xs
xsm
sm
md
lg

สปช.อัดการเมืองฮั้วทุนใหญ่ ทำลายระบบค้าไทยย่อยยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1เม.ย.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการพิจารณา รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ ในประเด็นการผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม ปฏิรูปภาคเกษตร การสร้างสังคมผู้ประกอบการ โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ กล่าวว่า ในส่วนแรกการผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งไทยมีกฎหมายแข่งขันการค้าครั้งแรก ปี 2542 ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า หากกิจกรรมที่มีการผู้ขาดจะเป็นที่มาของคอร์รัปชัน แม้จะมีกฎหมายทางการแข่งขันทางการค้า แต่ก็ไม่อาจบังคับใช้ได้จริงในช่วงที่ผ่านมา
โดยข้อเสนอคือ กำหนดนิยาม "ผู้ประกอบธุรกิจ" ให้รวมถึงธุรกิจในเครือเพื่อให้เกิดความครอบคลุมกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติในเรื่องต่างๆให้ชัดเจนครบถ้วน มีสภาพบังคับตามกฎหมาย และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน อีกทั้งยังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจเป็นทางการค้าปกติแข่งขันกับเอกชน อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมนโยบาย หรือมาตรการของรัฐ ที่ลด หรือจำกัดการแข่งขันและพฤติกรรมไม่เป็นธรรมที่ส่งผลต่อผู้บริโภค ตลอดจนให้มีอำนาจการบังคับใช้นอกราชอาณาจักร หรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และปรับโครงสร้างคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้ปลอดจากการครอบงำทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช. กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆที่มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า แต่กลับไม่สามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้จริง เทียบกับอินโดนีเซีย ที่เริ่มจากเจ้าหน้าที่ 40 คน ปัจจุบันมี 400 คน งบประมาณ 400 ล้านบาท แต่ไทยมีสำนักงานอยู่ในกรมการค้าภายใน เจ้าหน้าที่ 20 กว่าคน งบประมาณ 2-3 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องเข้ามา 94 เรื่อง แต่ไม่มีเรื่องใดสำเร็จ ทั้งที่กฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายที่ดี เขียนเรื่องป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวม การฮั้ว การกีดกันซื้อสินค้า หรือกระทำใดๆ ที่ขัดต่อการค้าเสรีเป็นธรรม ซึ่งไม่มีคำนิยามว่า เรื่องไหนที่เข้าข่ายบาง ดังนั้นหากไม่มีการบังคับใช้ สภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการค้าเป็นธรรม ก็จะไม่เกิด ก็จะกระทบกับการลงทุน
ดังนั้น เห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการมีกรรมการที่เป็นอิสระ มีรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นอิสระปราศจากการเมือง และต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการแข่งขัน ไม่ใช่ตรวจจับเพียงอย่างเดียว และเพิ่มนิยามที่เป็นข้อสงสัยในช่วงที่ผ่านมาให้ชัดเจน ต้องกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อทำให้ประเทศก้าวสู่ "เทรดดิ้งเนชั่น" อย่างที่ตั้งเป้าหมายให้ได้ และหาก แก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้ เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจการค้าบริการโตขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. กล่าวว่า ปัญหาของกฎหมายนี้ อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และเกี่ยวข้องกับ 3 ประสานอันตราย คือ การเมือง ธุรกิจผูกขาด และข้าราชการ ทั้งที่อยู่ในหน้าที่ และเกษียณอายุ อีกทั้งต้องยอมรับว่ากลุ่มการเมืองได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ร่วมกันฮั้วไม่บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ 16 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยบังคับใช้กฎหมายได้เลย เมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้เอสเอ็มอีเสียหาย โชว์ห่วยย่อยยับ เช่นเดียวกับข้าราชการที่ไม่กล้าเอาผิด เพราะข้าราชการส่วนหนึ่งที่เกษียณอายุราชการ ก็ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัทเหล่านี้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้ อีกด้านหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือ ธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องแก้ไข 3 ประสานอันตราย จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมาย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ฝ่าย คือ การเมือง ธุรกิจ ข้าราชการ อีกทั้งยังพบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ข้างหลังพรรคการเมือง โดยกฎหมายฉบับนี้มีจุดอ่อนคือ ประธานคณะกรรมการตามกฎหมายเป็นรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง ปัญหาถัดมาคือ ข้าราชการไม่มีความกล้าหาญ
" ส่วนข้อเสนอเรื่องทำให้คณะกรรมการตามกฎหมายเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์ บทเรียนที่ผ่านมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 พบว่า มีการแทรกแซงองค์กรอิสระอยู่ดี จึงต้องตั้งคำถามว่า นอกจากจะแก้กฎหมายแล้วจะแก้ไขเรื่องการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะธุรกิจผูกขาด ทุนใหญ่ที่อยู่หลังพรรคการเมือง บางคนแอบอยู่หลายพรรคการเมือง บางคนเข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง หวังเอาประโยชน์ จากการผูกขาดธุรกิจ"
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สปช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ เพราะหลังการบังคับใช้กฎหมายนี้ รอบ 16 ปี มีเรื่องร้องเรียน เฉลี่ยปีละ 2 เรื่อง อีกทั้ง สนับสนุนแก้ไขกฎหมาย ให้กฎหมายนี้บังคับใช้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ จากที่เคยลงไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนของ สปช. พบตัวอย่างว่า ร้านขายข้าวผัด จ.สมุทรสงคราม ต้องปิดตัวเพราะสู้ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่เจ้าของร้านค้า ข้าวผัด อาหารตามสั่ง แต่ยังกระทบความมั่นคงทางอาหาร เพราะกระบวนการผลิตของร้านสะดวกซื้อ มีเจ้าเดียวผลิต แต่ร้านค้าทั่วไปมีการผลิตที่หลากหลาย นี่คือสิ่งที่จะเป็นปัญหา จากการผูกขาด
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปล่อยให้มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ค้าทั้งขายปลีกและส่ง มีเฮ้าส์แบรนด์ของตัวเอง เป็นการทำลายธุรกิจของไทยทั้งหมด เพราะหากสินค้าไหนขายดี ห้างเหล่านั้นก็จะทำเฮาส์แบรนด์ของตนเอง ซึ่งกฎหมายในต่างประเทศไม่มีทางยอมให้มีลักษณะแบบนี้ ที่ควบรวมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้ายังไม่มีการคิดจริงจังว่า จะสกัดกั้นการผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่นี้อย่างไร เพราะรัฐเองก็ส่งเสริมให้มีการผูกขาดด้วย โดยเฉพาะแนวคิดที่จะเปิดให้มีการขายหวยออนไลน์ในห้างสะดวกซื้อ หรือการแก้ปัญหาผูกขาดล็อตเตอรี่ของ 5 เสือ ก็ให้ปล่อยให้มีการผูกขาดโดยเจ้าใหญ่เจ้าเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องคิดอย่างจริงจัง จะปล่อยให้สภาพเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ สมัยก่อนร้านโชห่วย สามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาได้ทั้งครอบครัว แต่เวลานี้ร้านโชห่วยตายหมด เพราะเราปล่อยให้ห้างเหล่านี้กระจายเข้าไปทุกพื้นที่ ทำไมไม่จัดโซนนิ่งว่าในแต่ละพื้นที่ ควรมีห้างแบบนี้ไม่เกินเท่าไหร่ และไม่ควรรุกเข้าไปในชุมชนที่ชาวบ้านทำมาหากินอยู่
" คณะกรรมาธิการควรจะคิดปฏิรูปสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง หากฐานไม่เข้มแข็ง จะไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านั้นได้ และที่เราพูดกันถึงการค้าเสรี ก็จะต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่" น.ส.รสนา ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น