xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รุมสับกลุ่มการเมือง ปล่อยทุนใหญ่ทำลายระบบการค้าไทย จี้จัดโซนนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
สปช.ประชุมพิจารณารายงานปมการแข่งขันการค้าเป็นธรรม กมธ. ชี้ กม.ใช้ไม่ได้จริง แนะกำหนดนิยาม ผู้ประกอบธุรกิจ บทลงโทษให้ชัด ปรับโครงสร้าง กก. เน้นอิสระปลอดการเมืองเตรียมก้าวสู่เทรดดิงเนชัน สปช.ดาหน้าสับกลุ่มการเมืองปล่อยทุนขนาดใหญ่ทำลายระบบค้าไทยย่อยยับ “รสนา” แนะจัดโซนนิ่งร้านค้าปลีกก่อนโชวห่วยสูญพันธุ์

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ ในประเด็นการผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม ปฏิรูปภาคเกษตร การสร้างสังคมผู้ประกอบการ โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ กล่าวว่า ในส่วนแรก การผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรมซึ่งไทยมีกฎหมายแข่งขันการค้าครั้งแรก ปี 2542 ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหากกิจกรรมที่มีการผู้ขาดจะเป็นที่มาของคอร์รัปชัน แม้จะมีกฎหมายทางการแข่งขันทางการค้า แต่ก็ไม่อาจบังคับใช้ได้จริงในช่วงที่ผ่านมา

โดยข้อเสนอ คือ กำหนดนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้รวมถึงธุรกิจในเครือเพื่อให้เกิดความครอบคลุม กำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนครบถ้วน มีสภาพบังคับตามกฎหมายและมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน อีกทั้งยังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจเป็นทางการค้าปกติแข่งขันกับเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมนโยบายหรือมาตรการของรัฐที่ลดหรือจำกัดการแข่งขันและพฤติกรรมไม่เป็นธรรมที่ส่งผลต่อผู้บริโภค ตลอดจนให้มีอำนาจการบังคับใช้นอกราชอาณาจักร หรือ สิทธิสภาพนอกอนาเขต และปรับโครงสร้างคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้ปลอดจากการครอบงำทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช.กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า แต่กลับไม่สามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้จริง เทียบกับอินโดนีเซีย ที่เริ่มจากเจ้าหน้าที่ 40 คนปัจจุบันมี 400 คนงบประมาณ 400 ล้านบาท แต่ไทยมีสำนักงานอยู่ในกรมการค้าภายในเจ้าหน้าที่ 20 กว่าคน งบประมาณ 2-3 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องเข้ามา 94 เรื่องแต่ไม่มีเรื่องใดสำเร็จ ทั้งที่ กฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายที่ดีเขียนเรื่องป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวม การฮั้ว การกีดกันซื้อสินค้า หรือกระทำใดๆ ที่ขัดต่อการค้าเสรีเป็นธรรม ซึ่งไม่มีคำนิยามว่าเรื่องไหนที่เข้าข่ายบ้าง ดังนั้น หากไม่มีการบังคับใช้ สภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการค้าเป็นธรรมก็จะไม่เกิด ก็จะกระทบต่อการลงทุน

ดังนั้น เห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะ การมีกรรมการที่เป็นอิสระ มีรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นอิสระปราศจากการเมือง และต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการแข่งขัน ไม่ใช่ตรวจจับเพียงอย่างเดียว และเพิ่มนิยามที่เป็นข้อสงสัยในช่วงที่ผ่านมาให้ชัดเจน ต้องกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อทำให้ประเทศก้าวสู่ “เทรดดิงเนชัน” อย่างที่ตั้งเป้าหมายให้ได้ และหากแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจการค้าบริการโตขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.กล่าวว่า ปัญหาของกฎหมายนี้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และเกี่ยวข้องกับสามประสานอันตราย คือ การเมือง ธุรกิจผูกขาด และข้าราชการ ทั้งที่อยู่ในหน้าที่และเกษียณอายุ อีกทั้งต้องยอมรับว่ากลุ่มการเมืองได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทขนาดใหญ่ทำให้ร่วมกันฮั้วไม่บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ 16 ปีที่ผ่านมาไม่เคยบังคับใช้กฎหมายได้เลย ที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เอสเอ็มอีเสียหาย โชวห่วยย่อยยับ เช่นเดียวกับข้าราชการที่ไม่กล้าเอาผิด เพราะข้าราชการส่วนหนึ่งที่เกษียณอายุราชการก็ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา, กรรมการบริษัทเหล่านี้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้ อีกด้านหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือ ธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขสามประสานอันตรายที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมาย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ฝ่าย คือ การเมือง ธุรกิจ ข้าราชการ อีกทั้งยังพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ข้างหลังพรรคการเมือง โดยกฎหมายฉบับนี้มีจุดอ่อน คือ ประธานคณะกรรมการตามกฎหมายเป็นรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง ปัญหาถัดมาคือ ข้าราชการไม่มีความกล้าหาญ

