xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์-วิโดโด” เห็นพ้องตั้งคณะทำงานด้านประมงร่วมไทย-อินโดฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เห็นพ้องร่วมตั้งคณะทำงานด้านการประมง โดยไทยมอบ “ประวิตร-ธนะศักดิ์” เป็นหัวหน้าคณะ ประสานความร่วมมือแก้ปัญหา พร้อมวางแนวทางความร่วมมือระยะยาวต่อกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (23 เม.ย.) ณ Jakarta Convention Center (JCC) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายโจโค วิโดโด (Mr. Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Leaders Summit) ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ความร่วมมือกับอินโดนีเซียในการกำหนดวิสัยทัศน์ ความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการหารือว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในโอกาสครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งการประชุมเอเชีย-แอฟริกาในครั้งนี้ ไทยยืนยันที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียในการพัฒนาความสัมพันธ์รอบด้านในฐานะที่อินโดนีเซีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และไทยอันดับ 2 ของอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณอินโดนีเซียสำหรับการประสานงานและให้ความช่วยเหลือในการอพยพคนไทยออกจากเยเมนด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงาน Working Group ด้านการประมง อินโดนีเซียมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทะเลและประมงอินโดนีเซีย ขณะที่คณะทำงานฝ่ายไทยจะประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือนการแก้ไขปัญหาและวางแนวทางความร่วมมือในระยะยาวต่อกันซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาภาคประมงไทยในลักษณะองค์รวม ทั้งประเด็นแรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการทำประมงแบบ IUU และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงระหว่างไทยและอินโดนีเซียซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านประมง และหวังว่าจะมีการลงนามกันโดยเร็ว

สำหรับการพัฒนาการทางการเมืองของไทยนั้น รัฐบาลไทยกำลังดำเนินตามขั้นตอนที่ 2 ของโรดแมป โดยขอให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป เพื่อความเข้มแข็งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การประกาศการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า สะท้อนให้เห็นการกลับมาเป็นประชาธิปไตของไทยอย่างยั่งยืน

ส่วนการส่งเสริมความร่วมมือการค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรีย้ำว่าภาคเอกชนไทยมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย พร้อมที่จะขยายการลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าอินโดนีเซียจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนอินโดนีเซียขยายการลงทุนในไทยเพื่อเพิ่มพูนปริมาณการลงทุนระหว่างสองประเทศในภาพรวม ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนไทยเข้ามาลงทุนในลาขาต่างๆ เช่น อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว พลังงาน โดยมีศูนย์ One Stop Linciencing Service

ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งไทยได้ขอให้อินโดนีเซีย เร่งรัดจัดทำ MRA (Mutual Recognition Agreement) เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันมีความคล่องตัว โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดียังได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือพหุภาคีและภูมิภาคว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซีย เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
กำลังโหลดความคิดเห็น