รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถกคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล เผยคาดเสนอโครงการเพิ่มรายได้ช่วงภัยแล้ง 1 ตำบล 1 ล้านได้ เม.ย.นี้ ส่วนอีก 9 เดือนคงเห็นผลส่งเสริมอาชีพ อ้างอียูแจกใบเหลืองประมงเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน ไม่เกี่ยวเหตุรัฐบาลมาจากทหาร พยายามแก้เป็นลำดับ ร่าง กม.ใหม่ก็ผ่าน สนช.แล้ว ส่วนแหล่งจับปลาก็หาวิธีแก้ต่อ คาดอีก 6 เดือนจะดีขึ้น ยันยังไม่ห้ามทำประมง แต่ไม่รู้ ม.44 จะเอาไปใช้ทำยังไง
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.45 น.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมี พ.อ.ณรงศักดิ์ ปานพิมพ์ ผู้แทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากทุกกระทรวงเข้าร่วมประชุม
โดยภายหลังการประชุม นายสุวพันธุ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาอยู่ในช่วงปลายและคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าโครงการเพิ่มรายได้ช่วงภัยแล้ง 1 ตำบล 1 ล้านบาท ได้ดำเนินการและอนุมัติงบประมาณส่วนนี้ไปแล้วกว่า 2 พันล้าน ทั้งนี้ได้มีการกำหนดให้เสนอโครงการภายในเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะต้องมีการติดตามการใช้งบประมาณดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ เองและในส่วนคณะกรรมการตรวจสอบประเมินผลภาครัฐอยู่แล้ว
นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการติดตามการดำเนินการด้านที่ดินทำกินที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้จัดหาพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยจัดหาคน และกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพ คาดว่าภายใน 9 เดือน นโยบายดังกล่าวจะเห็นผลได้มากขึ้น ส่วนการดำเนินการตามนโยบาย 11 ด้านก็มีการไปตามปกติ โดยในส่วนการใช้จ่ายงบประมาณขณะนี้มีการใช้จ่ายไปแล้วร้อยละ 53 ซึ่งไม่ตรงไปตามเป้าที่วางไว้ร้อยละ 55 อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณรายงานว่าในไตรมาสที่ 3 น่าจะมีการเบิกจ่ายดีขึ้น
นายสุวพันธุ์กล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงของไทย และให้เวลา 6 เดือน ในการปรับปรุงนโยบายด้านการแก้ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน แต่รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตระหนักและสั่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงานได้รายงานต่อที่ประชุมว่าเรื่องดังกล่าวมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นลำดับอยู่แล้ว แต่เงื่อนไขของอียูนั้นมีหลายมิติ ทั้งด้านกฎหมายที่ทางอียูยังมองว่ากฎหมายไทยยังมีโทษน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการร่างกฎหมายใหม่ในเรื่องการประมงที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ในขั้นตอนกราบบังคมทูลตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องรายงานแหล่งจับปลาที่ยังต้องแก้ไขต่อไป
นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า ในส่วน กขร.ได้มีการหารือและมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าประเด็นหลักที่อียูต้องการแก้ไขว่ามีส่วนใดบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระยะเวลา 6 เดือนนั้นจะสามารถปรับได้ดีขึ้น และจะมีการพิจารณาติดตามการดำเนินการเป็นรายเดือนต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการประกาศให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ มี พ.ร.บ.การปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ออกมาแล้ว และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนผลกระทบระหว่างที่มีการแจกใบเหลืองนั้น กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า สถานการณ์ประมงไทยยังมีการส่งออกเป็นลำดับต้นๆ และในช่วงนี้ก็ยังไม่มีการห้ามและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทั้งรัฐบาลและเอกชนต้องช่วยกัน ทั้งนี้เชื่อว่าการประกาศดังกล่าวเป็นคนละเรื่อง และไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาอียูก็มีการประกาศใบเหลืองให้มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่การเสนอคำสั่ง คสช.ตามอำนาจมาตรา 44 นั้น ตนไม่ทราบว่าจะนำไปใช้ในส่วนใด แต่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ และส่งผลกระทบสูง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย ดังนั้นมาตรการใดที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี รัฐบาลก็ต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ต้องใช้กฎหมายปกติก่อนและพิจารณาความจำเป็นต่อไป