“ส่วนข้อเสนอเรื่องทำให้คณะกรรมการตามกฎหมายเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์ บทเรียนที่ผ่านมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 พบว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระอยู่ดี จึงต้องตั้งคำถามว่านอกจากจะแก้กฎหมายแล้วจะแก้ไขเรื่องการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะธุรกิจผูกขาดทุนใหญ่อยู่หลังพรรคการเมือง บางคนแอบอยู่หลายพรรคการเมือง บางคนเข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง หวังเอาประโยชน์จากการผูกขาดธุรกิจ”

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สปช.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้ เพราะหลังการบังคับใช้กฎหมายนี้ รอบ 16 ปีมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก อีกทั้งสนับสนุน แก้ไขกฎหมายให้กฎหมายนี้บังคับใช้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ จากที่เคยลงไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนของ สปช.พบตัวอย่างว่า ร้านขายข้าวผัด จ.สมุทรสงครามต้องปิดตัวเพราะสู้ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่เจ้าของร้านค้า ข้าวผัด อาหารตามสั่ง แต่ยังกระทบมั่นคงทางอาหาร เพราะกระบวนการผลิตของร้านสะดวกซื้อมีเจ้าเดียวผลิต แต่ร้านค้าทั่วไปมีการผลิตที่หลากหลาย นี่คือสิ่งที่จะเป็นปัญหา จากการผูกขาด

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปล่อยให้มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ค้าทั้งขายปลีกและส่ง มีเฮาส์แบรนด์ของตัวเอง เป็นการทำลายธุรกิจของไทยทั้งหมด เพราะหากสินค้าไหนขายดีห้างเหล่านั้นก็จะทำเฮาส์แบรนด์ของตนเอง ซึ่งกฎหมายในต่างประเทศไม่มีทางยอมให้มีลักษณะแบบนี้ที่ควบรวมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้ายังไม่มีการคิดจริงจังว่าจะสกัดกั้นการผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่นี้อย่างไรเพราะรัฐเองก็ส่งเสริมให้มีการผูกขาดด้วย โดยเฉพาะแนวคิดที่จะเปิดให้มีการขายหวยออนไลน์ในห้างสะดวกซื้อ หรือการแก้ปัญหาผูกขาดล็อตเตอรี่ของ 5 เสือ ก็ให้ปล่อยให้มีการผูกขาดโดยเจ้าใหญ่เจ้าเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องคิดอย่างจริงจังแล้วจะปล่อยให้สภาพเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ สมัยก่อนร้านโชวห่วยสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาได้ทั้งครอบครัว แต่เวลานี้ร้านโชวห่วยตายหมดเพราะเราปล่อยให้ห้างเหล่านี้กระจายเข้าไปทุกพื้นที่ ทำไมไม่จัดโซนนิ่งว่าในแต่ละพื้นที่ควรมีห้างแบบนี้ไม่เกินเท่าไหร่ และไม่ควรรุกเข้าไปในชุมชนที่ชาวบ้านทำมาหากินอยู่

“คณะกรรมาธิการฯ ควรจะคิดปฏิรูปสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง หากฐานไม่เข้มแข็งจะไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านั้นได้ และที่เราพูดกันถึงการค้าเสรี ก็จะต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่” น.ส.รสนาระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น