“ประวิตร” แจงไม่ต้องใช้ ม.44 ตั้ง คกก.แจงไอยูยู เหตุนายกฯ มีอำนาจอยู่แล้ว “บิ๊กตั้ม ”ชี้สินค้าประมงไทยคุณภาพดี ต่างชาติเลยสกัดขา โบ้ยใช้แรงงานเถื่อน เชื่อแก้ได้ เผยใช้กำลังปกติตรวจทะเล เข้มแรงงานเถื่อน เชื่อไม่มีแล้วพร้อมแจงอียู มั่นใจไม่ถูกคว่ำบาตร ขอสื่อโหมข่าวแก้ปัญหาอยู่ แจงปรับ กม.เพิ่มโทษหนัก ยันใบเหลืองไม่เกี่ยวปัญหาการเมือง เล็งศึกษาชาติที่เคยโดน
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความจำเป็นที่จะใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการแจงไอยูยูให้ใบเหลืองไทยว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแล้ว โดยทางกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว เราไม่อยากพูดซ้ำ ตนจะคุยกับนายกรัฐมนตรีในการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจไปชี้แจงในเรื่องของการประมงของประเทศไทยว่าได้ดำเนินการอย่างไร แก้ไขอย่างไรตั้งแต่เป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งได้เลยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44
ด้าน พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงการเร่งแก้ไขปัญหาหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองเตือนไทยในการออกมาตรการ เพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดว่า ช่วงต้นเดือน พ.ค. ทางอียูจะส่งเจ้าหน้าที่มาดูเรื่องการทำประมงของไทย ทั้งนี้ สินค้าประมงของไทยถือว่ามีคุณภาพที่ดีซึ่งทางต่างประเทศพยายามปิดกั้นไม่ให้อาหารทะเลของเราส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยอ้างว่าเราใช้แรงงานเถื่อน ปัญหาตรงนี้ทางผู้ประกอบการเรือประมงต้องเข้ามาคุยกับทางภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม และเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากจะเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน
พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวอีกว่า ในส่วนของกองทัพเรือก็ใช้กำลังพลตามปกติในการตรวจตราดูแลบริเวณน่านทะเลไทย แต่ก็ได้มีการกำชับเรือที่ออกลาดตระเวนให้เข้าไปตรวจสอบลูกเรือประมงว่าเป็นแรงงานเถื่อนหรือไม่ กองทัพเรือได้ประชาสัมพันธ์แบบหลายภาษาทั้งภาษาพม่า และภาษากัมพูชา เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้แรงงานเข้าใจและรับทราบว่าได้รับเงินค่าจ้างแรงงานเต็มที่หรือไม่ เป็นการถูกบังคับมาใช้แรงงานหรือไม่ หากเจอเหตุการณ์ดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ก็จะจับกุมทันทีเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เชื่อว่าในตอนนี้คงไม่มีแล้ว และเราจะนำสิ่งนี้ไปตอบกับทางอียูว่าทางไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำความผิดก็จะส่งดำเนินคดีทันที
เมื่อถามว่าทางศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้มีการสะท้อนปัญหาหลักๆ ในการทำประมงและการลักลอบแรงงานผิดกฎหมายบ้างหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า ศรชล.เป็นองค์กรใหญ่ของเรื่องเศรษฐกิจของทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เรากำลังรอกฎหมายเพื่อรองรับให้เป็นองค์กรที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องงบประมาณ โดยภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านประมงเข้ามาร่วมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่กองทัพเรือ โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นหัวหน้า
เมื่อถามว่าจากการประเมินแล้วไทยจะไม่ถูกอียูคว่ำบาตรใช่หรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า ในมุมมองของตนเชื่อว่าไม่ถูกคว่ำบาตร ขอให้สื่อช่วยเขียนข่าวด้วยว่าเรากำลังแก้ไขปัญหาอยู่ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าใจปัญหานี้ดี โดยได้ตั้งคณะทำงานในภาพรวม ปัญหาคือเรือประมงต้องการผลประโยชน์มาก ปัญหาเรื่องแรงงาน และจำนวนเรือที่มากกว่าปกติ ซึ่งปัญหานี้สมาคมชาวประมงจะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ภาครัฐคืออำนวยการการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ส่วนกฎหมายเรื่องประมงเราก็ได้แก้ไขแล้วโดยมีการเพิ่มโทษใน พ.ร.บ.การทำประมง ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาขอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปเมื่อไม่นานมานี้ จากเดิมปรับผู้ประกอบการประมงผิดกฎหมายเพียงไม่กี่ล้านบาท แต่กฎหมายใหม่มีโทษสูงสุดปรับ 30 ล้านบาท ขณะนี้รอการประกาศออกมา ซึ่งอียูคงพิจารณาจากกฎหมายเก่า เราจะนำสิ่งที่เราแก้ไขไปแจ้งให้ทราบต่อไป
เมื่อถามว่าได้มองว่าการที่อียูให้ใบเหลืองครั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาการเมืองหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า คิดว่าไม่ เพราะเราได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานแล้ว และทางอียูก็แจ้งเรามาก่อนหน้านั้นว่าจะให้ใบเหลือง เพียงแต่ว่าการปฏิบัติของเราอาจจะไม่รวดเร็วพอ อย่างไรก็ตาม เราต้องไปศึกษาดูว่าประเทศที่ผ่านหรือถูกยกเลิกใบเหลืองไปแล้ว เช่นฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เราจะต้องดูว่าเขาทำอย่างไร เพื่อหาแนวทางในการตอบโจทย์อียูให้ได้ทั้งหมด พร้อมกับทำเป็นรูปธรรมให้เห็น