xs
xsm
sm
md
lg

“แก้ปัญหาประมงอย่าทำแบบลวกๆ” แนะ “บิ๊กตู่” เอาอย่าง “อินโดฯ” เลิกอวนลากฟื้นทะเลไทยทำได้ชาติเจริญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย แนะสังคมต้องเข้าใจว่าไทยโดนใบเหลืองจาก EU ทำให้ส่งออกสินค้าประมงไทยมีปัญหา ไม่ได้มีสาเหตุมาจาการที่มีรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร แต่เป็นผลมาจากความหย่อนยานและไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งสั่งสมมานานหลายยุค แนะนายกฯ เอาอย่างประเทศอินโดฯ ออกกฎยกเลิกเรืออวนทุกชนิด ยุติปัญหาเรือเถื่อน แรงงานเถื่อน รอดพ้นการกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ และสามารถฟื้นฟูท้องทะเลได้ เชื่อหากแก้แบบลวกๆ ปัญหาไม่มีวันจบ

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ถึงกรณีที่สหภาพยุโรป หรือ EU ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย หลังจากไม่สามารถควบคุมการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ได้ ซึ่งนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า EU ซึ่งมีบทบาทในทางเศรษฐกิจสูงเพราะเขามีอำนาจซื้อสูง มีสมาชิก 28 ประเทศ ที่มีกรอบกฎกติกาในการทำการค้าที่พยายามรักษาความชอบธรรมในสังคม

“มีบางคนเข้าใจว่ากรณีที่อียูให้ใบเหลืองกรณี IUU ว่า เป็นเพราะรัฐบาลเรามาจากการปฏิวัติรัฐประหาร จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะเรื่องนี้อียูตามมากว่า 3 ปีแล้ว เพราะเขาประเมินว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใหญ่ และแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของความมั่นคงทางอาหารทะเล”

นายบรรจง กล่าวว่า วิกฤตทะเลไทยเกิดขึ้นมายาวนานแล้ว ทั้งๆ ที่เรามีทะเลที่เหมาะสมที่สุดเพราะประเทศอยู่ในเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีชายฝั่งยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ไม่รวมเกาะแก่งอีกจำนวนมากความผิดพลาดเกิดขึ้นในการบริหารจัดการทะเลมีหลายสาเหตุ เช่น เราขาดการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องต่อมาตรการในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู

“เรายังปล่อยให้มีการทำการประมงแบบทำลายล้าง อย่างอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟทำการประมงอยู่ได้ เคยมีความพยายามจากนักวิชาการกรมประมงที่เสนอว่า ปัญหาทะเลไทยเสื่อมโทรมมากเกินไปแล้ว ได้เสนอมาตรการหยุดอวนลากโดยงดการต่อทะเบียน และออกอาญาบัตรให้แก่เรืออวนลาก ซึ่งเป็นข้อเสนอที่นุ่มนวลที่สุด เพราะคนที่มีเรืออวนลากอยู่ในตอนนี้ก็ทำต่อไปได้ แต่ในทางวิชาการอายุเรืออวนลากจะไม่เกิน 12 ปี หากยึดตามนั้นป่นนี้ทะเลไทยปลอดเรืออวนลาก ตัวทำลายพันธุ์สัตว์น้ำไปนานแล้ว”

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวและว่า แต่เพราะความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำสูงมากๆ การสร้างเรือเพิ่ม การสวมทะเบียนเรือจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และนักการเมืองก็นิรโทษให้เรือเหล่านั้นกลับมาถูกต้องตามกฎหมายอีก

“วันนี้ประเทศเรานิรโทษเรืออวนลากมาแล้ว 5 ครั้ง นี่คือความวิบัติของทะเลไทย นี่ก็ได้ข่าวว่านายกฯ จะใช้ ม.44 ให้ขึ้นทะเบียนอีกซึ่งก็คือ การนิโทษกรรมนั่นเอง เพียงเพื่อทำให้เรือเถื่อน เรือผิดกฎหมายให้กลับมาถูกกฎหมายเท่านั้น เพื่อตอบสนองมาตรการ IUU แต่ไม่คำนึงถึงความวิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อทะเลแหล่งอาหารของสังคมแม้แต่นิดเดียว ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอียูเขาจะยอมรับมาตรการเช่นนี้ไหมนะ”
 
บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
นายบรรจง กล่าวว่า หากเราเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย เขาเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่าเราหลายเท่า ในขณะเดียวกัน เขาเป็นประเทศที่มีเกาะแก่งในทะเลมากที่สุดทำให้ประเทศเขามีทรัพยากรสัตว์น้ำมากที่สุดในเอเชีย การที่เขาไม่โดนใบเหลืองจากอียูเพราะรัฐบาลอินโดฯ มองไปข้างหน้าเพื่อคนส่วนใหญ่

“ในกรณีอวนลากซึ่งเป็นตัวทำลาย เขาใช้มาตรการประกาศยกเลิกห้ามทำอวนลากทุกชนิดไปเมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา ขอย้ำว่า อวนลากทุกชนิด อียูก็เห็นความจริงใจของรัฐบาลอินโดฯ ว่าทำจริงไม่ใช่ทำแบบผักชีโรยหน้า หรือไม่ดูเจตนาที่แท้จริงของมาตรการ IUU อย่างที่รัฐบาลเรากำลังทำ

และเชื่อว่าอีกไปเกิน 1 ปีต่อจากนี้ไป อินโดฯ จะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในเอเชียแน่นอน ประชาชนในชาติของเขาก็จะมีแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติคือทะเลที่ยั่งยืน

“หากนายกฯ คิดว่านี่คือโอกาสทั้งในแง่ใช้โอกาสนี้ทำความสะอาดทะเลไทยเสียที โอกาสนี้เหมาะที่สุด ม.44 ที่ท่านจะใช้ จึงควรนำมาใช้เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูทะเลไทยก็ทำแบบที่อินโดฯ เลย แต่ให้ก้าวหน้ากว่าอินโดฯ ก็ได้ คือเราหยุดเครื่องมือทำลายล้างสำคัญๆ 3 ชนิดคืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ เสียเลย ในขณะเดียวกัน ก็หามาตรการเยียวยาอย่างชอบธรรมและตรงไปตรงมาต่อผู้ทำการประมงเหล่านั้น ผมคิดว่าท่านจะสร้างคุณูปการให้แก่สังคมไทยที่ยากจะหาอะไรมาเปรียบเทียบ แต่ในทางตรงกันข้าม หากท่านคิดง่ายๆ ทำลวกๆ เอา ม.44 มานิรโทษกรรมเรืออวนลากให้ทำการประมงได้ต่อไป ทะเลไทยก็จะย่อยยับ ท่านก็จะถูกประณามตลอดไป” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

อ่านประกาศกฎกระทรวงกิจการประมงและทะเลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สั่งห้ามใช้เครื่องมืออวนลากแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เวอร์ชันภาษาไทย และภาษาอังกฤษจากรูปด้านล่าง
 














 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น