“บิ๊กตู่” ประชุม สสว. ชี้ต้องกำหนดแนวทางช่วยเอสเอ็มอีให้ชัด แยกประเภทช่วยฟื้นฟู ต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด เผยปีหน้าเตรียมจัดงานขับเคลื่อนส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้มีคุณภาพ ย้ำไทยเป็นผู้นำป้องกันโรคระบาดมาตลอด ยันโรคเมอร์สควบคุมได้ รัฐบาลห่วงใยไม่อยากให้ตื่นตระหนก ชี้อยู่ที่ทุกคนขอให้ระวังตัว
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ครั้งที่ 2/2558 โดยมี พล.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า ในการแก้ปัญหาและสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้นจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลปัญหาให้ชัดเจนเพื่อรัฐจะได้กำหนดเป้าหมายแนวทางช่วยเหลือได้ชัดเจน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากรมีฝีมือครบถ้วน แต่ประสบปัญหาขาดเงินทุน ทั้งนี้เพื่อช่วยฟื้นฟูเอสเอ็มอีเหล่านั้นให้กลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง
สำหรับวาระการประชุมในวันนี้จะมีการเสนอและรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญปี 2558 เช่น โครงการศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร หรือ SME One-stop service และการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานการจัดงาน มหกรรมซื้อของไทยใช้ของดี ไทยแลนด์อินดัสตรี เอ็กซ์โป 2015 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-27 กันยายนนี้ รวมถึงรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน 4 เดือนแรก ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2558 และการประมาณการเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ปี 2558-2559 นอกจากนี้จะมีการรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าไปร่วมลงทุน
จากนั้นเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม สสว.ถือเป็นว่าเป็นการประชุมที่ได้น้ำได้เนื้อเพราะเราเริ่มมาตลอดในเรื่องการทำงานทุกรูปแบบ ปรับการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด จัดกลุ่ม สสว.ให้สามารถกำหนดว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร นำเอสเอ็มอีทั้งหมดเข้าสู่ระบบให้ได้ทั้งระบบภาษีและระบบนิติบุคคล โดยมีการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด รวมจำนวน 2,700,000 ราย และต้องมาดูว่ามีประเภทไหนบ้าง 1. ขยายไปต่างประเทศได้ไหม 2. จะขยายในประเทศได้หรือไม่ 3. ธุรกิจที่มีอยู่แต่ขาดเงินทุน ถ้าปล่อยต่อไปอาจจะล้มละลายหรือปิดตัวลงก็ต้องไปดู 4. คือกิจการที่ปิดไปแล้ว ในส่วนนี้มีความสำคัญเพราะอาจจะยังมีศักยภาพอยู่ แต่ที่ผ่านเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ไม่ดี ก็จะไปดูว่าอันไหนที่พอจะฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง จะได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการในเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เครื่องมือ ความทันสมัยใช้คนให้น้อยลง รวมถึงการบริหารจัดการทั้งหมดซึ่งเรื่องนี้ สสว.จะชี้แจงอีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับการจัดงานที่จะต้องทำให้โลกได้รับรู้ว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างปีนี้ จะมีการพบปะผู้ประกอบกับคู่ธุรกิจด้วยกันในเรื่องของ สสว. ทั้งในเรื่องของการผลิต การตลาดสิ่งเหล่านี้เรากำลังจะจัดอยู่ โดยองค์การค้าอุตสาหกรรมเข้าร่วม ในปีหน้าจะเป็นเรื่องการจัดระดับชาติ ปีนี้ประเทศมาเลเซียเป็นคนจัด ในปีหน้าเราจะจัดเองว่าเรามีอะไรบ้าง เราจะได้รู้ แต่ในระหว่างนี้ตนได้บอกว่าอยากให้มีการจัดงานในลักษณะนี้เพราะจะต้องขับเคลื่อนเอสเอ็มอีเราให้ได้ซึ่งเป็นส่วนหลักในการส่งออกของเรา วันนี้ถ้าเอสเอ็มอีเข้มแข็ง ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพมากขึ้น ราคาสูงขึ้นจึงจะกลับมาในเรื่องของรายได้และของจีดีพี เราก็ต้องเสริมเอสเอ็มอีไปด้วย อีกอันหนึ่งตนบอกว่าเราต้องมองในภาพของโซเชียลบิซิเนส คือ การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม อันนี้ตนจับใส่เข้าไปอีกอัน เอสเอ็มอีภาคเอกชนเราก็ดูแลไปแล้ว ตอนนี้เราก็จะดูแลภาคเกษตรกรรมด้วย คือเอาสหกรณ์ทางการเกษตร หรือรัฐวิสาหกิจชุมชนมาอยู่ตรงนี้ด้วย เพื่อจะหาเงินทุนให้เขา แล้วเขาก็จะนำมาประกอบการ แต่เป็นในลักษณะที่นำผลกำไรมาเพื่อแบ่งปัน โดยให้เขามีแหล่งที่จะไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ทำแทนพ่อค้าคนกลาง เขาจะได้สร้างของเขาเองเพื่อที่เขาจะเข้มแข็งขึ้นด้วย โดยมี 3 ช่องทาง 1. โซเชียลบิซิเนส 2. เอสเอ็มอี 3. ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นห่วงโซ่ต่อกันในวันหน้า วันนี้เราจะต้องสร้างความเข้มแข็งในทุกอัน ถ้าไม่เข้มแข็งเพียงพอก็ไปไม่ได้ เพราะจะทำให้ทั้งหมดต่ำลงทุกอัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษวันนี้ต้องชี้แจงอีกครั้งว่าเรามีศูนย์โอเอสเอส คือ ศูนย์ที่ให้วันสต็อปเซอร์วิสทำงานร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมรวมถึงช่องทางหารือร่วมกันกับเอสเอ็มอี เพราะฉะนั้นต่อไปเอสเอ็มอีจะมีช่องทางที่จะรวมกันมา เราจะได้สักทีไม่อย่างนั้นจะมาบอกว่าช่องทางไม่มี ไปธนาคารโดยตรงก็ไม่ได้ ก็เริ่มกันตรงนี้แล้ว เราเปิดช่องทางให้เขา เงินทุนตนได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ว่าขอให้ดูแลธุรกิจโซเชียลบิซิเนส และดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีกด้วย ส่วนหนึ่งรัฐก็จะมีมาตรการให้ แต่ปัญหาของเราคือเมื่อเราไป ธนาคารเขาจะดูเรื่องเอ็นพีแอลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็ให้ไม่ได้ รัฐก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร บางทีก็ต้องเข้าใจกันนะ ถ้าทุกคนบอกว่าต้องการเงินไปแล้วจะต้องได้เลยมันทำไม่ได้ ต้องแสดงให้เห็นว่าท่านเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง ต้องเริ่มจากไปขึ้นทะเบียน สสว. วันนี้รัฐตั้งศูนย์จดทะเบียนทางเว็บไซต์ ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างการทำงานก็ค่อยๆ เดินหน้าไป
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่พบโรคเมอร์สในประเทศไทยซึ่งสื่อต่างชาติให้ความสนใจว่า เราไม่สนใจหรือ ตนสนใจไปตั้งนานแล้ว ให้เตรียมการไปตั้งแต่ต้น เราเป็นผู้นำในการแก้ไข ป้องกันในเรื่องโรคระบาดร้ายแรงมาตลอด โรคไข้หวัดนก โรคซาร์สเราก็ทำ คราวที่แล้วก็เรื่องอีโบลา เราก็ได้รับคำชมเชย ตนได้บอกไปแล้วโรงพยาบาล 69 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดูเรื่องโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก วันนี้ก็ต้องมาดูเรื่องโรคเมอร์สด้วย วันนี้บุคลากร อุปกรณ์ เพียงพอหรือไม่ ที่กักกันโรคพอหรือไม่ตรงนี้มันถึงจะเรียบร้อยและสามารถจะเช็กได้ เพราะเราสร้างการรับรู้มาโดยตลอด โรคอะไรป้องกันตัวอย่างไร เช็กที่ไหน วันนี้พอเขามา เขารู้ตัวเข้าเองซึ่งโรงพยาบาลเอกชนมาเช็กโรคหัวใจ ทุกทีเขาก็มา แต่ครั้งนี้เขารู้สึกแปลกใจ โรงพยาบาลจึงแจ้งไปที่สาธารณสุข แล้วก็พาไปโรงพยาบาลบําราษนราดูร เรื่องนี้เราควบคุมได้ เราต้องสอบต่อไปว่าเขานั่งแท็กซี่มากี่คัน มีคนเกี่ยวข้องกี่คน แล้วตรวจสอบว่าขึ้นเครื่องบินมาจากไหน เครื่องบินลำนั้นมีใครบ้าง นี่คือสิ่งที่เราทำทั้งระบบอยู่แล้ว ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลให้ความห่วงใย แต่ที่ยังไม่อยากพูดไป เพราะอยู่ในห้วงของการกักกันโรค ยังตรวจสอบไม่พบ พอพบตอนเย็นก็รีบบอกเลย แต่ยังไม่อยากให้ตื่นตระหนก และเราก็ให้ความสำคัญถ้าใครสงสัยว่าโรคนี้มีอาการอย่างไร ก็ไปสถานที่เหล่านี้ เขารับทุกที่ ช่วยกันระมัดระวังด้วย มันไม่ได้ติดกันง่ายๆ
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะคุมได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มั่นใจหรือไม่มั่นใจ อยู่ที่ความร่วมมือ มาถามตนแบบนี้อีกแล้ว ตนสั่งได้ไหม ตนสั่งเชื้อโรคได้ไหม มันอยู่ที่ทุกคนซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องระมัดระวังตัวเองเมื่อรู้ หรือสงสัยก็ต้องมาหาหน่วยงานราชการ ตนสั่งเชื้อโรคไม่ได้