
โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ไม่ใช่เพียงรัฐบาลท่านเป็นรัฐบาลแรกที่ผลักดัน และนักการเมืองทุกรัฐบาลล้วนผลักดันโครงการโดยอ้างความเจริญ เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ ประชาชนจะมีงานทำ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลทำไม่ได้เพราะไม่สามารถตอบปัญหาสำคัญๆ ของประชาชนในประเทศได้ เช่น ความคุ้มค่า ความเหมาะสมที่ดำเนินโครงการ และที่สำคัญเสียงสะท้อนของนักวิชาการ และนักธุรกิจด้านลอจิสติกส์ระดับประเทศกลับมองว่า ต้นทุนค่าขนส่งสูง หากใช้บริการจากโครงการดังกล่าว
การตอบคำถามไม่ได้พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้ง 2 จังหวัด เช่น อุทยานหมู่เกาะเภตรา แหล่งผลิตอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับพันล้านบาททั่วประเทศทั่วโลกมาเที่ยว และแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของ 2 ฝั่งทะเล ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลา สตูล แล้วยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ จากศักยภาพดังกล่าวสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท หากมีการส่งเสริม การดูแลเหมือนอุตสาหกรรม ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในประเทศได้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน มิใช่แค่นักลงทุนบางกลุ่มอย่างแน่นอน
การพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เป็นการทำลายจิตใจของคนสงขลา สตูล ทำลายหลักการเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะต้องสูญเสียแหล่งผลิตอาหารสองฝั่งทะเล ซึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชุมชนแหล่งโปรตีนที่ทุกคนเข้าถึงได้
เราจะต้องสูญเสียทรัพยากรมากมาย เช่น การระเบิดภูเขาเพื่อมาถมทะเล การดูดทราย เกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง สูญเสียทรัพยากรป่าไม้จากการทำเขื่อน เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เราจะต้องสูญเสียแหล่งผลิตนกเขาชวาเสียงของอาเซียน ซึ่งระดับอาเซียนยอมรับว่า สงขลาเป็นเมืองหลวงนกเขาแห่งอาเซียน เกิดมลพิษ ทำลายสุขภาพจิต สุขภาพกายของคนในชุมชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลที่ผ่านมาจึงดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้ การประกาศที่จะดำเนินโครงการของนายกรัฐมนตรี โดยขาดการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่เข้าใจคุณค่า และฐานทรัพยากรของแผ่นดิน เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าว และรับฟังความคิดเห็น รับฟังข้อมูลทั้งภาควิชาการ และภาคประชาชน เปิดโอกาสให้กแก่ประชาชนทั้ง 2 จังหวัด ได้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และภูมิปัญญาของชุมชนได้
สร้างกลไกขับเคลื่อนพัฒนาในระดับจังหวัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย จากข้อเสนอดังกล่าวพวกเรามีเจตนาที่จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้า เพื่อจะทำให้เกิดความสุข ความเจริญอย่างยั่งยืนในสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 3 แห่ง เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาภาคใต้ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการ โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของศูนย์กลางพลังงานโลก และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะตามมาในอนาคต โดยพบว่ามีการกันพื้นที่สำหรับสร้างนิคมอุตสาหกรรมไว้แล้วเป็นเนื้อที่หลายแสนไร่ทั้งใน จ.สงขลา จ.สตูล และ จ.ชุมพร ทำให้ชาวบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นแหลบ่งประกอบอาชีพท่องเที่ยว ประมง และเกษตรกรรม คัดค้านโครงการ เพราะคาดการณ์ว่า จะเกิดผลกระทบตามมาหลายด้านในอนาคต